เชื่อว่าหลายท่านคงเคยพบว่า เวลาจะไปเดินเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ตามห้างสรรพสินค้าน้อยใหญ่ เรามักจะเจอสายวัดกระดาษเป็นตลับเมตรแบบง่ายๆ แจกหน้าทางเข้าเสม อๆ และหลายครั้งก็พบว่า สุดท้ายแล้วเราก็มักหยิบสายวัดมาม้วนๆ เล่นและก็ไม่ได้ใช้การมันจริงจังเท่าไหร่นัก เนื่องด้วยการเลือกสินค้าของเรานั้นจะเป็นเรื่องความถูกชะตาเสียมากกว่า
และหลายครั้งเหมือนกัน ที่เราก็มักจะเจอว่าสุดท้ายแล้วซื้อของไปแล้วมันจับใส่ในพื้นที่บ้านของเราไม่ลง หลวมไปบ้าง แคบไปบ้าง (ไม่ต้องเสียใจนะครับ T_T) เนื่องด้วยว่าบางครั้งเรานึกไม่ออกว่าจริงๆ แล้ว พื้นที่ในบ้านเรามันมีระยะเหลือให้วางอะไรได้นั่นเอง ดังนั้นการม้วนคืนตลับเมตรแจกฟรีที่เราได้มา แล้วลองกลับไปเริ่มต้นวัดระยะที่ว่างในบ้านที่มีเรามีเสียก่อน ด้วยชุดเลขระยะพื้นฐานที่เรานำมาฝากนี้ จะทำให้เราสามารถเตรียมตัวไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างมั่นใจและไม่ผิดพลาดนั่นเอง
1 – 30 cm. ความลึกชั้นหนังสือ
หากว่าคุณเป็นหนอนหนังสือและมีหนังสือสะสมมากมายทุกครั้งหลังสัปดาห์หนังสือ กระทั่งถึงจุดหนึ่งคุณก็จะพบว่า ชั้นวางหนังสือจะเป็นเฟอร์นิเจอร์สำคัญที่ต้องเลือกซื้อมาใช้นั่นเอง และถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าจะซื้อชั้นมาวางตรงไหนได้ ขอให้เพื่อนๆ จำเลข 30 cm. ไว้ให้ดี นี่คือระยะของความลึกมากสุดของสันหนังสือโดยทั่วไป แล้วเอาตลับเมตรวัดความลึกด้วยเลขนี้กับแนวยาวของห้องของเรา หากคุณมีระยะลึกนี้พอชั้นวางหนังสือที่มีขายทั่วไปก็จะวางได้พอดีครับ
2 – 40 cm. ความลึกเคาน์เตอร์บาร์
สำหรับคนที่กำลังเปิดร้านกาแฟแล้ว หนึ่งในพื้นที่นั่งจิบที่นิยมจัดแจงให้ลูกค้าก็คือ โต๊ะเคาน์เตอร์บาร์ หรือโต๊ะเล็กๆ ที่ไว้นั่งคนเดียวนั่นเอง และปัญหานึงที่มักเจอกันคือจิตนาการไม่ออกว่า จะว่าจะซื้อโต๊ะเคาน์เตอร์บาร์ไปวางไว้ตรงไหนหรือใช้พื้นที่ยังไง ขอให้เพื่อนๆ จำเลข 40 cm. ไว้ว่าระยะนี้ก็เพียงพอสำหรับให้โต๊ะบาร์เล็กๆ ที่วางแค่แก้วน้ำและโน๊ตบุ๊คแล้ว โดยเราควรพยายามกะพื้นที่วางโต๊ะบาร์เหล่านี้ตามแนวยาวของผนังด้านใดด้านนึงนะ
3 – 60 cm. ความลึกตู้เสื้อผ้า
หากโต๊ะและเก้าอี้นั้นจะสามารถกะระยะได้ด้วยสายตาแล้ว แต่สำหรับตู้เสื้อผ้าอาจจะไม่ใช่ เนื่องด้วยเป็นตู้ที่มักปิดทึบและไม่ค่อยมีใครสนใจ พอซื้อตู้เสื้อผ้าทีไรก็เป็นอันหาที่วางไม่ค่อยลงทุกที จนนับเป็นหนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ปราบเซียน
ระยะความลึกของตู้เสื้อผ้ามาตรฐานที่ต้องจำให้ขึ้นใจเลยก็คือ60 cm. หรือคือความกว้างไหล่ของเสื้อเรานั่นเอง ซึ่งความกว้าง 60 cm.จะค่อนข้างลึกมากเมื่อเทียบกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่น ดังนั้นเราควรเผื่อระยะวางตู้นี้ไว้บริเวณมุมอับของห้องเผื่อไว้ เพื่อไม่ให้เกิดพื้นที่เปล่าประโยชน์นั่นเอง
4 – 100 cm. ความลึกชุดโต๊ะและเก้าอี้ทำงาน
บางคนชอบแอบคิดว่าการจัดวางพื้นที่โต๊ะทำงานเป็นอะไรที่หมูๆ ที่จะแคบแค่ไหนในห้องนั้นก็เป็นโต๊ะทำงานของชั้นได้ ซึ่งสุดท้ายก็มักจะพบว่าพอใส่โต๊ะเก้าอี้ทำงานไปแล้ว ก็มักจะขาดๆ เกินๆ กว้างไปบ้าง หรือไม่ก็ขวางทางเดินอะไรไป
เลข 100 cm. คือระยะเผื่อของความลึกในการวางชุดโต๊ะและเก้าอี้ทำงานที่พอเพียงแล้ว ไม่ว่าจะเหยียดแขน เอนหลังดันเก้าอี้ออกจากโต๊ะ การเผื่อระยะลึกนี้ไว้ในห้องก่อนแล้ว ก็จะสามารถฟิตมุมทำงานของเราได้พอดี
5 – 120 cm. ความลึกในการวางเก้าอี้โซฟา
เฟอร์นิเจอร์ยอดนิยมของใครหลายๆ คน ก็มักจะคือเก้าอี้โซฟา หลายครั้งเมื่อเราจินตนาการมุมห้องนั่งเล่นในฝันด้วยโซฟาทีไร มันก็มักจะไม่ค่อยเหมือนในฝันเท่าไหร่ ระยะความลึกที่จะวางโซฟาได้อย่างมีพื้นที่ขาให้เหยียดสบายๆ ก็คือ 120 cm.เนื่องด้วยความลึกของตัวชุดเก้าอี้โซฟาส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ที่ 60-70 cm. อยู่แล้ว บวกกับระยะขาเหยียดอีกประมาณ 50 cm.ก็จะเป็นระยะรวม 120 cm. พอดีๆ สบายๆ ซึ่งหากคิดจะว่าโซฟาตรงมุมไหนในบ้านและยังไม่มั่นใจ ขอให้จำเลข 120 cm. ไว้ในใจให้ดีและเผื่อระยะรอโซฟาสวยๆ ไว้ได้เลย คอนเฟิร์ม..!