ดูเหมือนว่าปีนี้ ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ กลายเป็นหนึ่งในคำเตือนที่ทั้งกระทรวงสาธารณะสุข, กรมปศุสัตว์ และกรมควบคุมโรค ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากหลายพื้นที่ทั่วไทยรวมถึงกรุงเทพฯ เองเกิดการระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าในหมู่สุนัขจรจัดอย่างหนัก บางจุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว อีกทั้งปีนี้ถือว่าโรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนักสุดในรอบ 2 ปีเลยทีเดียว
สถานการณ์ปัจจุบันกับการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า
ทำไมเราถึงคิดว่าเรื่องนี้ควรตื่นตัวและชวนให้ตระหนกถึงความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าขนาดนี้ เนื่องจากว่าโรคพิษสุนัขบ้านั้นหากผู้ป่วยโดนกัดแล้วไม่ยอมไปรับวัคซีนเพื่อรักษาตามเวลาที่กำหนดมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตได้เลย จึงนับว่าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่อันตรายถึงชีวิต คนที่เสี่ยงก็มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่อให้สุนัขที่เลี้ยงไว้ก็เสี่ยงจะติดเชื้อถ้าไม่ได้รับการฉีดวัคซีน สถานการณ์ล่าสุดมีรายงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้
- ปัจจุบันมีพื้นที่สีแดงที่เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้าระบาด 22 จังหวัดได้แก่ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ อำนาจเจริญ ยโสธร สมุทรสงคราม และนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
- อีกกว่า 42 จังหวัดถูกจัดเป็นพื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง
- มี 21 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีเขียวไม่พบการระบาด
- มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย (ข้อมูลเมื่อ 2 มีนาคม 2561)
- ในกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อ 6 คน (ข้อมูลเมื่อ 6 มีนาคม 2561)
- ปีนี้นับเป็นปีที่มีโรคพิษสุนับบ้าระบาดมากที่สุดในรอบ 2 ปี
- กรมปศุสัตว์รายงานว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 ตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 315 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปี 2560 กว่า 2 เท่า
- ขณะนี้อยู่ในระหว่างเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ
การป้องกันตัวจากโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อโดนกัด
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะยังไม่โดนสุนัขกัด แต่สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งคนที่โดนสุนัขต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อกัด ข่วน หรือเลีย ทางกรมควบคุมโรคแนะนำแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้
- ล้างแผลทันทีด้วยน้ำ และฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้งถ้าแผลลึกล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที แต่อย่าให้แผลช้ำ
- ควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย
- เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรปิดปากแผล แต่หากเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มากควรปิดปากแผล
- ไปที่โรงพยาบาลเพื่อฉีดป้องกันบาดทะยัก รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่จะฉีดวัคซีน 3 เข็ม ระยะเวลาห่างกันโดยเข็มแรกกับเข็มที่สองห่างกัน 7 วัน ส่วนเข็มที่สามห่างจากเข็มที่แรก 21 ถึง 28 วัน บางรายแพทย์อาจจะนัดมาฉีดอีกรอบเพื่อกระตุ้นวัคซีนทุก 6 เดือนกรณีที่มีความเสี่ยงสูง
- หากเป็นไปได้ควรกักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน ถ้ามีอาการผิดปกติ หรือหนีไปให้สงสัยว่าป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
- หากสัตว์มีอาการปกติ ผู้ป่วยสามารถหยุดฉีดวัคซีนได้
- ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100% มีแต่การฉีดยาเพื่อป้องกันตามอาการ
อาการของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่ควรมองข้าม
อาการของผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อพิษสุนัขนั้นมีวีธีเฝ้าสังเกตอาการความผิดปกติที่ญาติหรือกระทั่งผู้ป่วยเองควรจะทราบไว้หลายอาการ หากมีอาการดังต่อไปนี้หลังจากโดนสุนัขกัด หรือแม้กระทั่งรับวัคซีนแล้วก็ตามควรรีบส่งตัวไปพบแพทย์ทันที
- ปวดแสบปวดร้อน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า
- มีไข้ หนาวสั่น
- หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
- ชัก
- ปวด หรือบวมบริเวณที่ได้ฉีดวัคคซีน(กรณีที่ฉีดวัคซีนแล้ว)
- ปวดหัว
- หายใจถี่ หรือหายใจลำบาก
- คอติด หรือมีอาการแขนและขาบวม
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- การมองเห็นผิดปกติ
สัตว์ที่เสี่ยงเป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้า
ไม่เพียงแต่สุนัขเท่านั้นที่มีอาการเสี่ยงจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าได้ทั้งนั้น โดยสัตว์ที่มีโอกาสเป็นพาหะนำโรคอันดับหนึ่งได้แก่ สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู และ ค้างคาว แต่ที่ประเทศไทยพาหนะที่แพร่เชื้ออันดับ 1 มาจากสุนัข คิดเป็นอัตราส่วนอยู่ที่ 94% จากสัตว์ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด