“โคมลอย” เมื่อเคราะห์ที่ตั้งใจจะหลุดพ้น กลายเป็นทุกข์ที่ลอยหล่นใส่ธรรมชาติ

Writer : kantapetch

: 30 ตุลาคม 2563

 

 

ไม่ได้มีแค่กระทงที่ถูกลอยในวันเพ็ญเดือน 12

 

คนยังลอย “โคม” ขึ้นไปบนฟ้ากันในวันนี้ของทุกๆ ปี จนมันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลลอยกระทงไปแล้ว

 

โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ หนึ่งในไฮไลท์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากมากหน้าหลายแห่งเดินทางมาเที่ยวที่นี่ในช่วงลอยกระทง ก็คือการปล่อยโคมนี่แหละ

 

โคมลอยเป็นบอลลูนลมร้อนขนาดเล็ก ทำจากไม้ไผ่ตั้งเป็นโครงติดกระดาษสาทาน้ำมัน ข้างในใส่เทียนหรือเชื้อเพลิงแล้วจุดไฟ ความร้อนจะก่ออากาศภายในโคม ทำให้โคมเบาจนค่อยๆ ลอยขึ้น จนกว่าเพลิงจะมอด ถึงจะตกลงสู่พื้น

 

ถ้าจะถามว่ามันฮอตฮิตมาตั้งแต่เมื่อไร ก็ต้องย้อนกลับไปถึงสมัยล้านนนาโน่น ชาวพื้นเมืองในภาคเหนือของไทยลอยโคมกันตลอดปีเพื่อเฉลิมฉลองและทำบุญ

 

เทศกาลที่โคมจะลอยเด่นเต็มฟ้ามากที่สุดคือเทศกาลยี่เป็ง จัดในวันเพ็ญ เดือน 2 ตามปฏิทินล้านนา ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงตามปฏิทินไทย

 

แต่ใครที่คิดว่ามันคือสิ่งประดิษฐ์ไทยแท้ หรือเป็นของดั้งเดิมของชาวล้านนาโบราณ ก็ต้องบอกว่าคิดผิดแล้วจ้า

 

ตามหลักฐานของนักประวัติศาสตร์และนักจีนศึกษา โจเซฟ นีดแฮม คนจีนทดลองบอลลูนลมร้อนขนาดจิ๋วเพื่อส่งสัญญาณขึ้นไปบนฟ้าตั้งแต่ 3 ศตวรรษก่อนคริสตกาล สัญญาณในที่นี้ ก็เช่นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากการล้อมโจมตีของข้าศึก

 

หรือแม้แต่ในเมืองฝรั่ง คนสมัยก่อนก็เชื่อว่าสิ่งที่เขาเห็นลอยไปมาบนฟ้า คือยูเอฟโอ แต่จริงๆ แล้วกลับเป็นแค่โคมลอยธรรมดาๆ

 

ในประวัติศาสตร์ของอีกหลายประเทศก็มีบันทึกเรื่องโคมลอยเอาไว้ ชาวบ้านในทั่วทุกสารทิศทั่วโลกมีชีวิตที่ผูกติดกับการลอยโคม ลากยาวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะที่อินเดีย เวียดนาม บราซิล โปรตุเกส เม็กซิโก โปแลนด์ อังกฤษ หรือแม้แต่สหรัฐฯ

 

จุดประสงค์ในการปล่อยโคมของแต่ละประเทศอาจมีดีเทลยิบย่อยที่ต่างกัน แต่หลักๆ แล้ว คนมักปล่อยโคมเพราะเชื่อว่า เป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกให้โบกบินขึ้นไปบนอากาศ

 

เพียงได้ปล่อยโคม…ที่เคยทุกข์ ก็จะสุขโดยพลัน

 

ใช่…ทิ้งจริงๆ ในที่นี้หมายถึงปล่อยทิ้งโคมที่ลอยไปให้กลายเป็นขยะบ้าง เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุเพลิงไหม้บ้าง เป็นภาระของธรรมชาติบ้าง

 

จึงเป็นประจำในเทศกาลลอยกระทงทุกปี ที่เราจะเห็นข่าวอุบัติเหตุเพลิงไหม้ เกิดจากโคมลอยร่วงลงบนบ้านคน ที่นา ป่าไม้ สายไฟ จนลุกลามยิ่งใหญ่ วอดวายจนมีคนตายบ้าง สัตว์ตายบ้าง ธรรมชาติตายบ้าง

 

หรือไม่ก็ลอยขึ้นไปขัดขวางการบิน กลายเป็นอันตรายต่ออากาศยาน เที่ยวบินหลายเจ้าต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางบินหรือยกเลิกไปเลย เพราะรู้ว่าบินไปก็เสี่ยงแน่ๆ

 

(เมื่อปี 2556 มีซากโคมตกในรันเวย์ที่ท่าอาศยานเชียงใหม่ถึง 1,425 ลูก)

 

แม้แต่สัตว์น้ำสัตว์ทะเล ก็มีเคสที่ต้องป่วยตายเพราะกินซากโคมลอยที่ร่วงลงในทะเลเข้าไปเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร (ฮืออ)

 

อันนี้ไม่ใช่แค่ในไทยนะ หลายประเทศที่มีวัฒนธรรมปล่อยโคม ก็ล้วนเจอปัญหาเหล่านี้คล้ายๆ กัน

 

เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ก็เกิดขึ้นเพราะโคมลอย

 

ย้อนไปเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 ณ เวสต์มิดแลนส์ มีโคมลอยไปตกที่โรงงานรีไซเคิลพาสติก กลายเป็นต้นเหตุของการลุกไหม้ของวัสดุรีไซเคิลกว่าแสนตัน

