ถึงเฟซบุ๊กจะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่อยู่กับเรามานาน แต่สำหรับคนที่อยากเริ่มเป็นเจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก อาจจะอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ชัดเจนจากคนที่มีประสบการณ์มาบ้างแล้ว วันนี้เราเลยรวบรวมคู่มือในการสร้างเพจมาสอนกันแบบขั้นตอนต่อขั้นตอน ใครที่เป็นมือใหม่ไม่ต้องกลัวจะทำตามไม่ได้มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน 🙂
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เราจะเปิดเพจได้ เราต้องมีบัญชีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองก่อน แล้วก็ลงมือตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
1. กดสร้างเพจ (Create Page)
ในหน้า News feed ของพวกเราทุกคนจะมีปุ่มสามเหลี่ยมคว่ำที่มุมบนขวา เมื่อกดเข้ามาจะเจอคำว่า Create Page ให้กดเข้าไปได้เลยจ้า
2. เลือกประเภทเพจ (Catagory)
เมื่อกด Create Page แล้วเฟซบุ๊กจะพาเรามาที่หน้านี้ เป็นการเลือกประเภทของเพจที่เราอยากสร้างขึ้นมา ซึ่งก่อนจะสร้างเพจเราก็ต้องตั้งวัตถุประสงค์ไว้ก่อนแล้ว ว่าจะสร้างเพจขึ้นมาเพื่ออะไร, บางคนอาจสร้างเพจเพื่อส่งเสริมธุรกิจ บางคนอาจสร้างเพจสำหรับหน่วยงานหรือบริษัทที่ตัวเองทำงานให้, อาจเป็นเพจสำหรับขายสินค้า, หรืออาจเป็นเพจส่วนตัวคล้ายๆ บล็อก ก็ได้
ในที่นี้เราขอเลือกเป็นเพจสำหรับเขียนบล็อกละกันนะคะ ก็จะเลือกเป็น Blogger นะ
3. ตั้งชื่อเพจ
ขั้นตอนต่อมาหลังจากเลือกประเภทเพจแล้ว ก็มาตั้งชื่อเพจกันเลย ซึ่งชื่อเพจจะเป็นภาษาอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เมื่อตั้งชื่อเพจได้แล้วก็กด Get Started กันเลย เป็นอันว่าเพจของเรามีตัวตนแล้วนะ 🙂
4. ตั้งรูป Profile และ Cover
เมื่อได้เพจมาแล้ว เราก็มาจัดการเพิ่มภาพโปรไฟล์และภาพปกกันเลยย โดยภาพโปรไฟล์ก็จะเป็นอัตราส่วน 1:1 และสำหรับภาพปกก็จะแนะนำให้ใช้ขนาด 828 X 315 พิกเซลนะคะ ภาพที่ใช้ก็ควรจะเป็นตัวแทนเพจเราให้ดีที่สุด อย่างสมมติว่าเพจเกี่ยวกับมะม่วงก็เอารูปที่สื่อถึงมะม่วงให้ชัดเจนไปเลย เมื่อคนเข้าเพจมาจะได้รู้ทันทีว่านี่เป็นเพจเกี่ยวกับอะไร
หรือถ้าใครเปิดเพจขายสินค้า แล้วมีช่วงโปรโมชั่นลดราคา ก็ทำภาพโปรโมชั่นเป็นปกไปเลย คนเข้ามาเห็นจะได้สะดุดตา เป็นต้น
5. ใส่ข้อมูลเพจ (About)
หลายๆ คนที่ทำเพจอาจจะหลงลืมขั้นตอนนี้ไป ก็คือการใส่ข้อมูลเกี่ยวกับเพจของเรานั่นเอง ซึ่งจะต้องใส่ตั้งแต่ว่า เราเป็นใคร มีข้อมูลติดต่อทางไหนบ้าง เป็นต้น
