ประเทศไทยเพิ่งราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย คดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ นับเป็นการประหารชีวิตรายแรก ในรอบ 9 ปีอีกด้วย อย่างที่รู้กันว่า โทษประหารชีวิตถือเป็นบทลงโทษหนักสุดตามกฎหมายประเทศไทยและทั่วโลก การลงโทษครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามมากมาย เพราะประเทศไทยเหลือเวลาอีก 1 ปีเท่านั้น จะเป็นประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที เพราะไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน เท่ากับว่าจะเป็นอีกก้าวที่จะนำไปสู่ประเทศที่พัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนนั่นเอง แต่หลายคนก็เห็นด้วยกับบทลงโทษครั้งนี้ เพราะจะได้เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้คนไม่กล้าทำผิด โทษประหารชีวิต เป็นบทลงโทษที่ทั่วโลกบังคับใช้กับผู้กระทำผิดทางอาชญากรรม แต่มีบางประเทศที่ได้ยกเลิกไปแล้ว มาดูกันว่ามีประเทศอะไรบ้าง 104 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท 7 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป 30 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ 141 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต 5 ประเทศ ประหารชีวิตมากที่สุดในโลก ปี 2559 ประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก ปากีสถาน จากรายงานของแอมเนสตี้ เปิดเผยว่า ประเทศจีนได้จัดข้อมูลเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ให้เป็น “ความลับของชาติ” ทำให้ข้อมูลการประหารชีวิตหลายร้อยกรณีไม่ได้ถูกรวมในฐานข้อมูลออนไลน์ของศาลแห่งชาติ ซึ่งจีนมักอ้างว่าฐานข้อมูลนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าไม่มีความลับที่ต้องปกปิดในระบบยุติธรรมของประเทศ แล้วเกือบ 80% ของการประหารชีวิตทั่วโลก เกิดขึ้นใน 3 ประเทศ คือ อิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบีย ส่วนประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ มี 2 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ขณะที่ ลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ และประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่ จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตแล้ว 325 รายแบ่งเป็น การใช้อาวุธปืนยิง 319 ราย (ยิงรายสุดท้ายเมื่อ 11 ธันวาคม 2546) การฉีดยาสารพิษ 6 ราย (ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2546 / ครั้งล่าสุดเมื่อ 24 สิงหาคม 2552) การประหารชีวิต ถือเป็นโทษทางอาญาที่หนักสุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก ประหารชีวิต สำนักงานกิจการยุติธรรม ยังได้ชี้แจง 7 พฤติกรรมการฆ่าที่ต้องรับโทษหนักด้วยการประหารชีวิตไว้ ดังนี้ การฆ่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวดที่สืบสายโลหิตโดยตรง การฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำตามหน้าที่ การฆ่าโดยทรมานหรือทารุณโหดร้าย การฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ได้ทำตามหน้าที่ หรือฆ่าบุคคลที่กำลังจะช่วยเหลือ หรือได้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน การฆ่าเพื่อเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์ หรือเพื่อปกปิด หลีกเลี่ยงให้ตนพ้นความผิด การฆ่าเพื่อเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด การฆ่าโดยไตร่ตรอง คิด ทบทวน วางแผน ก่อนจะลงมือฆ่า เช่น จ้างวานฆ่า ประเทศไทยประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2561 ถือเป็นรายแรกในรอบ 9 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต หากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกันทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที เท่ากับว่าจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง การประหารชีวิตในครั้งนี้หวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือทำผิดกฎหมาย ได้ตระหนักถึงบทลงโทษนี้แล้วหันมาทำความดีในสังคม ที่มา : amnesty