ครม.เศรษฐกิจเคาะแล้ว มาตรการกระตุ้นฯ 3.16 แสนล้านบาท ชดเชยภัยแล้ง/เติมเงินบัตรคนจน/แจกเงินเที่ยวมาแน่
วันนี้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2562 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 316,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบกลางไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐราว 207,000 ล้านบาท และเงินกองทุนต่าง ๆ 5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าผลักดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 โดยเสนอชุดมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบใน 13 จังหวัดที่เป็นลูกหนี้กับธ.ก.ส. โดยจะแบ่งเป็นมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โครงการสินเชื่อใหม่และสินเชื่อ ฉุกเฉิน วงเงินเบื้องต้น 50,000 ล้านบาท ฟรีดอกเบี้ยปีแรก รายละไม่เกิน 50,000 บาท และเงินสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูและซ่อมแซม วงเงิน 5,000 ล้านบาท รายละไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการขยายเวลาการพักชำระหนี้เงินกู้เดิม เนื่องจากมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งจะมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตข้าวนาปี 2562/2563 ด้วย
2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนประเทศ ผ่านมาตรการท่องเที่ยว “ช้อป-ชิม-ใช้” ให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพริเคชั่นของธนาคารกรุงไทย โดยมีเป้าหมาย 10 ล้านคน สำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิจะเป็นประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยผู้ได้รับสิทธิจะได้รับเงินในช่องทางอีวอลเลท 1,000 บาท และสามารถนำเงินไปใช้จ่าย โดยวิธีการผ่านแอพฯ ได้ทันที และเมื่อใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ซื้อสินค้าท้องถิ่น ทานอาหาร พักโรงแรม ต่างๆ จำนวนไม่เกิน 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินคืน 15% เป็นต้น
3. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย ผ่านกลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะเพิ่มเงินช่วยเหลือ เพิ่มเป็น 500 บาทต่อราย จากเดิมผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 300 บาทต่อเดือน และผู้มีรายได้ 30,000-100,000 บาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาท ต่อเดือน ขณะที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท และให้เงินดูแลเด็กแรกเกิด เพิ่มอีกเดือนละ 300 บาท โดยการช่วยเหลือเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีระยะเวลา 2 เดือน คือ สิงหาคมกับกันยายนนี้เท่านั้น
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจงว่า “มาตรการต่างๆนี้มีการหารือกับสำนักงบประมาณมาโดยตลอด โดยคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถเดินหน้าเติบโต และบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ร้อยละ 3 ทั้งปี โดยเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 20 สิงหาคมนี้”