ธุรกิจโรงหนังที่รุ่งเรือง ไม่ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวแค่ไหนก็ยังเป็นความบันเทิงและที่พักใจให้กับใครหลายคน จนถึงช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่กระหน่ำซ้ำเติมโรงหนังซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขาต้องเจออุปสรรคอะไร และรับมือเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ยังไงบ้าง Mango Zero จะมาเล่าให้ฟัง
ปัญหาและความเสียหายที่โรงหนังต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้
ไม่ว่าจะมีการระบาดระลอกไหน โรงหนังก็มักจะเป็นธุรกิจที่ต้องปิดให้บริการเสมอ
ทางบริษัท เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่าโควิด-19 กระทบธุรกิจโรงหนังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โรงหนังต้องปิดให้บริการชั่วคราวเป็นครั้งแรก ผลกระทบที่ตามมาคือขาดรายได้ แต่ยังคงมีรายจ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งค่าใช้จ่ายในแต่ละสาขา และพนักงานอีกหลายชีวิต
ด้วยความที่โรงหนังเป็นสถานที่ปิด และมีคนจำนวนมาก แม้จะมีมาตรการป้องกัน แต่ความเชื่อมั่นของคนดูก็ลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขจำนวนผู้มาใช้บริการโรงหนัง SF ที่ลดลง ประกอบกับสตรีมมิ่งที่ผู้ชมสามารถดูหนังอยู่บ้านได้ แม้จะไม่ได้รับประสบการณ์เทียบเท่าโรงหนังก็ตาม
ทางด้าน Major Cineplex ธุรกิจโรงหนังที่เติบโตมาตลอดหลายปี ก็ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี โดยรายได้ในปี 2563 ลดลง 65% เทียบกับปี 2562 และขาดทุนกว่า 500 ล้านบาท ส่วนในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขาดทุนลดลง อยู่ที่ 120 ล้านบาท
มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อโรงหนังยังไงบ้าง?
การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 SF Cinema ประกาศปิดให้บริการโรงหนัง 64 สาขา ทั่วประเทศ
แม้ในต้นปี 2564 สถานการณ์เหมือนเริ่มจะดีขึ้น แต่ก็ต้องเจอกับการแพร่ระบาดอีกระลอก โรงหนังจึงต้องปิดให้บริการตามมาตรการภาครัฐ
ตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค. 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม Major จึงต้องปิดโรงหนังในจังหวัดดังกล่าว คิดเป็นกว่า 70% ของโรงหนังในเครือทั่วประเทศ
การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์วิกฤติ
เมื่อโรงหนังสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ ทาง SF ก็พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด จัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่าง
นอกจากนี้ทางโรงหนังก็ปรับรูปแบบการดูหนังให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และความปลอดภัยของคนดูมากขึ้น เช่น ทั้ง SF และ Major เปิดตัว Drive-in Cinema ฉายหนัง ให้คนดูนั่งดูหนังในรถส่วนตัวแบบไม่ต้องสตาร์ทรถ พร้อมมีแอร์ให้บริการในรถ รวมทั้งป๊อปคอร์นและน้ำให้ได้อรรถรสเหมือนดูในโรงหนัง
Major Cineplex ก็ยังคงเสิร์ฟอรรถรสในการดูหนังด้วยการเปิดขายป็อปคอร์นแบบเดลิเวอรี่ และแบบสำเร็จรูปผ่านช่องทางต่าง ๆ
ใครคิดถึงฟีลกินป๊อปคอร์นในโรงหนัง ก็สามารถสั่งมากินที่บ้านได้ แถมยังเป็นการสนับสนุนโรงหนังอีกทางด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพื่อหาทางรอดเหล่านี้ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รายได้กลับมาเหมือนเดิม ตราบใดที่โรงหนังยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มที่ แต่เหล่าผู้บริหารก็ยังพยายามกันอย่างเต็มที่ ในการประคับประคองธุรกิจ รอวันที่โรงหนังจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
มาตรการของโรงหนังในยุคโควิด-19 ความปลอดภัยต้องมาก่อน
โรงหนังเปิดได้ แต่ไม่เหมือนเดิม เพราะต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้ให้บริการโรงหนังก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งมาตรการหลัก ๆ เพื่อความปลอดภัย ที่อาจกลายเป็น New Normal ของโรงหนัง มีดังนี้
สำหรับลูกค้าและพนักงาน
- ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าก่อนเข้าชม หากอุณหภูมิเกิน จำเป็นต้องงดดูหนัง พร้อมคืนเงินเต็มจำนวน
- ลูกค้าต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการใช้บริการ
- ตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานก่อนเริ่มปฏิบัติ
- พนักงานสวมหน้ากากอนามัยตลอดการปฏิบัติงาน (หากใกล้ชิดลูกค้า ต้องใส่ Face Shield) และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่ให้บริการ
- พนักงานที่สัมผัสอาหาร เงินสด และการ์ด ต้องสวมถุงมือ มีถาดวางเพื่อลดการสัมผัสกับลูกค้า
- สนับสนุนให้ลูกค้าเช็ครอบหนัง และซื้อบัตรผ่านทางออนไลน์
สำหรับสถานที่
- ลดความแออัดของจุดให้บริการต่าง ๆ
- มีฉากกั้นส่วนลูกค้ากับพนักงาน
- มีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการทุกจุดให้บริการ
- กำหนดระยะห่างที่นั่ง 2 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง แบบสลับฟันปลา
- ทำความสะอาด Box Office และฆ่าเชื้อโรงหนังทุกวันหลังปิดให้บริการ
การเตรียมพร้อมเพื่อคนดู และรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต
SF เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการโรงหนังเสมอ โดยให้ความสำคัญกับหนังที่จะเข้าฉาย เพื่อดึงดูดให้คนดูกลับมาดูหนัง โดยการนำหนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องมาฉายทั้งของไทยและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมี The Bed Cinema by Omazz ที่ยกเครื่องนอนระดับโลกมาไว้ในโรงหนัง เตรียมพร้อมให้บริการลูกค้าที่ต้องการบรรยากาศดูหนังอยู่บ้านแบบ Modern Luxury คุณภาพแสง สี เสียง จัดเต็ม พร้อมการทำความสะอาดตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
ส่วน Major วางแผนปรับตัวเป็น Content Provider ที่ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ซึ่งก็คือหนังที่เข้าฉาย ให้ตอบโจทย์เพื่อดึงดูดคนมาดูหนังที่โรง รวมถึงการลงทุนสร้างหนังเอง เพื่อให้มีคอนเทนต์รองรับ โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่มีหนังจากต่างประเทศ
ที่มา