ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ช่วงนี้ฝนตกหนักได้ทำให้ระบบทางเดินหายใจในร่างกายมนุษย์ ซึ่งใช้ป้องกันเชื้อโรคตามธรรมชาติเกิดความบกพร่อง ไม่ใช่เฉพาะเชื้อโควิดเท่านั้นที่จะแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย แต่จะมีไวรัสตัวอื่นๆ มาพร้อมกับน้ำฝน อากาศ และความชื้น
หากป้องกันตัวเองไม่ดี ทำให้เป็นหวัด มีอาการไอ และปอดบวม ยิ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายซับซ้อนมากขึ้น จนแยกไม่ออกว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่ หากมีการติดเชื้อไวรัสตัวอื่น หรืออาจมีการผสมปนเปกับเชื้อโควิดไปด้วย
“หากเราไม่สบาย ไปเจอไวรัสตัวอื่น อาจมีโอกาสติดเชื้อโควิดได้ง่าย เนื่องจากระบบป้องกันในร่างกายอ่อนแอลง ดังนั้นหากไวรัสเข้าสู่ร่างกายพร้อมๆ กัน ทำให้รู้สึกเป็นกังวลกลัวคนติดเชื้อโควิดไม่แสดงอาการ จะเป็นพาหะแพร่เชื้อในช่วงนี้ที่ฝนตกหนัก จนเกิดการติดเชื้อโควิดภายในประเทศ แม้อาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากบางคนร่างกายแข็งแรง หากติดเชื้อโควิดจนพ้นเวลา 20-30 วัน อาจจะหายไปเอง แต่ในช่วงระหว่าง 20-30 วัน อาจปล่อยเชื้อให้กับเพื่อนในที่ทำงาน และคนอื่นในที่สาธารณะ จนมีการแพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ หากไปติดคนที่อ่อนแอ เช่น คนที่เป็นโรคประจำตัว หรือคนแก่ จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่า ตรงนี้น่ากลัวมาก”
นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดรอบสอง จากการเปิดโรงเรียนแบบเต็มพิกัด เนื่องจากเด็กๆ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ เมื่อมีการเปิดเรียนทำกิจกรรมต่างๆ อาจมีการแพร่เชื้อได้ง่าย เป็นสภาวะที่เอื้ออำนวยในการแพร่ระบาดของโรค
พร้อมกับการตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าเชื้อโควิดทนร้อน ทนหนาว ทนฝน ผ่านไปทุกฤดู ไม่มีทีท่าจะทุเลาลง หรือชะลอการแพร่ระบาด เพราะฉะนั้นขอทุกคนอย่าการ์ดตกเป็นอันขาด
ที่มา : Thairath