ตัวนู้นก็อยากมี ตัวนี้ก็อยากได้ ต้องสวยต้องปังต้องเริ่ด อินเทรนด์สวยที่สุด! เสื้อผ้าเต็มตู้มากมายก่ายกอง ไม่รู้จะใส่ตัวไหน ต้องซื้อตัวใหม่ซะแล้ว โปรเร็วโปรแรง พลาดไม่ได้ ถล่มซื้อไว้ก่อน
ทีละเล็กละน้อย มากขึ้นในทุกวี่วัน โดยที่ไม่รู้ตัว พฤติกรรมการเลือกซื้อเสื้อผ้าแบบที่เราเคยชิน กลับกลายเป็นปัญหายักษ์ใหญ่ยากจะแก้ไข ไม่มีวันย้อนกลับ บั่นทอนโลกเรื่อยไป และหมายจะย้อนกลับมาทำร้ายพวกเราในอนาคต
วันนี้ชวนทุกคนมาใช้เวลาสักครู่ เงี่ยหูฟังเสียงกระซิบจากสุสานแฟชั่น ในนิทรรศการหมุนเวียนล่าสุดของมิวเซียมสยาม กับ ” Fast Fashion ช็อปล้างโลก “
นิทรรศการ Fast Fashion ช็อปล้างโลก
- วันที่ 3 สิงหาคม – 3 ธันวาคม 2566
- 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
- มิวเซียมสยาม MRT สนามไชย ทางออก 1
“ท่วมท้น ล้นหลาก Over Flow” เสื้อผ้ากองพะเนิน
เมื่อก้าวเข้าสู่อาคารของ Museum Siam จะพบเสื้อผ้ากองพะเนินเทินทึกท่วมหัวสุดลูกหูลูกตา แหงนหน้ามองไปบนเพดานจนปวดคอก็ยังมีเสื้อผ้ามากมายไม่รู้จบ
“ท่วมท้น ล้นหลาก Over Flow” เป็นผลงาน Art Installation ของศิลปินสายสิ่งแวดล้อมอย่าง “เอ๋ – วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์” นำเสนอห้องโถงที่อัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้ากว่า 4 ตัน สะท้อนถึงปัญหาของ Fast Fashion กระแสที่มาไวไปวนจนเกิดขยะมหาศาล เป็นปัญหาที่ทุกวันนี้ทั่วโลกก็ยังประสบพบเจอ
ที่น่าเศร้าก็คือสุสานแฟชั่นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบนพื้นที่หลายๆ แห่งในโลก อาทิ ทะเลทรายอาตากามาในชิลี ที่มีขยะเสื้อผ้าจำนวนหลายหมื่นตัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 200 ปีกว่าจะย่อยสลายหมด
เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นเสื้อผ้าที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับบริจาคมา หลายต่อหลายตัวเป็นเสื้อผ้าที่ไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ เมื่อสิ้นสุดการจัดงานจะนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร สะกิดให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้ว การบริจาคอาจไม่ใช่ทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
Fast Fashion : เปิดหน้าร้านสะท้อนข้อเท็จจริง
รู้หรือไม่!? การปลูกฝ้ายต้องใช้น้ำมากมายแค่ไหน แล้วเมื่อเส้นใยโพลีเมอร์เข้าไปปะปนอยู่ในธรรมชาติจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
มิวส์มอลล์เปิดแล้วจ้า ยกเอาห้างสรรพสินค้าจำลองมาตั้งเอาไว้ให้เห็นภาพความเป็นจริงที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ความหรูหราสวยงาม เปิดหูเปิดตา ฉายเป็นภาพให้เห็นว่าพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อเสื้อผ้า ที่นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่
หรือแม้กระทั่งปัญหาแรงงานที่ถูกกดขี่แบบไม่มีวันหยุดพัก และได้ค่าจ้างน้อยนิด ไม่คุ้มกับแรงที่ทุ่มเทไป
Slow Fashion : ทางเลือกมากมายสู่ความยั่งยืน
มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงเกิดจังหวะนึกคิดสะกิดใจ ตั้งคำถามขึ้นมาว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างล่ะ”
แน่นอนว่านิทรรศการ Fast Fashion ช็อปล้างโลกก็ไม่ปล่อยให้เราสงสัยนาน เพราะเพียงผ่านม่านสีชมพูไปก็เข้าสู่โซน “Slow Fashion” ที่บอกเล่าแนวทางช่วยโลกมากมายพร้อมนำเสนอแบรนด์เสื้อผ้าที่หยิบยกวิธีต่างๆเหล่านี้มาใช้อีกด้วย
เรียกได้ว่าชัดเจนทำได้จริงมีกรณีศึกษาให้เห็นแบบเป็นรูปธรรมรวมถึงชี้ช่องทางสนับสนุนให้เหล่าสายแฟฯได้เก็บเป็นทางเลือกสำหรับครีเอตลุคต่อๆไป
Made in Nature : การเลือกใช้เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ อาทิ ฝ้าย ลินิน หรือกัญชง ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเส้นใยที่ผลิตจากกรรมวิธีธรรมชาติ 100% ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการปลูก
ReWEAR : รู้หรือไม่ว่าการใส่เสื้อผ้าตัวละแค่ 5 ครั้ง เท่ากับเพิ่มการปล่อยคาร์บอนถึง 500% เลยทีเดียวเชียว!
