เคยเป็นไหม? อะไรที่อยากจำกลับลืม อะไรที่อยากลืมกลับจำ ช้าก่อน! วันนี้เราไม่ได้จะมาชวนดราม่าอะไร แต่ชวนทุกคนมาสำรวจตัวเองถึงอาการ “ขี้หลงขี้ลืม” ที่หลายคนเป็นและคงสงสัยกันว่าทำไมนะ เราว่าเราก็ยังไม่แก่ แต่ดันขี้หลงขี้ลืมเป็นคนแก่ซะได้ มาสำรวจตัวเองและแก้ไขอาการนี้ให้หายไปพร้อมๆ กันเถอะ! ทำไมเราถึงชอบหลงๆ ลืมๆ? อาการขี้ลืมที่ทุกคนเคยเจอ อาจเป็นการหลงลืมอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลืมปิดไฟ ลืมกุญแจบ้าน ลืมมือถือ ซึ่งถึงตรงนี้หลายคนอาจเข้าใจว่าเรากำลังส่อแววจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่เสมอไป ยังมีอีกหลายสาเหตุว่าทำไมคนรุ่นเราถึงหลงๆ ลืมๆ นั่นก็คือ การทานยาบางชนิด ในกลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ยากลุ่มนี้จะเข้าไปขัดการทำงานของสารสื่อประสาทด้านความจำ พบในยารักษาโรคภูมิแพ้ โรคประสาท โรคฉี่ไม่สะดวก โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต เป็นต้น เหนื่อยเกินไป แม้ว่าจะนอนครบ 8 ชั่วโมงแล้ว งีบหลับครั้งละ 6 นาทีเพื่อรีเฟรชสมองให้ตื่นแล้วแต่ก็ยังหลงๆ ลืมๆ อยู่ อาจเป็นเพราะว่าเราเหนื่อยเกินไป ส่งผลต่อความจำและสมองทำให้ขี้ลืมนั่นเอง! เครียด เมื่อเรากำลังอยู่ในภาวะเครียด ในระยะสั้นอาจเป็นแค่การหลงลืมบทสนทนาที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่นาที แต่หากเครียดสะสมอาจกระทบต่อสมองและทำให้อาการหลงลืมยิ่งแย่ลงไปอีก โรคซึมเศร้า อาการขี้หลงขี้ลืมอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เนื่องจากไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ รวมทั้งความปกติของสารในสมองที่มีผลต่อความจำและความคิดได้เช่นกัน ดื่มแอลกอฮอล์มากไป โดยแอลกอฮอล์จะไปทำลายความทรงจำระยะสั้น ทำให้เราจำอะไรไม่ค่อยได้ทั้งตอนเมาและหลังจากสร่างเมาแล้ว โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ ตับ และไต โรคเหล่านี้มีผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงสมองและความจำได้เหมือนกัน! ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ตามมาด้วยการไม่สามารถโฟกัสทั้งหมดพร้อมๆ กันได้ ไม่ออกกำลังกาย มีผลทางอ้อมคือทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้รับออกซิเจน สมองก็ได้รับออกซิเจนน้อยตามไปด้วย แก้ไขอาการขี้ลืมได้ยังไงบ้าง? จัดระเบียบของในบ้าน วางของให้เป็นที่โดยเฉพาะของสำคัญ เช่น กุญแจบ้าน กุญแจรถ เล่นเกมฝึกสมอง เช่น หมากรุก ครอสเวิร์ด เพื่อฝึกให้ตัวเองได้ใช้ความคิด จดบันทึก ถ้าจำไม่ได้ก็ให้จด! มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Indiana ในปี 2010 ระบุว่าสมองจะจดจำได้ดีขึ้นหากใช้การจดบันทึก มองหากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ร้องเพลง ฟังเพลง เพื่อช่วยลดความเครียด ไม่ทำหลายอย่างพร้อมกันจนสมองรับไม่ไหว โฟกัสหลายอย่างได้ แต่อย่าให้เกินลิมิตเกินไปนะ ถ้ามีโรคประจำตัว ควรดูแลให้ดี ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทานอาหารครบ 5 หมู่ เป็นอะไรง่ายๆ ที่เรามักจะหลงลืมกันไป อาหารในหมู่ผักผลไม้มักจะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความจำเสื่อมได้ ลด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากปกป้องความจำของเราแล้วยังเป็นการปกป้องร่างกายไม่ให้เกิดโรคอีกด้วย ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับออกซิเจน แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน 3 ชั่วโมง นอนหลับให้ได้ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน ลูปการนอนสม่ำเสมอ และนอนในที่ที่เหมาะสม ปรึกษาแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น จะได้รักษาอย่างทันท่วงที ที่มา : https://www.prevention.com/health/g20481667/why-youre-forgetful/ https://www.posttoday.com/life/life/518364 https://www.honestdocs.co/getting-better-sleep