ช่วงนี้เป็นช่วงที่น้องๆ มหาวิทยาลัยเตรียมตัวจะเรียนจบ ส่วนน้องๆ มัธยมปลายหลายคนก็กำลังจะเตรียมตัวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แน่นอนว่าสิ่งที่น้องบางคนต้องเจอในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการเข้าไปอยู่ในหอพักเพื่อให้การเดินทางไปเรียน หรือไปทำงานแรกหลังจากเรียนจบสะดวกขึ้น
Mango Zero เลยขอชวนน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟรชชี่หรือเด็กจบใหม่ที่กำลังมองหาหอพัก มาดูสิ่งควรรู้ก่อนที่พวกคุณจะกลายเป็นเด็กหอในเร็วๆ นี้ มาเรียนรู้และเตรียมรับมือกันเถอะ!
เลือกย่านที่ต้องการอยู่
อันดับแรกที่ต้องรู้ก่อนก็คือ เราจะย้ายไปอยู่หอในย่านไหน ถ้าเป็นน้องๆ มหาวิทยาลัยก็จะง่ายขึ้นมาหน่อย คืออาจจะเลือกเป็นหอที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย แบบที่สามารถเดินหรือนั่งรถเมล์ไปถึงได้แค่เพียงไม่กี่ป้ายเท่านั้น ซึ่งสำหรับน้องมหาวิทยาลัยจะสามารถเลือกได้ว่าจะอยู่หอในหรือหอนอก ซึ่งทั้ง 2 แบบก็มีข้อดีแตกต่างกันออกไป
- หอใน คือหอที่ดูแลโดยมหาวิทยาลัยของน้องๆ มักจะมีราคาถูกกว่าหอนอก 1-2 เท่า อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยแบบที่เดินไปง่ายๆ มีสวัสดิการทุกอย่างให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ในห้อง เครื่องกดน้ำร้อน น้ำเย็น ร้านมินิมาร์ท โรงอาหาร ไวไฟฟรี แต่อาจจะแลกมาด้วยความเก่า ความทรุดโทรมภายใน และความไม่เป็นส่วนตัว เพราะน้อง ๆ จำเป็นต้องอยู่กันแบบมีรูมเมทนั่นเอง
- หอนอก จะตรงกันข้ามกัน เพราะเป็นหอที่ดูแลโดยเอกชน ราคาอาจจะแพงกว่าหอใน 1-2 เท่า และต้องใช้เวลาในการเดินทางอย่างน้อย 10 นาที แต่ข้อดีก็คือน้องๆ จะมีอิสระมากกว่า สามารถเลือกพักอยู่คนเดียวได้ และไม่ต้องวุ่นวายกับกฎระเบียบมากเท่าหอใน แต่แน่นอนว่าสิ่งอำนวยความสะดวกอาจจะไม่พร้อมเท่าหอใน ส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณไวไฟให้ใช้ฟรี ก็คือต้องซื้อแยก เพิ่มค่าใช้จ่ายมากเข้าไปอีก
ที่เล่ามาข้างบนเป็นในส่วนของน้องๆ มหาวิทยาลัย แต่ถ้าเป็นวัยทำงานเรื่องราวก็จะยากขึ้นมาอีกนิดนึง คือไม่สามารถอยู่หอในได้แล้ว (แหงแหละ) ดังนั้นจึงต้องเลือกเป็นหอนอกสถานเดียว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกหอสักที่คงหนีไม่พ้นการเดินทางสะดวก อยู่ติดรถไฟฟ้า โดยจากประสบการณ์การเฟ้นหาหอพักทั่วกรุงเทพฯ ของเรา ย่านที่มีหอพักให้เลือกมากที่สุดตามสถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ ได้แก่
- BTS ย่านยอดนิยมคือ ราชเทวี พญาไท อนุสาวรีย์ชัยฯ สะพานควาย วงเวียนใหญ่ อ่อนนุช พระโขนง สนามกีฬาแห่งชาติ ศาลาแดง วุฒากาศ
- MRT ย่านยอดนิยมคือ พระราม 9 ห้วยขวาง ศูนย์วัฒนธรรมฯ สุทธิสาร สีลม
- Airport Link ย่านยอดนิยมคือ รามคำแหง ลาดกระบัง
โดยปกติแล้วหอพักที่อยู่ใกล้เส้นรถไฟฟ้า ค่าเช่าจะอยู่ที่เดือนละ 3,500 ไปจนถึง 8,000 บาท ถ้าเป็นโซนในเมืองก็จะแพงกว่าหน่อย ตรงนี้แล้วแต่บุคคลว่าจะเลือกแบบที่เดินทางสะดวก หรือยอมเดินทางนานกว่าแต่ได้ค่าเช่าถูกกว่า ลองคำนวณความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับรายได้แต่ละเดือนกันดูจ้า!