ฉะนั้น การหยิบเสื้อผ้ามาใส่ซ้ำ wearวนไปไม่ใช้เรื่องผิด ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ เราก็สามารถสนุกสนานกับการ Mix & Match จับคู่เสื้อตัวนั้น กางเกงตัวนี้ กระโปรงตัวโน้น สร้างสรรค์ลุคใหม่ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้าได้เลย ~
RePAIR : การซ่อมแซมเสื้อผ้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีมากๆช่วยยืดอายุเสื้อตัวเก่งของเราออกไปได้อีกหน่อยแถมยังเป็นการช่วยสนับสนุนคุณลุงคุณป้าช่างเย็บจักรที่รับคืนชีพเสื้อผ้าเป็นอาชีพด้วย
ZERO Waste : การตัดเย็บเสื้อผ้าของโรงงานแต่ละล็อตจะมีเศษเสื้อผ้าเหลือที่ถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทีละเล็ก ทีละน้อย รวมแล้วในแต่ละปีก็กลายเป็นปริมาณมหาศาลมากถึง 1 พันล้านหลา/ปีการนำผ้าเหลือผ้าค้างสต็อกกลับมาใช้นำไปถักทอเย็บรวมกันเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่จึงจะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
UpCycle : คืนชีวิตให้กับเสื้อผ้าเก่า ด้วยการใช้เทคนิคต่างๆ เช่นการปักลายเพิ่ม นำไปตัดต่อตกแต่งใหม่ หรือแปลงร่างเป็นอย่างอื่นไปเลย เพิ่มมูลค่าให้ Up ขึ้นไปอีกขั้น จนกลายเป็นเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับเก๋ๆ โฉบเฉี่ยวที่อาจมีตัวเดียวในโลก ชิคเกินแก!
ReSELL : เพื่อนเก่าของเรา อาจจะเป็นเพื่อนใหม่ที่ใครหลายคนต้องการก็ได้ เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เราสามารถนำไปบริจาค แบ่งปันเพื่อส่งต่อรอยยิ้มให้คนด้อยโอกาส หรือแม้กระทั่งขายต่อเป็นเสื้อผ้ามือสอง แลกเปลี่ยนกันไป ประหยัดค่าใช้จ่าย ทดลองสไตล์ใหม่ๆ ในราคาเบาๆ สบายกระเป๋า
ReCYCLE : มีพบต้องมีจาก เสื้อผ้าก็มีวันสิ้นอายุขัย น่าเศร้าที่เมื่อเสื้อผ้าถูกทิ้ง จะมีเพียง 1% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล เหตุเพราะกระบวนการรีไซเคิลเสื้อผ้าซับซ้อนและยุ่งยากเหลือเกิน มีต้นทุนที่สูงอีกต่างหาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลยนะ ปัจจุบันก็มีหลายๆ องค์กรเริ่มนำร่องรีไซเคิลเสื้อผ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น แบรนด์แสงเจริญแกรนด์ SC Grand เจ้าของเทคโนโลยีรีไซเคิลเสื้อผ้าหนึ่งเดียวในไทย
Fast Fashion vs Slow Fashion : ระหว่างเรากับโลก
มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะมีคำตอบในใจแล้วว่าควรจะทำอย่างไรดี และมีอะไรที่เราพอจะช่วยโลกได้บ้าง เริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เปิดใจซื้อเสื้อมือสอง หยิบเสื้อตัวเก่ามาปัดฝุ่นสร้างลุคใหม่ ซ่อมแซมเสื้อผ้ายืดอายุออกไปสักหน่อย
Small actions do lead to big changes
เริ่มต้นที่ตัวเรา นำสู่การเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ในอนาคต
พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้แล้วหรือยัง? หยิบไหมพรมเส้นเล็กๆ ขึ้นมา เริ่มสร้างรากฐานแข็งแกร่งกันตั้งแต่วันนี้ได้เลย