ทุกวันนี้ “โรคซึมเศร้า” ได้รับการพูดถึงค่อนข้างมากในแวดวงการแพทย์และสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โรคซึมเศร้าได้เข้ามามีบทบาทต่อจิตใจคนแทบจะทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ จนทำให้บางครั้งความรุนแรงของโรคนี้นำไปสู่จุดจบอย่างการฆ่าตัวตาย
วันนี้ Mango Zero พาทุกคนมาเปิดสถิติเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและการรับมือของคนทั่วไปปี 2562 จากผู้ตอบผลสำรวจความคิดเห็นของเว็บไซต์สุขภาพ HonestDocs จำนวน 16,533 คนที่ชวนทำให้ตั้งคำถามว่า “ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับโรคนี้เพียงพอแล้วหรือยัง?”
จาก 16,533 คน 18% คิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้า
เมื่อคิดเป็นจำนวนคนแล้ว ใน 16,533 คน มีคนคิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 2,976 คน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนที่ระบุเพศและอายุด้วยรวม 4,811 คน จำแนกได้ดังนี้
- ช่วงอายุ 12-17 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 32%
- ช่วงอายุ 18-24 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 32%
- ช่วงอายุ 25-34 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 29%
- ช่วงอายุ 35-44 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 22%
- ช่วงอายุ 45-54 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 17%
- ช่วงอายุ 55-64 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 16%
- ช่วงอายุ 65 ขึ้นไป มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 11%
46% ไม่ได้ทำอะไรเมื่อคิดว่ากำลังเป็นซึมเศร้า
จากผู้ตอบแบบสอบถามข้อ “คุณใช้วิธีใดรักษาอาการซึมเศร้า?” 2,491 คน พบว่ามีจำนวนเกือบครึ่งหรือ 46% ที่ตอบว่าไม่ได้ทำอะไร ตามมาด้วยการหาข้อมูลออนไลน์ 25% พบคุณหมอ 11% ปรึกษาเพื่อนและครอบครัว 8% อื่นๆ 7% และโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 3%
อื่นๆ เช่น กิจกรรมสันทนาการ นอนพักผ่อน นั่งสมาธิ เจริญสติ ศึกษาธรรมะ เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง รักษาด้วยยาหรือสมุนไพร ช่วยตัวเอง ไปจนถึงใช้ยาเสพติด
ปัญหาใหญ่ที่สุดของโรคซึมเศร้า = คนรอบข้างไม่เข้าใจ
จากผู้ตอบคำถามที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 2,092 คน มีถึง 44% ที่คิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของการเป็นโรคซึมเศร้าคือคนรอบข้างไม่เข้าใจ ตามมาด้วยไม่ทราบว่าจะรับความช่วยเหลือได้อย่างไร 23% ไม่มีเงินรักษา 13% อื่นๆ 13% และไม่สามารถกินยาและบำบัดได้อย่างต่อเนื่อง 7%
อื่นๆ เช่น ไม่กล้าไปรักษาเพราะกลัวเสียประวัติ กลัวคนอื่นมองไม่ดี ไม่มีเวลา เป็นต้น
ผู้หญิงรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยมากกว่าผู้ชาย
ในผู้ตอบคำถาม 1,053 คน ผลสำรวจแบบแยกเพศพบว่า 54% ของเพศหญิงคิดว่าตัวเองรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง ส่วนเพศชาย ผู้ที่คิดว่าตัวเองรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้องมีประมาณ 48%
วัยรุ่นรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยมากกว่าวัยอื่นๆ
ในผู้ตอบคำถามจำนวน 1,053 คน กับคำถาม “คุณรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้องหรือไม่?” สามารถจำแนกคำตอบตามอายุได้ดังนี้
- ช่วงอายุ 12-27 ปี มีผู้คิดว่ารู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง 52%
- ช่วงอายุ 18-24 ปี มีผู้คิดว่ารู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง 58%
- ช่วงอายุ 25-34 ปี มีผู้คิดว่ารู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง 55%
- ช่วงอายุ 35-44 ปี มีผู้คิดว่ารู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง 46%
- ช่วงอายุ 45-54 ปี มีผู้คิดว่ารู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง 44%
- ช่วงอายุ 55-64 ปี มีผู้คิดว่ารู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง 44%
- ช่วงอายุ 65 ขึ้นไป มีผู้คิดว่ารู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง 43%
จะเห็นว่ากลุ่มคนอายุ 18-24 ปี หรือกลุ่มวัยรุ่น เป็นวัยที่รู้จักโรคซึมเศร้ามากที่สุด ซึ่งอาจมองย้อนไปถึงสถิติที่บอกว่ามีถึง 32% ของคนกลุ่มนี้ที่คิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้คนวัยนี้มีความตระหนักต่อโรคนี้มากที่สุดนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : HonestDocs
เพิ่มเติมคือทุกคนสามารถเข้าไปทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้า ประเมินตนเอง และสังเกตคนรอบข้างได้ที่นี่เลย!!