ผ่านไปแล้วกับงาน BNK48 : 9th Single Senbatsu General Election หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่างานเลือกตั้ง BNK48 ซึ่งผลที่ออกมา ก็อาจจะทำให้ใครหลายคนสมหวัง ผิดหวัง ดีใจ เสียใจ ต่างกันไป
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การถ่ายทอดสดงานเลือกตั้งในปีนี้ มีความพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะการที่จัดงานถ่ายทอดสดในภาวะไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่สามารถจัดงานในสถานที่เดียวกันแบบปีก่อนได้
ความท้าทายทางเทคโนโลยี อุปสรรคในการเตรียมงาน ข้อจำกัด และแง่มุมที่เมมเบอร์ต้องจัดการกับสถานการณ์นี้ มีอะไรบ้าง
วันนี้ Mango Zero มีเรื่องจะมาเล่าให้ฟัง
Disclaimer : ทีมงานเป็นผู้จัดทำการถ่ายทอดสดทั้งหมดในครั้งนี้ เฉพาะส่วนของการ Production งานทั้งหมด เพื่อปล่อยสัญญาณไปต่อ แต่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการ Live ผ่านแอปหรือเว็บแต่อย่างใด (อย่าว่าเราน๊าาาา >__<)
ทุกอย่างเปลี่ยน เมื่อมีโควิด-19
เดิมที่งานประกาศผลเลือกตั้ง ได้มีการวางไว้ล่วงหน้า พร้อมกับการมีคอนเสิร์ตในแบบปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดลง ทางอฟช. ได้มีการประกาศเลื่อนงานออกไปก่อน
ไม่นานนักทางอฟช.ก็ได้มีการติดต่อทีมงาน Mango Zero เข้ามา โดยต้องการให้เราเป็นผู้จัดทำการถ่ายทอดสดงานเลือกตั้งในครั้งนี้
แม้ทีมงาน Mango Zero จะได้เคยร่วมงานกับทาง BNK48 มาบ่อยครั้ง ตั้งแต่การจัดทำหนังสือเลือกตั้งปีที่แล้ว, หนังสือครบรอบ 2 ปี BNK48 รวมถึงรายการ Interactive Live อย่าง BNK48 : By The Way
แต่เราเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดอีเวนต์ โดยเฉพาะอีเวนต์ที่ใหญ่โตขนาดนี้ รวมทั้งนี่เป็นครั้งแรกใน 48 Group เลยที่จัดงานลักษณะนี้ ทำให้เราไม่มีตัวอย่างงานอื่นๆ ให้เราเป็น Reference เลย
“ก็แค่เอาทุกคนมาเข้า Zoom แล้วก็ถ่ายทอดสดไป ไม่เห็นมีอะไร ?” เป็นประโยคที่ทีมเทคนิค Mango Zero พูดขึ้นมากลางวงที่ประชุม
แต่เมื่อเรามานั่งคุยกันทุกฝ่าย คุยลึกลงไปในรายละเอียด แล้วพบว่า การจัดถ่ายทอดสดเมมเบอร์จากที่บ้านนั้น มีอุปสรรคและความท้าทายทางเทคนิคสูงมาก รวมถึงต้องอาศัยความเข้าใจในศิลปะการนำเสนอ ที่ต้องเข้าใจทางวงด้วย
แม้จะไม่มั่นใจ แต่เราคิดว่าพวกเราพอจะทำได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานช้าง ที่ต้องบอกเลยว่า ยากเย็นกว่าที่เราคิดเอาไว้มากทีเดียว
66 คน 66 สถานที่ 66 ความแตกต่าง
งานเลือกตั้งในปีนี้ มีเมมเบอร์ที่เข้าร่วมทั้งหมด 66 คน ซึ่งก่อนที่จะเริ่มวางระบบถ่ายทอดสด เราต้องเข้าใจปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดให้ได้ก่อน
- เมมเบอร์แต่ละคน อยู่บ้านของตัวเอง ซึ่งก็มีสภาพที่แตกต่างกัน 66 สถานที่
- แปลว่า เราจะต้องหาวิธีจัดการให้ภาพและเสียง ที่ออกมาจาก 66 สถานที่ ออกมาโอเค ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก
- รวมถึงเราต้องจัดการกับความเสี่ยงมากกว่า 66 แบบ ไม่ว่าจะเป็น บ้านนึงมีเสียงข้างบ้านเปิดเพลงดัง, อีกบ้านนึงไฟดับ, น้องมือถือแบตหมด, ไมค์ไม่ดัง, แสงไม่ดีพอ ฯลฯ
- นี่ยังไม่นับเรื่องอินเทอร์เน็ต ที่เป็นปัจจัยหลักของการถ่ายทอดสดครั้งนี้
เมื่อดูทุกความเสี่ยงแล้ว แปลว่าทีมงานที่คอยดูแลเมมเบอร์เองต้องทำงานหนักที่สุดในงานนี้ นั่นก็คือทีมงานของอฟช.