 

มีมูลค่าความเสียหายโดยประเมิน ราวๆ 6 ล้านปอนด์

 

หรือที่พม่า เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ระหว่างเฉลิมฉลองเทศกาล ‘ตาซองไดน์ง’ (เทศกาลแห่งแสง) ณ รัฐฉาน คนพม่าลอยโคมกระดาษและปล่อยบอลลูนลมร้อนขึ้นฟ้าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

 

ก่อนบอลลูนจะระเบิดตูมกลางอากาศ สะเก็ดและลูกไฟจำนวนมากร่วงมาใส่พุทธศาสนิกชนในงาน บาดเจ็บกันไป 9 ราย

 

คณะผู้จัดงาน ออกมาสัมภาษณ์ให้คนอุ่นใจขึ้นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกน้าา เคยมีอุบัติเหตุคล้ายๆ กันมาแล้วเมื่อปี 2014 ตอนนั้นเสียชีวิต 4 คน และปี 2017 บาดเจ็บไป 15 คน ครั้งนี้เนี่ย นับว่าไม่ได้รุนแรงมากนะ (อืมมม)

 

เมื่อการขอพรให้ตัวเองพ้นเคราะห์ ดันกลายเป็นเคราะห์กรรมของผู้อื่นซะงั้น ภาครัฐของแต่ละประเทศคงจะนิ่งนอนใจปล่อยให้ปัญหานี้มัน ‘ลอย’ ผ่านไปไม่ได้

 

พวกเขาจึงออกกฎหมาย-ข้อห้าม มาปรามประชาชนที่หลงลืมว่าการลอยโคมอาจเป็นต้นเหตุของหลายๆ ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

 

มีตั้งแต่รณรงค์-ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้เท่าทันภัยที่เกิดจากมัน ไปจนถึงห้ามใช้และปล่อยโคมลอย ห้ามผลิต ขาย และนำเข้า

 

เช่นที่อินเดีย รัฐบาลที่นั่นสั่งห้ามการลอยโคมในรัศมี 18 กิโลเมตรจากท่าอากาศยานในพื้นที่ รับลูกจากการลงชื่อกดดันของเหล่านักบินอินเดีย

 

หรือที่อังกฤษ รัฐบาลเมืองผู้ดีก็สั่งห้ามประชาชนลอยโคมเช่นกัน หลังเกิดเหตุโคมลอยตกที่บ้านครอบครัวชาวนาในเมืองโทรว์บริดจ์ เมื่อปี 2011 จนทำให้ไฟไหม้ทั้งหลัง

 

สหภาพชาวนาอังกฤษจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งแบนโคมลอย นำมาซึ่งกฎที่เด็ดขาดและเอาจริงจากรัฐ

 

อีกหลายประเทศก็ออกกฎในทำนองเดียวกัน อย่างที่สหรัฐฯ ก็ห้ามปล่อยโคมลอยใน 30 มลรัฐ

 

เช่นเดียวกับที่เยอรมัน บราซิล อาร์เจนติน่า ชิลี โคลัมเบีย สเปน เวียดนาม หรือจีน ก็ห้ามแล้วเช่นกัน ส่วนออสเตรเลียนั้นห้ามขาย ผลิต และนำเข้าโคมลอยโดยเด็ดขาด

 

พี่ไทยเราก็มีแหละ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เคยเตือนคนให้เลี่ยงการปล่อยโคมลอยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

 

ส่วนที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปปล่อยโคมลอย รองผู้ว่าราชการก็เผยว่า ในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2020 นี้ จังหวัดเคร่งครัดมากๆ กับการห้ามประชาชนปล่อยโคมลอย โคมไฟ และโคมควัน

 

ตามประกาศที่ออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อเป็นมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยของประชาชนในการจุดและปล่อยโคม ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2559

 

(เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น)

 

สอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อปีก่อน – ณ เทศกาลลอยกระทงนานาชาติแห่งประเทศไทย ปี 2562 ที่ห้วยตึงเฒ่า เชียงใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศนับหมื่น (ส่วนมากคือจีน) จะร่วมกันทำสถิติปล่อยโคมลอยมากที่สุดในโลก เพื่อบันทึกลงกินเนสส์บุ๊ค!

 

ไม่อยากจะคิดเลยว่าถ้าปล่อยไปจริงจะเกิดความเสียหายเป็นสถิติโลกด้วยหรือเปล่า

 

ยังดีที่พล.ต.สืบสกุล บัวระวงศ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ในฐานะหน่วยงานดูแลพื้นที่ห้วยตึงเฒ่า สั่งยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวทันที หลังกิจกรรมถูกวิจารณ์อย่างหนักจากประชาชน ทั้งในและนอกพื้นที่

 

การรักษาและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของไทย หรือของประเทศใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องไม่ดี ตราบที่ประเพณีนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม หรือต่อโลก

 

มิเช่นนั้น เคราะห์กรรมที่หวังให้ลอยพ้นขึ้นฟ้าไปพร้อมกับโคม อาจไม่ได้ลอยไปไหนไกลเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Writer Profile : kantapetch
หมาผู้พยายามน่ารักเท่าโลก
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

[NEWS] เริ่มแล้ว! นิทรรศการแอนิเมชั่นจิบลิที่ใหญ่ที่สุด THE WORLD OF STUDIO GHIBLI'S ANIMATION EXHIBITION BANGKOK 2023 เปิดให้เข้าชม 1 ก.ค.

[NEWS] คาดมวลชนหนาแน่น! ดอนเมืองแจ้งผู้โดยสาร เผื่อเวลาเดินทาง ช่วงทักษิณกลับไทย 22 ส.ค. นี้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save