ถ้าจู่ๆ มือถือคู่ใจของเราเกิดเปียกน้ำขึ้นมา แถมรุ่นที่ใช้อยู่ก็ไม่ได้กันน้ำได้ด้วย รวมถึงความเชื่อแบบผิดๆ ทีมงาน Mango Zero เลยมีวิธีแก้เบื้องต้นมาฝากกัน แต่จะมีวิธีไหนที่ควรทำบ้างตามไปดูกันเลยค่า ความเชื่อผิดๆ เมื่อโทรศัพท์มือถือเปียกน้ำ หลายคนอาจจะมีความเชื่อว่า เมื่อโทรศัพท์มือถือตกน้ำ เปียกน้ำขึ้นมา ให้ใช้ไดร์เป่าผม หรือนำไปแช่ในถังข้าวสาร เพราะน้ำจะละเหยหรือดูดซึมออกมาได้ดี แต่อาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสักเท่าไหร่นะคะ รศ.ดร.พิสิฐ บุญศรีเมือง อ.ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า การใช้ไดร์เป่าผมทำให้น้ำละเหยออกมาได้จริง แต่ถ้าโทรศัพท์มือถือโดนความร้อนจากไดร์มากๆ อาจจะทำให้พังได้ ส่วนนำโทรศัพท์มือถือไปแช่ในถังข้าวสาร ก็เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ ถึงแม้ว่าข้าวสารจะดูดซึมน้ำที่อยู่ภายในครื่องออกมา แต่ก็อาจจะมีพวกเศษข้าวสารหรือฝุ่นหลุดเข้าไปในตัวเครื่อง เพราะโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ไม่ได้กันฝุ่นได้ ก็อาจจะทำให้ตัวเครื่องพังแทนนะคะ วิธีแก้โทรศัพท์มือถือเปียกน้ำที่เหมาะสม รศ.ดร.พิสิฐ บุญศรีเมือง เลยแนะนำวิธีที่เหมาะสมมาฝากกันค่ะ ถ้าเกิดโทรศัพท์มือถือเปียกน้ำขึ้นมา สิ่งแรกที่ควรทำคือปิดเครื่องก่อนเลย แล้วนำผ้ามาเช็ดให้แห้ง (จริงๆ อาจารย์แอบบอกมาด้วยนะ ถ้าโทรศัพท์มือถือถอดแบตได้ ก็ควรถอดออกมา แต่โทรศัพท์มือถือสมัยนี้ฝาหลังล็อคติดกับเครื่อง เลยถอดเองยากค่ะ) จากนั้นนำซิลิก้าเจลหรือซองกันชื้น ที่แถมมาในถุงขนม หรือถ้าใครเล่นกล้องน่าจะพอมีอยู่นะ แล้วนำซองกันชื้นกับโทรศัพท์มือถือใส่รวมกันในกล่อง แล้วปิดฝากล่องให้สนิท ทิ้งไว้สัก 1 คืนหรือมากกว่านั้นก็ได้นะ ระหว่างที่ทิ้งไว้ ซองกันชื้นจะค่อยๆ ดูความชื้น ดูดน้ำที่อยู่ภายในเครื่องออกมา พอครบเวลาแล้ว ก็ลองเปิดเครื่องดูค่ะ ถ้าเปิดติดแสดงว่าโทรศัพท์มือถือใช้งานได้ปกติ ไม่พังแล้วววว แต่ถ้าเปิดไม่ติดขึ้นมา อาจจะต้องส่งให้ร้านซ่อม เพราะบางทีน้ำอาจจะเข้าไปช็อตแผงวงจร จนเกิดเยียวยาที่จะกู้ชีพได้แล้ว T^T ถ้าเกิดโทรศัพท์มือถือเปียกน้ำขึ้นมา ลองใช้วิธีนี้กันนะคะ แต่อย่าให้มือถือแสนรักโดนน้ำจะดีที่สุดค่า ไม่งั้นแย่แน่เลย ToT ขอขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.พิสิฐ บุญศรีเมือง อ.ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง