นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงกรณีเฟสบุ๊กออกแถลงการณ์ หลังจากกระทรวงดีอีเอสขออำนาจศาลเพื่อให้ปิดกั้นเพจที่ผิดกฎหมายว่า
เมื่อ 15 วันที่ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนถึงสื่อโซเชียล โดยขอให้ช่วยลบ และนำข้อความออก จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล โดยได้มีคำสั่งศาลแนบไปด้วย ซึ่งเฟซบุ๊กได้ลบให้ทั้ง 1,129 ยูอาร์แอล รวมถึงกลุ่มรอยัลลิสมาร์เก็ตเพลสที่มีข่าวไปก็อยู่ใน 1,129 รายการนี้ที่แจ้งไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งเฟสบุ้คได้ดำเนินการปิดกั้นในประเทศไทยแล้ว
รวมถึงมีการดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่ในกลุ่ม เพราะมีการมาโพสท์แล้วผิดกฏหมาย ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม ถ้ามีการแชร์ต่อ จริง ๆ แล้วทั้งคนที่โพสท์และคนที่แชร์ก็มีความผิด
นอกจากนี้วันนี้กระทรวงฯ ได้เตรียมส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลไปยังสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ เพื่อระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายอีก 1,024 รายการ (URL) แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 661 รายการ, ยูทูบ 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บอื่นจำนวน 5 รายการ
โดยทุกแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล นับจากวันที่ 25 ส.ค.นี้ไป ถ้ายังไม่มีการลบหรือไม่มีการดำเนินการใด ๆ เราก็ต้องดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลของไทย ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 27
นายพุทธิพงษ์ เสริมว่า “พรบ.คอมพิวเตอร์ ทางกระทรวงไม่ได้คิดเอง ไม่ได้ใช้ พรบ. ไปรังแกใคร เราใช้คำสั่งศาลภายใต้กฏหมายของประเทศไทย เราปกป้องอธิปไตยของไทย ซึ่งวันนี้อาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของพื้นที่ เป็นขอบเขตดินแดนเหมือนเดิม แต่เป็นอธิปไตยไซเบอร์ ซึ่งมันมาเร็วและเสียหายกับคนไทยต่อเนื่อง”
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามหากแพลตฟอร์มโซเชียลจะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีรัฐบาลไทย และกล่าวหารัฐบาลในการแทรกแซงบั่นทอนการลงทุนในไทย ในการให้บล็อกบัญชีเฟซบุ๊กมาจริง ทางกระทรวงฯก็มีทีมกฎหมายที่จะชี้แจงตามกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมีการฟ้องร้อง เพราะคำขอที่ขอไปได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากเจ้าของแพลตฟอร์ม อีกทั้งกระทรวงฯ มีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย และหากแอดมินของเพจที่ผิดกฎหมายจะเปิดเพจอีกกระทรวงฯก็จะดำเนินการอีกเช่นเดียวกัน
ส่วนที่บริษัทข้ามชาติจะมาลงทุนในเมืองหรือถอนการลงทุนในประเทศไทย ก็ถือเป็นสิทธิของบริษัทนั้นที่จะตัดสินใจ
ที่มา : thestandard, siamrath, @BeePunnakanta