กพท. แจ้ง ที่นั่งโลว์คอส ขึ้นราคาตั๋วได้ 100% หลังกำหนดขายตั๋วแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง ผู้โดยสารไม่ถอดหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทาง
23 เม.ย. 2563 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เชิญสายการบินสัญชาติไทยและต่างชาติ กว่า 20 สายการบิน มาหารือเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรค เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนกลับมาเปิดทำการเที่ยวบินในประเทศอีกครั้ง หลังจากประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การหารือดังกล่าว เป็นการนำมาตรการสาธารณสุขมาบังคับใช้กับสายการบินที่จะเริ่มทำการบินเที่ยวบินในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ได้แก่ แอร์เอเชียและไทยไลอ้อนแอร์
โดยจะมีการกำหนดมาตรการ ดังนี้
- สายการบินที่มีเครื่องขนาดใหญ่ ต้องขายตั๋วโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่ง เพื่อรักษาระยะห่างตามมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนสายการบินที่มีเครื่องบินขนาดเล็กหรือเครื่องใบพัด กำหนดให้ขายตั๋วโดยสารได้เพียง 70% ของที่นั่งที่มีอยู่จริง
ซึ่งการปรับลดจำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินทำให้ต้นทุนการขนส่งของสายการบินเพิ่มขึ้น ดังนั้น สายการบินจะสามารถปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารได้ แต่ปรับได้สูงสุดไม่เกิน 9.40 บาท/กม. ซึ่งโลว์คอสส่วนใหญ่จำหน่ายบัตรโดยสารราคาต่ำ เพียง 4-5 บาท/กม. ดังนั้น สามารถปรับขึ้นราคาได้ 100% หรือไม่เกินเพดาน 9.40 บาท
คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากนัก เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณการเดินทางไม่มาก แต่กลุ่มผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทางอาจได้รับผลกระทบ
- ให้มีการจัดระเบียบการรักษาระยะห่างของผู้โดยสารตั้งแต่เดินทางเข้ามาภายในสนามบินไปจนถึงการขึ้นเครื่องบิน การใช้บัสเกตขึ้นรถต่อไปขึ้นเครื่องบิน ภายในรถต้องจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
- งดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเที่ยวบิน เพราะการบริโภคต้องมีการเปิดหน้ากากอนามัย อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ รวมทั้งจะไม่มีบริการจำหน่ายอาหารบนเครื่องบิน และไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารนำอาหารและเครื่องดื่มขึ้นมาบริโภคบนเครื่องบิน
จะมีการจัดพื้นที่พิเศษไว้บริเวณท้ายเครื่องบินเพื่อให้ผู้โดยสารดื่มน้ำ โดยต้องแจ้งลูกเรือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด
- ลูกเรือต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และ Face shield ส่วนผู้โดยสารต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยมาเอง ตลอดเวลาการเดินทาง
- ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยเริ่มตั้งแต่เข้าสู่สนามบินจนถึงตลอดการเดินทาง หากพบผู้โดยสารไม่สวมหน้าหากอนามัยสายการบินสามารถปฏิเสธการออกบัตรโดยสาร หรือห้ามไม่ให้ขึ้นเครื่องบินได้ รวมทั้งมีอำนาจในการบังคับให้สวมหน้ากากอนามัย
- สำหรับสายการบินที่มีเส้นทางการบินที่ระยะเวลาการบินเกินกว่า 90 นาที จะต้องกันที่นั่งแถวหลังไว้พิเศษสำหรับแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบิน
ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินใดแจ้งขอเปิดทำการบินเที่ยวบินระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐบาลมีการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าไทยจนถึงวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งหากรัฐมีการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก กพท.ก็อาจต้องขยายระยะเวลาห้ามบินเข้าออกไปอีก
ส่วนกรณีสายการบินต่างๆ ประสบปัญหาทางการเงิน ต้องรอฟังมาตรการจากทางภาครัฐซึ่งสายการบินหลายสายต้องการสภาพคล่องจากเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อ และให้พนักงานมีงานทำ
เนื่องจากการระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทั่วโลกหยุดการเดินทางทางอากาศ คาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมการบินทั้งปี 63 นี้จะลดเหลือ 20% จากเป้าหมายการเติบโตที่คาดไว้
ในภาพรวมมีการประเมินว่าธุรกิจสายการบินจะเริ่มดีขึ้นและสามารถทำการบินในในเดือน ต.ค.หรือไตรสมาสที่ 4 ของปีนี้ ปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดในยุโรปเริ่มลดลง รวมทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
ที่มา khaosod