ซึ่งทีมงานก็ได้ประชุมและหาวิธีที่จะจัดการปัญหาทั้งหมดให้ได้ หรืออย่างน้อยให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นการส่งอุปกรณ์ต่างๆ ไปให้เมมเบอร์ การเพิ่มสัญญาณอินเทอร์เน็ต การซ้อมให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้งานออกมาดี
ความไร้อารมณ์ของการพูดอยู่คนเดียว พังงานได้ทั้งงาน
ใช่ครับ เราใช้ระบบประชุมออนไลน์เข้ามาช่วยในการนำเมมเบอร์ทั้ง 66 คนมาออกที่หน้าจอ ซึ่งระบบที่เราเลือกใช้คือแอป Zoom (มีหลายเหตุผลมากที่ทำไมเราเลือกใช้ระบบนี้ แต่จะไม่ขอลงรายละเอียด)
แต่หลังจากที่เราทดสอบกันเองในทีมงาน รวมถึงเมื่อเรากลับไปนั่งดูงานเลือกตั้งปีที่ผ่านมาแบบละเอียดอีกครั้ง เราพบว่า
เสน่ห์ที่แท้จริงของงาน General Election คือการที่เมมเบอร์มีอารมณ์ร่วมไปกับงาน ได้เห็นเมมเบอร์กอดกัน ร้องไห้ด้วยกัน ดีใจ เสียใจไปด้วยกัน และคำทุกคำที่ออกมา จะส่งต่อไปถึงแฟนคลับทางบ้านได้นั่นเอง
แต่การที่เราต้องนั่งอยู่หน้าจอมือถือคนเดียวตลอด 4 ชั่วโมง ในมุมเล็กๆ ที่บ้าน แล้วตลอดเวลา 4 ชั่วโมงนั้น เราจะมีเวลาได้พูดแค่ 1-5 นาทีเท่านั้น
พอถึงเวลาต้องพูดจริงๆ ก็พูดไปแบบลอยๆ เหมือนพูดอยู่กับอากาศ พูดอยู่คนเดียว ไม่มี Feedback ไม่มีเสียง ไม่มีภาพอะไรให้เห็น
ซึ่งทำให้ทุกอย่างดูจืด ไร้อารมณ์ร่วม และงานก็จะพังลงมาได้
สุดท้ายเราเลยพบว่า จริงๆ แล้วความท้าทายที่สุดของงานนี้ ไม่ใช่เรื่องของ “การนำเสนอรายการ” เรื่องคลิปเปิดปิดงานที่อลังการ หรือพิธีกรที่สร้างความสนุก
แต่ความท้าทายคือ เราจะทำยังไง “ให้เมมเบอร์ทุกคน มีอารมณ์ร่วมไปงานให้ได้” สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้เมมเบอร์ให้ได้ จากนั้นเราเชื่อว่าถ้าเราทำได้ ทุกอย่างจะส่งต่อไปที่คนดูได้เอง
สร้างประสบการณ์ร่วมให้กับเมมเบอร์
ถ้าคุณเคยเข้าประชุมในห้องประชุมออนไลน์ คุณจะพบว่า หน้าจอที่เห็น เราก็จะเห็นตัวเราเอง กับเห็นเพื่อนคนที่พูด หรือเห็นพิธีกร
