ประเทศไทยเพิ่งราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย คดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ นับเป็นการประหารชีวิตรายแรก ในรอบ 9 ปีอีกด้วย อย่างที่รู้กันว่า โทษประหารชีวิตถือเป็นบทลงโทษหนักสุดตามกฎหมายประเทศไทยและทั่วโลก
การลงโทษครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามมากมาย เพราะประเทศไทยเหลือเวลาอีก 1 ปีเท่านั้น จะเป็นประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที เพราะไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน เท่ากับว่าจะเป็นอีกก้าวที่จะนำไปสู่ประเทศที่พัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนนั่นเอง แต่หลายคนก็เห็นด้วยกับบทลงโทษครั้งนี้ เพราะจะได้เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้คนไม่กล้าทำผิด
โทษประหารชีวิต เป็นบทลงโทษที่ทั่วโลกบังคับใช้กับผู้กระทำผิดทางอาชญากรรม แต่มีบางประเทศที่ได้ยกเลิกไปแล้ว มาดูกันว่ามีประเทศอะไรบ้าง
- 104 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท
- 7 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป
- 30 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ
- 141 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ
- 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต
5 ประเทศ ประหารชีวิตมากที่สุดในโลก ปี 2559
- ประเทศจีน
- อิหร่าน
- ซาอุดิอาระเบีย
- อิรัก
- ปากีสถาน
จากรายงานของแอมเนสตี้ เปิดเผยว่า ประเทศจีนได้จัดข้อมูลเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ให้เป็น “ความลับของชาติ” ทำให้ข้อมูลการประหารชีวิตหลายร้อยกรณีไม่ได้ถูกรวมในฐานข้อมูลออนไลน์ของศาลแห่งชาติ ซึ่งจีนมักอ้างว่าฐานข้อมูลนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าไม่มีความลับที่ต้องปกปิดในระบบยุติธรรมของประเทศ
แล้วเกือบ 80% ของการประหารชีวิตทั่วโลก เกิดขึ้นใน 3 ประเทศ คือ อิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบีย ส่วนประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ มี 2 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ขณะที่ ลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ และประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตแล้ว 325 รายแบ่งเป็น
- การใช้อาวุธปืนยิง 319 ราย (ยิงรายสุดท้ายเมื่อ 11 ธันวาคม 2546)
- การฉีดยาสารพิษ 6 ราย (ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2546 / ครั้งล่าสุดเมื่อ 24 สิงหาคม 2552)
การประหารชีวิต ถือเป็นโทษทางอาญาที่หนักสุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง
- ปรับ
- ริบทรัพย์สิน
- กักขัง จำคุก
- ประหารชีวิต
สำนักงานกิจการยุติธรรม ยังได้ชี้แจง 7 พฤติกรรมการฆ่าที่ต้องรับโทษหนักด้วยการประหารชีวิตไว้ ดังนี้
- การฆ่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวดที่สืบสายโลหิตโดยตรง
- การฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำตามหน้าที่
- การฆ่าโดยทรมานหรือทารุณโหดร้าย
- การฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ได้ทำตามหน้าที่ หรือฆ่าบุคคลที่กำลังจะช่วยเหลือ หรือได้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน
- การฆ่าเพื่อเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์ หรือเพื่อปกปิด หลีกเลี่ยงให้ตนพ้นความผิด
- การฆ่าเพื่อเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด
- การฆ่าโดยไตร่ตรอง คิด ทบทวน วางแผน ก่อนจะลงมือฆ่า เช่น จ้างวานฆ่า
ประเทศไทยประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2561 ถือเป็นรายแรกในรอบ 9 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต หากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกันทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที เท่ากับว่าจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง
การประหารชีวิตในครั้งนี้หวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือทำผิดกฎหมาย ได้ตระหนักถึงบทลงโทษนี้แล้วหันมาทำความดีในสังคม
ที่มา : amnesty