อย. หรือ “สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา” (Food and Drug Administration) และไม่ได้แปลว่าอาหย่อย เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ผู้บริโภครับทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ผ่านการพิจารณาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์เลวๆ บางเจ้าปลอมเครื่องหมาย อย. โดยการนำเลข อย. จากผลิตภัณฑ์อื่นมาแปะบนห่อผลิตภัณฑ์ของตัวเอง อย่างล่าสุดเอาเลขจากขนมมาแปะบนฉลากยาซะงั้น แบบนี้มีเจตนาคิดไม่ซื่อแน่นอน
ดังนั้นเราควรทราบวิธีตรวจสอบเบื้องต้นว่าเลข อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยนั้นเป็นเลขของผลิตภัณฑ์นั้นจริงหรือเปล่า และข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของเราเอง
วิธีการตรวจสอบเลข อย.
เข้าไปที่เว็บไซต์ >> http://164.115.28.123/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx
โดยในนี้สามารถค้นหาได้ทีเดียวครบทุกหมวดหมู่เลย
ใส่เลข อย. จากผลิตภัณฑ์ลงไปในช่องค้นหา (โดยจะใส่ – หรือไม่ใส่ก็ได้ ผลลัพธ์จะออกมาเหมือนกัน)
ถ้าเลข อย. ถูกต้อง ระบบจะแสดงรายการออกมา ซึ่งจะมีข้อมูลดังนี้
- ประเภทผลิตภัณฑ์
- ใบสำคัญ (เลข อย.)
- ชื่อผลิตภัณฑ์ไทย – อังกฤษ
- ชื่อผู้รับอนุญาต
- Newcode (เลขอ้างอิงใบรับแจ้งการนำเข้าผลิตภัณฑ์)
- สถานะ
ไม่ใช่เฉพาะเลข อย. เท่านั้น ในช่องค้นหาสามารถใส่ชื่อผลิตภัณฑ์ลงไปได้ด้วยนะ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลข อย.
ตัวเลขในเครื่องหมาย อย. แต่ละหลักนั้นมีความหมายระบุเอาไว้ด้วย ตามภาพด้านบนเลยจ้า
เครื่องหมาย อย. เชื่อได้แค่ไหน?
การที่มีเครื่องหมาย อย. หมายถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้การผ่านเกณฑ์การตรวจสอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น และสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ทราบเพิ่มเติมมีดังนี้
- ส่วนผสมในผลิตภัณฑ์นั้น ทาง อย. ไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งหมด เจ้าของสินค้าจะยื่นข้อมูลส่วนประกอบ จากนั้น อย. เพียงแค่พิจารณาปริมาณส่วนผสมว่าปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
- ส่วนประกอบที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ กับส่วนประกอบที่ยื่นกับ อย. อาจไม่ตรงกัน คือ จดอีกอย่าง ใส่จริงอีกอย่างอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งอันนี้ผู้ผลิตคิดไม่ซื่อแน่นอน ผิดกฏหมายด้วย ถ้าพบเจอสามารถแจ้งทาง อย. ได้เลย
- การแพ้ผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องส่วนบุคคล อย. ไม่เกี่ยว ผู้บริโภคต้องพิจารณาจากส่วนผสมเอง
- เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องตามฉลาก (โดยเฉพาะยา) และต้องพิจารณาการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ อย่าหลงเชื่ออะไรที่มันเวอร์ๆ
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะมีเครื่องหมาย อย. แล้วก็ตาม ผู้บริโภคเองยังต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพิ่มด้วย ทั้งการแพ้, การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ และการใช้งานให้ถูกวิธี
ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง ที่จดทะเบียน อย. เพื่อความน่าเชื่อถือ แต่แอบใส่ส่วนผสมอื่นลงไป หรือมีปริมาณส่วนผสมไม่ตรงกับที่แจ้ง
ที่มา – www.fda.moph.go.th, www.pharmabeautycare.com