Forex 3D คืออะไร? รู้จักกลไกอันตรายของแชร์ลูกโซ่ ⛓ จากกระแสแชร์ลูกโซ่ และประเด็นของนักแสดงสาวพิ้งกี้ สาวิกาที่ได้ตกเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องของคดียักษ์อย่าง Forex 3D ซึ่งมีผู้เสียหายครั้งนี้กว่า 9 พันคนและมีมูลค่าความเสียหายมหาศาลที่ไม่สามารถคืนได้ทั้งหมด ทำให้หลายๆ คน เกิดความกังวลใจถึงภัยใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้กับทั้งตนเองและคนใกล้ชิด Forex 3D คืออะไร ? มีที่มาที่ไปยังไง? และรูปแบบกลไกที่ใช้เป็นอย่างไร? มาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Forex ≠ Forex 3D โดย Forex (Foreign Exchange) เป็นตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีความผันผวนสูง ซึ่งในไทยยังไม่มีสถาบันที่รองรับการลงทุนประเภทนี้ ขณะที่ Forex 3D ในคดีนี้เป็นบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นกลโกงมิจฉาชีพ โดยใช้วิธีเชิญชวนให้ร่วมลงทุน และนำเงินไปเทรดใน Forex เมื่อได้กำไรก็นำมาแบ่งตามสัดส่วนที่การันตีผลตอบแทนทุกเดือน เพื่อสร้างความไว้วางใจ Forex 3D คืออะไร ? และจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นคดีใหญ่ทุกวันนี้ Forex 3D ก่อตั้งในช่วงปี 2558 โดย RMS Famelia ที่ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ การระดมทุนซื้อขายเงินต่างประเทศ เน้นการอ้างถึงการทำกำไร/ผลตอบแทนต่อเดือน และให้สมาชิกหาเพื่อนมาร่วมทีมโดยจะมีค่าคอมมิชชันเพิ่มให้ 5% ซึ่ง CEO ของ Forex 3D คือนายอภิรักษ์ โกฎธิ ที่เคยออกรายการทีวีในประเด็นการทำศัลยกรรมในวัย 17 ปี และเคยปรากฏตัวในฐานะนักธุรกิจ RKK Auto Group และในดีตเขายังเคยรับจ้างแฮกข้อมูลจนถูกจับมาแล้ว จนมาพบกับอีกหนึ่งแกนนำของโครงการแชร์เป็นพี่ชายของนักแสดงสาวพิ้งกี้ สาวิกา เริ่มธุรกิจลูกโซ่ภายใต้หน้ากากโดยเน้นทำความรู้จักกับคนในวงการ ชวนลงทุนต่อๆกันมา กลายเป็นวงแชร์ลูกโซ่ที่มีมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว 💥 กล่าวโดยสรุปคือกลไกแชร์ของคดีนี้ (ซึ่งก็เป็นลักษณะใกล้เคียงกับคดีอื่นๆ) เริ่มต้นที่ชักชวนลงทุน อ้างผลตอบแทนสูง 10-15% ทุกเดือน แนะนำคนรู้จักเข้ามา ได้ผลตอบแทนเพิ่ม 5% ของเงินปันผล สมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเงินลงทุนที่มีมูลค่าสูง จ่ายเงินช้า/ไม่จ่าย มีผู้เสียหายมหาศาล ก่อนหน้านี้ในปี 2562 ได้เกิดกรณีชื่อดังที่คล้ายๆ กันของไทย กับ “แชร์แม่มณี” ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,300 ล้านบาท จากภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของแม่ข่ายอย่าง วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือ เดียร์ เน็ตไอดอล และแม่ค้าขายตุ๊กตาออนไลน์ ที่อ้างว่าจะได้รับเงินตอบแทนกว่า 93% จากเงินลงทุน รวมถึงคดีแม่ชม้อย ในปี 2527 ที่มีภาวะ “แชร์ล้ม” ไม่สามารถนำเงินไปคืนให้กับผู้ลงทุน หลังจากชักจูงให้นำเงินมาลงทุนซื้อรถขนน้ำมัน โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 4 พันล้านบาท และยังมีกรณีศึกษาอีกมาก ทั้ง ‘ยูฟัน’ แชร์ลูกโซ่ข้ามชาติ ปี 2558 และคดีซินแสโชกุน ในปี 2560 ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้เสียหายของคลีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ ก็เป็นเหยื่อของความไว้ใจ ความใกล้ชิด หรือแม้แต่การขาดความรู้ ความเข้าใจอย่างแท้จริงในระบบที่เอื้อต่อการหลอกลวงของมิจฉาชีพนั่นเอง Mango Zero หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นส่วนช่วยเล็กๆ ที่ทำให้ประชาชนและลูกเพจรู้ทันกลไก กลโกงที่อยู่รอบตัว ที่มาข้อมูล Mthai, ฐานเศรษฐกิจ, รวบรวมผู้โดนโกงจาก Forex 3d