Mango Zero

ดีอีเอส เตือนชาวเน็ตและดารา-อินฟลูฯ ระวังการโพสต์ข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย เพราะมีความผิดตามกฎหมาย

20 ก.ค. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากกรณีสถานการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมและใช้โซเชียลมีเดีย กระทรวงดีอีเอส พบว่ามีการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย ทั้งหมด 147 ราย จากเฟซบุ๊ก 15 ราย ทวิตเตอร์ 132 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามข้อกฎหมายต่อไป

พร้อมทั้งเตือนผู้ใช้สื่อออนไลน์ให้เพิ่มความระมัดระวังในการโพสต์ เพราะการโพสต์หรือแชร์ข้อความเท็จ รวมถึงสร้างข่าวปลอมในระบบความพิวเตอร์ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

ทางกระทรวงดีอีเอส และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์ชุมนุมโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ที่สามารถสืบค้นถึงต้นโพสต์ได้แม้ไม่เปิดเผยตัวตน

นอกจากนี้ยังขอความกรุณากลุ่มดารานักแสดง และ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) อย่าใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะเป็นการบิดเบือนข้อมูล และสร้างเฟคนิวส์ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย

สำหรับการกล่าวว่ามีคนเสียชีวิตเพราะโควิดจำนวนมาก เนื่องจากความผิดในการจัดหาวัคซีนไม่ดีของรัฐบาล ขอให้นึกถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมา เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านตอนนี้

ด้านรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยโดยรวมของประเทศ จากการชุมนุมที่ผ่านมา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ผ่านมาหลายครั้ง โดยแจ้งว่าผู้ที่มีการชักชวน เชิญชวน ไม่ว่าด้วยประการหนึ่งประการใด ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสื่อโซเชียล จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกส่วนหนึ่งด้วย

รวมทั้ง ได้มีการประสานข้อมูลกับ รมว.ดีอีเอส เพื่อดำเนินการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานงานกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ

สำหรับการโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์หรือโซเซียลมีเดีย จะมีโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ม.14 (3) การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา dailynews