Mango Zero

7 พฤติกรรมไม่ควรทำบนรถไฟฟ้า

บ่อยครั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT ทีไรต้องเจอสถานการณ์น่าปวดหัวโดยเฉพาะช่วงเวลายอดฮิตที่ชาวออฟฟิศพร้อมใจกันมาขึ้นรถไฟฟ้าในตอนเช้าและเลิกงานตอนเย็น นอกจากจะต้องฝ่าฝูงชนที่แออัดแล้ว ยังต้องมารับมือกับพฤติกรรมชวนเหนื่อยใจ

แม้ทาง BTS และ MRT จะมีกฏระเบียบและข้อห้ามในการใช้บริการรถไฟฟ้าอย่างชัดเจน แต่ก็อาจจะไม่ได้รับการใส่ใจและนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร ถ้าไม่อยากเจอสถานการณ์แย่ๆ ก็แค่เริ่มที่ตัวเราเอง มาดู 7 พฤติกรรมไม่ควรทำบนรถไฟฟ้า ที่ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือ การขึ้นรถไฟฟ้าก็จะไม่ใช่เรื่องน่าปวดหัวอีกต่อไป

1.ยืนพิงเสาเหมือนมีเราคนเดียวในขบวน 

เล่นโทรศัพท์มือเดียวมันไม่ถนัด แต่มือหนึ่งถือของ ถ้าอีกมือจับเสาก็จะไม่เหลือมือไว้ไถโทรศัพท์มือถือ ก็ยืนพิงมันซะเลยจะได้เล่นโทรศัพท์อย่างสบายใจ แต่ถ้าเราพิงเสาบนรถไฟฟ้า นั่นแปลว่าคนที่เหลือจะไม่มีที่ยึดเหนี่ยวร่างกาย เวลารถเคลื่อนที่ไปก็อาจจะล้มไปใส่คนข้างๆ ได้ อดทนยืนจับเสาและแบ่งให้คนอื่นได้จับด้วยดีกว่า

2.ทำทุกอย่างให้ได้ที่นั่ง

เข้าใจว่าทำงานมาเหนื่อย มันเมื่อยมันล้าอยากทิ้งตัวลงบนเก้าอี้จะแย่แล้ว ถ้าเข้าไปแล้วมีที่นั่งก็โชคดีไป แต่ถ้าอยู่ในช่วงแออัด จะรีบวิ่งเข้าไปแย่งชิงที่นั่งประหนึ่งว่าที่นั่งข้าใครอย่าแตะก็เกินไป บางทีอาจจะไปชนผู้โดยสารคนอื่นๆ ได้ ทางที่ดีก็ต่อแถวแล้วค่อยๆ เข้าไปลุ้นว่าจะได้นั่งหรือเปล่า บางทีอาจจะมีคนใจดีลุกให้เรานั่งก็ได้

3.นั่งที่นั่งสำรอง ไม่มองซ้ายขวา 

บนรถไฟฟ้าจะมีที่นั่งสำรองสำหรับภิกษุ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และเด็ก ซึ่งเราควรเว้นที่ตรงนั้นไว้เพื่อที่เมื่อคนเหล่านั้นขึ้นมาบนรถไฟฟ้าจะได้มีที่นั่ง แต่ในช่วงเวลาคับขันและคนเต็มขบวน ถ้ามองซ้ายมองขวาแล้วไม่มีคนนั่ง เราอาจจะนั่งได้ถ้าจำเป็น แต่ก็อย่านั่งเพลินจนลืมมองสิ่งแวดล้อม ถ้าบุคคลที่ควรได้รับที่นั่งขึ้นมาบนรถไฟฟ้าเมื่อไหร่ เราต้องพร้อมลุกให้ทันที

4.แถวยาวไปไม่ต่อ (รูปวิ่งเข้ารฟฟ ในขณะที่แถวยาวมาก)

พบเจอได้บ่อยในช่วงที่แถวยาวจนมองไม่เห็นหางแถว ก็ไปยืนแถวหน้าๆ แล้วทำเนียนเบียดเข้าไปพร้อมคนข้างหน้าซะเลย แต่ไม่ว่าจะรีบแค่ไหนก็ไม่แนะนำให้ทำ เพราะคนอื่นๆ ก็มีธุระและจำเป็นต้องใช้รถไฟฟ้าเหมือนกัน 

5.ใช้ลิฟต์แบบไม่สนใจใคร 

ลิฟต์ที่ในสถานีบีทีเอสจะมีทั้งสำหรับผู้พิการ และบุคคลทั่วไป แม้เราจะใช้ลิฟต์สำหรับคนทั่วไปได้อย่างสบายใจ แต่ก็ควรเอื้อเฟื้อให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีสัมภาระเยอะ ที่มาร่วมใช้ลิฟต์นี้ ให้เข้าถึงลิฟต์นี้ได้อย่างทั่วถึงเช่นกัน

6.คุยโทรศัพท์เสียงดัง เหมือนอยากให้คนอื่นฟังด้วย

หลายครั้งที่เราอาจมีธุระติดพัน หรือต้องคุยโทรศัพท์ในระหว่างโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรใช้เสียงในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่คุยเสียงดังอย่างมีอรรถรสเหมือนมีเราคนเดียวในขบวน เพราะมันจะเป็นการรบกวนผู้โดยสารคนอื่น

7.ถ่ายรูปคนอื่นมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

ไม่ว่าบุคคลที่เราจะถ่าย จะหน้าตาดี จะมีอะไรน่าสนใจ หรือทำพฤติกรรมแย่แค่ไหน เราก็ไม่ควรถ่ายรูปเขามาลงโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะถ้าหากไม่ได้รับอนุญาต อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องกันได้