ถ้าเราให้เมมเบอร์เห็นอยู่แค่นั้น งานพังแน่นอน เราเลยต้องดีไซน์อะไรหลายอย่างเข้าไปใหม่หมด ซึ่งเราก็ต้องมาเริ่มตั้งแต่ต้นใหม่อีกครั้ง และจำลองตัวเองเป็นเมมเบอร์ ว่าถ้าหากต้องเข้ามาอยู่ในระบบนี้จริงๆ จะได้เห็น ได้ฟังอะไรบ้าง
โดยทีม Mango Zero ร่วมกับทีม Livetube ช่วยกันสร้าง Solution ทางเทคนิคเท่าที่เราจะสามารถทำได้ให้กับการถ่ายทอดสดครั้งนี้
- เราทำหน้าจอพิเศษที่ทำให้เมมเบอร์ เห็นการถ่ายทอดสดทั้งหมด เหมือนกับที่คนทางบ้านเห็น ไม่ใช่เห็นแค่พิธีกรเฉยๆ
- ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาทั้งภาพและเสียง
- แต่ปัญหาคือ ถ้าเกิดถึงเวลาที่น้องได้รางวัล และต้องพูดขึ้นมา ถ้าเราปล่อยสัญญาณถ่ายทอดสดกลับไปตามปกติ น้องก็จะได้ยินเสียงที่ตัวเองพูดความรู้สึก วนกลับไปกลับมาในหูฟัง
- เราเลยต้องหาเทคนิคพิเศษเข้าไปเพิ่มอีก นั่นคือน้องจะต้องได้ยินเสียงทุกคนเวลาถ่ายทอดสด ยกเว้นเสียงตัวเองพูด ต้องไม่ย้อนกลับมา
- และต้องแบบนี้ให้ได้ทั้ง 66 คน
การสื่อสารกันเองระหว่างเมมเบอร์
- ทางอฟช.ได้ดีไซน์ฉากเปิดเอาไว้ ว่าอยากให้กัปตันในแต่ละวง พูดนำเปิด แล้วทุกคนพูดตาม เช่น
เฌอปราง “สวัสดีค่ะ พวกเรา !! ….”
ทุกคน “BNK48 ค่าาาา” - ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ เราจะต้องทำให้ห้องประชุม Video Call ทั้ง 3 ห้อง ได้ยินเสียงของกันและกันทั้งหมดด้วย
- ลองนึกภาพว่าเราประชุมห้อง A แต่พอห้อง B พูดอะไรมา เราจะต้องได้ยินทั้งหมด
- แต่เมื่อเราทำเทคนิคนี้ได้เสร็จ เมมเบอร์ก็สนุกกันมาก เพราะทั้ง 66 คนพูดหากันได้หมดเลย แม้จะอยู่คนละห้องก็ตาม
- Note: ช่วงพูดสวัสดีคนทางบ้าน ที่เห็นใน Live สด แม้เสียงที่ออกมาจะฟังดูงงๆ หน่อย แต่นั่นคือเทคที่ดีที่สุดแล้วจากที่เคยซ้อมกันมา (ฮา)
การสื่อสารจากทีมงานไปถึงเมมเบอร์ทุกคน
- ถ้าอยู่บนเวที เราจะมีหลากหลายวิธีที่จะสื่อสารไปให้คนบนเวทีได้ เช่น หูฟังพิเศษ, ขึ้นจอใต้เวที ฯลฯ
- แต่เมื่อเป็นการถ่ายทอดสด และเมมเบอร์ทุกคนก็ดูผ่านจอมือถือของตัวเอง แล้วเราจะสื่อสารกับเมมเบอร์ทุกคนพร้อมกันได้ยังไง ?