- Username : การตั้งชื่อ Username จะต้องตั้งเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50 ตัวอักษร และต้องเป็นชื่อที่ไม่ซ้ำกับเพจอื่น เมื่อเราตั้งแล้วชื่อนี้จะกลายเป็นลิงค์ url ของเพจเราด้วย เช่น ถ้าพิมพ์ว่า www.facebook.com/thislittlemango ก็จะสามารถลิงค์มาในเพจเราได้เลย
6. เพิ่ม Add a Button
ในหน้าแรกของเพจเราที่ด้านขวามือจะมีปุ่ม Add a Button ให้เราสามารถเลือกให้ลิงค์ไปยังที่อื่นๆ ได้ (Call-to-action)
อย่างเช่น
ถ้าเลือก Call now จะเป็นฟังก์ชั่นที่เห็นได้เฉพาะบนมือถือ และเมื่อลูกเพจมากดปุ่ม Call now ก็จะเป็นการโทรติดต่อเราโดยที่ไม่ต้องออกจากหน้าเฟซบุ๊กเลย โดยข้อมูลเบอร์โทรต่างๆ ก็คือข้อมูลเดียวกับที่เราใส่ใน About ในขั้นตอนที่ 5 นั่นแหละ
ขอเลือกยกตัวอย่างเป็น Send Message ให้ดูละกันนะคะ
7. การตั้งค่า Inbox
หลังจากเราตั้งค่าปุ่ม Add a Button เป็น Send Message แล้ว เฟซบุ๊กจะมีหน้า Instant Replies ขึ้นมาให้เรา (ซึ่งจะตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้) ขั้นตอนนี้จะเหมาะกับเพจที่อยากจะตอบกลับคนที่ส่งข้อความเข้ามาทันที
มาดูกันว่าทำงานยังไง..
อันนี้เป็นหน้าตาของกล่องข้อความที่ลูกเพจจะเห็นเวลาจะส่งข้อความหาเรา ซึ่งคำอธิบายด้านล่างก็มาจากที่เราตั้งค่าไว้ใน About ในขั้นตอนที่ 5 เช่นเดิม
- เราสามารถดูข้อมูลเบื้องต้นของลูกเพจที่ทักเข้ามาได้
- เราสามารถ note เอาไว้ได้ด้วยว่าคนนี้ทักมาเกี่ยวกับอะไร เช่น ‘ลูกค้าที่ติดต่ออยากลงโฆษณาจากบริษัท A’ เป็นต้น
- ข้อความ Instant Replies คือข้อความตอบกลับอัตโนมัติที่เราได้ตั้งค่าเอาไว้
- ปุ่ม Action จะทำให้เราสามารถเลือกตั้งข้อความนั้นๆ ได้ ว่าอ่านแล้ว หรือว่าเป็นข้อความสแปม เป็นต้น
8. ดู Insights
ข้อดีของเฟซบุ๊กอีกอย่างก็คือ เราสามารถดูสถิติโพสต์ต่างๆ ที่เราลงไปได้ด้วย ว่าโพสต์แบบไหนคนชอบ แบบไหนคนเข้ามากดไลก์กดแชร์คอมเมนต์เยอะๆ ซึ่งเมื่อเรามีข้อมูลเหล่านี้เราก็จะได้วางแผนเนื้อหาในเพจของเราได้ว่าลูกเพจของเราสนใจเนื้อหาแบบไหน
เช่นเดียวกัน เราสามารถดูได้ด้วยว่าลูกเพจที่ติดตามเรา เป็นใครมาจากไหนบ้าง ดูว่าเป็นเพศไหนจำนวนเท่าไหร่ อายุอยู่ระหว่างวัยไหน และมาจากพื้นที่ไหน เป็นต้น
9. โหลด แอปฯ Facebook Pages Manager
แน่นอนว่ายุคนี้เราคงไม่ได้เปิดคอมกันตลอดเวลา และมือถือของพวกเราก็สามารถทำงานได้ทุกสิ่งอย่าง สำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ก็อาจจะต้องจัดการเพจผ่านมือถือกันเป็นประจำ เราเลยควรจะมีแอปฯ Facebook Pages Manager ไว้ติดเครื่องกัน เพื่อจะได้จัดการเพจได้อย่างชำนาญ
โหลดสำหรับ iOS : itunes.apple.com
โหลดสำหรับ Android : play.google.com