ทีมวิศวกรจาก “จอร์เจียเทค” วิทยาลัยในรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้ออกแบบหุ่นยนตร์สลอธสุดน่ารัก (SlothBot) หุ่นยนต์ที่จำลองการเคลื่อนไหวของสลอธ เพื่อเก็บข้อมูลพืชพันธุ์และเพื่อนสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์เมืองแอตแลนตา (Atlanta Botanical Garden) ในพื้นที่กว่า 75 ไร่
ชิ้นส่วนของเจ้าหุ่นยนต์สลอธตัวนี้นั้น ผลิตโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขนาดตัวประมาณ 3 ฟุต มีการติดตั้งกล้องสังเกตการณ์และอุปกรณ์ตรวจวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ แถมยังประหยัดพลังงานสามารถทำงานต่อเนื่องได้หลายเดือน
ซึ่งรูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ตัวนี้เอง ทีมวิศวกรก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่น่าทึ่งของเจ้าสลอธ ที่มันจะเคลื่อนที่ขยับร่างกายเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตจากเหล่าสัตว์นักล่าชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ชีวิตบนต้นไม้สูงและกินพืชเป็นอาหารได้ในระยะเวลานาน
โปรเจคพัฒนาหุ่นยนต์สลอธในครั้งนี้ ทางสถาบันได้รับการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันสัตว์ป่าชนิดที่ใกล้สูญพันธ์ในระบบนิเวศ
นอกจากนี้หากการพัฒนาหุ่นยนต์สลอธประสบความสำเร็จ อาจมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารที่ต้องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารได้เป็นระยะเวลายาวนานได้อีกด้วย
ที่มา : Georgia Tech, Thai PBS Sci & Tech