- แชทหรือโทรไปก็จะไม่ได้ เพราะต้องให้ทุกคนมีสมาธิกับงาน
- เราเลยเพิ่มช่องทางพิเศษเข้าไปอีก 1 ช่องทางบนจอ เอาไว้สื่อสารระหว่างอฟช.กับเมมเบอร์ด้วย
- เช่น การนับเวลาถอยหลัง สังเกตว่าเมมเบอร์จะพูดหลายครั้งว่าหนูเหลือเวลาอีก 2 นาที หรือหมดเวลาแล้ว แค่นี้นะคะ เป็นต้น
การซ้อมแล้วซ้อมอีก
- งานประกาศรางวัล จริงๆ แล้วเป็นงานที่สคริปต์น้อยมาก เมื่อเทียบกับงานแสดงอื่นๆ
- แต่เมื่อทุกอย่างมาเป็นโลกออนไลน์ เราต้องการทดสอบทุกกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น และเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด
- งานครั้งนี้ จึงต้องมีการซ้อมบ่อยมาก เราซ้อมคิว ซ้อมจัดตำแหน่ง ซ้อมเช้า ซ้อมบ่าย ซ้อมเย็น และซ้อมกันหลายวันเลยทีเดียว
“เมมเบอร์ทุกคนต้องสวย”
โจทย์นึงที่เราได้รับมาจากอฟช. คือทำยังไงก็ได้ ให้เมมเบอร์ทั้ง 66 คน ออกมาบนจอแล้วดูโอเค ดูไม่แย่ ไม่โทรม
ซึ่งก็แน่นอนว่าเราเองก็อยากเห็นเมมเบอร์ทุกคนออกมาสวยใส คมชัดระดับ HD บนจอภาพ แต่อย่างที่บอกไว้ คือถ้าทุกคนอยู่บนเวทีเดียวกัน แสงสีแบบเดียวกัน เราทำได้
แต่ตอนนี้ทุกคนอยู่ที่มุมเล็กๆ ในบ้านของตัวเอง แสง 66 แบบ, สี 66 แบบ รวมถึงโทรศัพท์ก็รุ่นไม่เหมือนกัน เน็ตที่บ้านก็ความแรงไม่เท่ากัน โจทย์เรื่องความสวยงาม จึงเป็นเรื่องน่าหนักใจอย่างมาก
ถ้าคุณได้เปิดไปดูที่การถ่ายทอดสด จะเห็นว่าเมมเบอร์เกือบทุกคน ภาพสวยคมชัดระดับ HD แสงดี สีสวย หน้าเป๊ะ และไม่ถูก Crop จากจอเลย
ซึ่งนั่นก็ต้องมอบความดีความชอบให้กับทีมดูแลศิลปินของอฟช. BNK48 เพราะพวกเขาทำงานกันหนักมาก กว่าจะทำให้เมมเบอร์ทุกคนออกมาสวยงามในแบบที่เห็นได้
ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หลากหลายที่ทีมงานส่งไปให้เมมเบอร์ ทั้งการจัดแสง จัดไฟ การดูแลเรื่องอินเทอร์เน็ต รวมถึงการวางตำแหน่งภาพทั้งหมด
เบื้องหลังคือทีมอฟช.ต้องคอยดูการวาง Position ของเมมเบอร์ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย ตลอด 4 ชั่วโมง คือเรามีจอมอนิเตอร์ที่เห็นเมมเบอร์ครบทุกคนเอาไว้อยู่ด้วย
เกล็ดเล็กเกล็ดน้อยจากงานเลือกตั้งครั้งล่าสุด
- ก่อนงานเริ่ม ทั้งน้าเน็ก และคุณทับทิม ต่างก็ไม่รู้ผลคะแนนล่วงหน้า ทั้งคู่ได้รู้ผลจากในซองที่เก็บคะแนนจริงๆ
- ตอนประชุม น้าเน็กพยายามแอบถามผลกับทีมงานแล้ว แต่ไม่มีใครบอกได้ เพราะพวกเราก็ไม่รู้ผลเหมือนกัน
- อุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ถ่ายทำ มีความละเอียดสูงในระดับ 4K
- แม้สัญญาณถ่ายทอดสดจะได้เต็มที่ 1080p แต่จะมีการให้กดดูย้อนหลังในระดับ 4K ได้หลังจากนี้ (คาดว่าสัปดาห์หน้า)
- ตลอด 3-4 ชั่วโมงของการถ่ายทอดสด ไม่มีเมมเบอร์ที่เน็ตหลุดจนต้อง login เข้าระบบใหม่เลย แม้แต่คนเดียว
- แม้จะต้องใช้ทีมงานจำนวนมาก แต่ทางอฟช.ก็มีการป้องกันเรื่องโควิด-19 ให้กับทุกคน มีการวัดอุณหภูมิ แจกหน้ากากอนามัยให้ทุกคน สร้างระยะห่าง Social Distancing รวมถึงทำความสะอาดสถานที่ตลอดเวลา
การประสานงานของทุกฝ่าย ผู้มีส่วนร่วมในงานนี้มากกว่า 100 ชีวิต
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไฟบ้านเมมเบอร์ดับ ?