เช็คค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต
นอกจากค่าเช่าที่สมเหตุสมผลแล้ว อีกอย่างที่ควรเช็คให้ดีก็คือวิธีการเก็บค่าน้ำค่าไฟของหอพักแต่ละแห่ง ทางที่ดีที่สุดคือเลือกหอพักที่เก็บค่าน้ำค่าไฟตามอัตราเดียวกับภาครัฐ ถ้าหอไหนที่ใช้วิธีการเก็บค่าน้ำแบบรายหัว (เช่น อยู่ 2 คน คิดคนละ 200 บาท ตกเดือนละ 400 บาท) ฟรือเก็บค่าไฟแบบคิดเป็นหน่วยที่กำหนดเอง ก็ปัดตกไปได้เลย นี่มันโกงกันชัดๆ
อย่างที่บอกไปว่าสัญญาณไวไฟของหอแต่ละแห่งนั้นมักจะไม่รวมอยู่ในค่าเช่าห้อง ดังนั้นต้องเช็คให้ดีว่าหอที่เราจะเข้าไปอยู่มีการคิดค่าอินเทอร์เน็ตแบบไหน แพงเกินไปหรือเปล่า ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วค่าเน็ตที่จ่ายแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 500 บาท (เพราะสัญญาณเน็ตที่ซื้อจากหอพักมักจะใช้ได้แค่เครื่องเดียว ไม่คอมก็มือถือเท่านั้น) ถ้าแพงกว่านั้นก็แนะนำว่าให้ใช้เป็นไวไฟฮอตสปอต ต่อเอาจากสมาร์ทโฟนเอาเถอะ
สำรวจวิธีการเดินทาง
เมื่อกำลังจะย้ายเข้าไปอยู่หอ หรือเข้ามาอยู่หอในช่วงแรกๆ สิ่งที่ควรทำก็คือการสำรวจวิธีเดินทางในย่านนั้น ไม่ว่าจะเป็นในวันชิลล์ๆ เราสามารถนั่งรถเมล์สายไหนจากป้ายไหนได้บ้าง เดินจากหอไปสถานีรถไฟฟ้าใช้เวลากี่นาที ในวันรีบๆ ต้องเรียกวินจากตรงไหน หรือเรียกแกร็บไบค์ให้มารับตรงไหนได้แบบที่จะไม่มีเรื่อง จดกันไว้ดีๆ เลย
มองหาแหล่งอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านข้าวตามสั่ง และที่สำคัญก็คือตู้กดน้ำแบบหยอดเหรียญ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กหอต้องรู้ไว้ให้ดี โดยเฉพาะร้านอาหาร มีไว้หลายๆ ร้านก็ดีนะ เพราะแต่ละร้านอาจมีวันหยุด เวลาเปิด-ปิดที่ไม่เหมือนกัน
สะสมเหรียญ 10 บาทไว้ซักผ้า
เด็กหอกับเหรียญ 10 บาทก็เหมือนธอร์กับค้อนโยเนียร์ คือขาดกันไม่ได้เลยจริงๆ เพราะอะไร เพราะเราต้องซักผ้าแบบหยอดเหรียญ!! ถ้าเป็นตอนอยู่หอในมหาวิทยาลัย เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญมักจะได้สัมปทานมาจากเอกชน ซึ่งก็พ่วงมากับบริการแลกเหรียญ 10 บาท แต่พอมาอยู่หอนอกก็ต้องอาศัยทักษะการเก็บสะสมของเราเองนี่แหละ เครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญจะมีทั้งแบบหยอด 20 บาท ไปจนถึง 40 บาท แล้วแต่ความจุของเครื่อง เตรียมเหรียญ 10 บาทกันไว้ให้ดี แล้วอย่าลืม วิ่งไปจองเครื่องซักผ้าให้ทันด้วยนะ!
รับมือกับสัญญาณเน็ตช่วงดึกๆ
ช่วงดึกๆ ในย่านหอพัก อีกหนึ่งปัญหาที่เด็กหอมักจะเจอก็คือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยได้คุณภาพ เนื่องจากคนใช้พร้อมกันเยอะแล้วเกิดแย่งสัญญาณกัน บางครั้งช้าบ้างเร็วบ้าง ดูหนังไม่ได้ อัพโหลดไฟล์ไม่ไป อย่างแรกเลยก็คือทำใจร่มๆ เอาไว้ก่อน เพราะมันก็จะเป็นๆ หายๆ แบบนี้นี่แหละ และถ้าในกรณีที่ต้องการใช้เน็ตแบบเร่งด่วน ทำใจร่มๆ มันไม่ไหว ก็แนะนำว่าหาร้านกาแฟสักร้านที่สามารถใช้ไวไฟได้ แล้วก็พุ่งไปโลดจ้า
เตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต
ตั้งแต่อุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ ที่ต้องซื้อใหม่ทั้งหมด เช่น ไม้กวาด ไม้ถูพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ ผงซักฟอก รวมไปถึงถ้วยชาม ช้อนส้อม และที่จำเป็นสุดๆ ไปเลยก็คือกาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า เพราะหอพักส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้ประกอบอาหาร ดังนั้นไอเท็มช่วยชีวิตในตอนดึกๆ ก็คือกาต้มน้ำไฟฟ้ากับบะหมี่สักซองนี่แหละ (แต่อย่าทานบ่อยๆ นะ โซเดียมเยอะจ้า)
ทำความรู้จักบ้านใกล้เรือนเคียง
ผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน เจ้าของหอพัก หรือเพื่อนที่พักอยู่ใกล้ๆ เอาไว้จะเป็นการดี เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอะไร พวกเขาเหล่านี้นี่แหละที่จะสามารถช่วยเหลือเราได้อย่างทันท่วงที สมมติเกิดปวดท้องกะทันหัน ไปโรงพยาบาลเองไม่ไหว จะให้รอพ่อแม่มาจากบ้านเพื่อรับไปโรงพยาบาล บางทีมันก็ไม่ทันหรอก
อย่าลืมครอบครัว
ข้อสุดท้ายฝากไว้สำหรับทั้งน้องๆ มหาวิทยาลัยและคนวัยทำงานว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ การออกมาอยู่ข้างนอกมันให้อิสระอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน บางครั้งมันอาจจะทำให้เรามัวแต่สนุกอยู่กับเพื่อนฝูงจนลืมคนที่อยู่ข้างหลังไป ยังไงก็อย่าลืมหาเวลาโทรไปคุยกับที่บ้าน ปักหมุดแชทไว้บนสุด ทักไปคุยกันบ่อยๆ หรือถ้ามีเวลาในวันหยุดก็กลับไปหาพวกท่านกันบ้างนะ