จากกรณีที่พบชายชาวญี่ปุ่นวัย 47 ปีเดินทางกลับจากไทย แต่ตรวจพบการติดเชื้อ COVID-19 ที่สนามบินนานาชาติฮาเนดะ โดยตรวจทางน้ำลาย กรมควบคุมโรคเร่งประสานตรวจสอบที่อยู่ และผู้สัมผัสใกล้ชิดในกทม. เพื่อสอบสวนโรค นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบชายชาวญี่ปุ่นติดเชื้อ COVID- 19 หลังเดินทางกลับจากไทย เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้น พบว่ากรณีที่มีผู้เดินทางจากไทยไปญี่ปุ่น ตรวจพบการติดเชื้อ COVID-19 มี 2 เหตุการณ์ ดังนี้ รายแรกเป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 24 ปี ทำงานก่อสร้างที่ญี่ปุ่น เดินทางกลับไทยวันที่ 7 ก.ค. เข้ารับการกักตัว จนถึงวันที่ 21 ก.ค. ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อทั้ง 2 ครั้ง จึงเดินทางกลับ จ.เชียงราย บ้านเกิด พักอยู่บ้านกับแม่เพียง 2 คน ไม่ได้เดินทางไปไหนจนวันที่ 29 ก.ค. ได้ไปเกณฑ์ทหารโดยปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคโควิดอย่างเคร่งครัด ต่อมาได้เดินทางไปญี่ปุ่นอีกครั้งวันที่ 31 ก.ค. ถึงท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการเก็บน้ำลายส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลเป็นบวก และถูกส่งเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ หลังทราบผลได้แจ้งให้แม่ที่จ.เชียงรายทราบ จากนั้นแม่ จึงไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล ผลไม่พบเชื้อทางสาธารณสุข จ.เชียงราย ได้ติดตามผู้สัมผัสที่เป็นเพื่อน 3 คน และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 28 คน รวม 32 คน ผลไม่พบเชื้อทั้งหมด และในวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้แจ้งมาทางกับครอบครัวว่า โรงพยาบาลในญี่ปุ่นตรวจซ้ำอีก 2 ครั้งหลังกักกัน 7 วัน ผลตรวจเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง และอนุญาตให้ออกจากสถานที่กักกัน ส่วนรายที่สอง เป็นเพศชาย สัญชาติญี่ปุ่น อายุ 47 ปี เดินทางจากไทยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ได้รับการตรวจน้ำลายหาเชื้อที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ ผล COVID-19 เป็นบวก รายนี้ได้ประสานงานผ่านกลไกกฎอนามัยระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างรอรายละเอียดการอาศัย และผู้สัมผัสที่อยู่ในไทย อีกทั้งได้ประสานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบที่อยู่และค้นหาผู้สัมผัส ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นเดียวกัน และเมื่อได้รับข้อมูลแล้ว จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป ทั้งนี้วิธีการตรวจที่สนามบินในญี่ปุ่นที่ใช้กับผู้เดินทางทั้ง 2 รายนี้ เป็นวิธีใหม่ เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา คือวิธี CLEIA โดยตรวจหาเชื้อจากตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้รับรอง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังใช้วิธีการตรวจหาเชื้อจากโพรงจมูกด้วยวิธี RT PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อ COVID- 19 นพ.สุวรรณชัย เสริมว่า “จากการปฏิบัติตามหลักในการป้องกันควบคุมโรค ตามกฎอนามัยระหว่างประ เทศ ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศที่มีระบบความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ ทำให้มีการตรวจสอบติดตาม และสอบสวนป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการดำเนินงานและควบคุมโรคภายในประเทศได้ดี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคที่มีความเข้มแข็งและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด” ที่มา : ThaiPBS