จะทำยังไงถ้าอยู่ดีๆ แบตมือถือน้องหมด หรือเน็ตหลุด ?
ระหว่างทางของการวางระบบ เราต้อง list กรณีฉุกเฉินเหล่านี้ไว้ตลอดเวลา และต้องเตรียมทางแก้ไขเอาไว้ให้ครบถ้วน คืออย่างที่บอกว่างานนี้จะเละไม่ได้ เพราะความคาดหวังสูงมาก
ในเบื้องหลัง เราเตรียมทางแก้ไว้แทบจะทุกทาง เรามีเครื่องฉุกเฉินเอาไว้ ถ้าพวกเธอเน็ตหลุดจริงๆ ทีม AR ก็จะมีโทรหาเบอร์ฉุกเฉิน และต่อสายให้น้อง Phone-in เข้ามาในรายการได้จริง (โชคดีที่วันจริงไม่เกิดกรณีนี้)
นั่นแปลว่าคุณพ่อคุณแม่ หรือครอบครัวของเมมเบอร์เองก็ต้องช่วยพวกเราเป็นทีมเดียวกันไปด้วย
ในทีมงานทั้งหมด ยังมีตากล้อง, คนคุมเสียง, คุมกราฟฟิค, ดูแลภาพเมมเบอร์แต่ละคนก่อนขึ้นจอ, คนดูแล VTR, คนดูแลเพลงประกอบ ฯลฯ เมื่อรวมกับจำนวนเมมเบอร์ทั้งหมดแล้ว งานนี้มีผู้เกี่ยวของมากกว่า 100 คนเลยทีเดียว
บทสรุป
โดยสรุปแล้วการถ่ายทอดสดในครั้งนี้ แม้จะถูกสร้างขึ้นด้วยกรณีพิเศษจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 และเป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่างมาก แต่ก็ถือเป็นบททดสอบที่ท้าทาย ทั้งกับทีมงานเอง รวมถึงทีมอฟช.ของ BNK48 ที่ต้องฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
คนที่ต้องชื่นชมที่สุดในงานนี้ คงหนีไม่พ้นเด็กสาวทั้ง 66 คน ที่ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ในการร่วมซ้อม ร่วมงาน และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด การต้องนั่งอยู่กับที่ตลอด 4 ชั่วโมง โดยที่ต้องพร้อม และสวยตลอดเวลา ในขณะที่ต้องอยู่กับอารมณ์ที่หลากหลายมากๆ แต่พวกเธอก็ทำออกมาได้ดีมากเลยทีเดียว
รวมถึงความพยายามของแฟนคลับที่ร่วมแรงร่วมใจกันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ทีมงาน Mango Zero ขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทีมงานอฟช.ของ BNK48 (iAM) ที่ให้ความไว้วางใจ และร่วมสู้ไปกับพวกเราในการถ่ายทอดสดครั้งนี้ด้วยครับ
รับชมได้ที่ – AIS Play : BNK48 – 9th Single Senbatsu General Election
ฟังเพิ่ม – Podcast : เบื้องหลังงานเลือกตั้ง BNK48 ตอนที่ 1
เรียบเรียงโดย
ทีมงาน Mango Zero