ช่วงนี้เดินไปทางไหนก็มีแต่คนใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19
ทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์ต่างก็พูดถึง COVID-19 มีทั้งเรื่องจริงบ้าง เรื่องที่บอกต่อๆ กันมาบ้าง ซึ่งบางครั้งก็สร้างความเข้าใจผิดให้ผู้รับข่าวสาร Mango Zero มาอัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อให้เตรียมตัวรับมือและป้องกันได้ทัน และสิ่งสำคัญคือติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ใช้ชีวิตเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือรักษาสุขภาพมากขึ้น
ยอดผู้ติดเชื้อ
(Update วันที่ 24 ก.พ. 2563)
ไทย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยยังเท่าเดิม คือ 35 ราย
- รักษาหายและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ 21 ราย
- กำลังรักษาตัว 14 ราย โดยหนึ่งในนั้นมีผู้ป่วยอาการรุนแรง 2 ราย
เกาหลีใต้
- ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 161 ราย รวมเป็น 763 ราย
- ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย รวม 7 ราย
- รักษาหายแล้ว 18 ราย
หลังจากพบหญิงวัย 61 ปี เป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 31 ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ออกไปเป็นวงกว้าง คาดว่ามีผู้ติดเชื้อจากหญิงชรารายนี้กว่า 80 คน จนได้ชื่อว่าเป็น Super Spreader เนื่องจากพฤติกรรมการแพร่เชื้อ และการเดินทางไปยังสถานที่แออัด เช่น ร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่โบสถ์แห่งหนึ่งในที่เมืองแทกู เกาหลีใต้จึงประกาศ ยกระดับการเตือนภัยสู่ระดับสูงสุด (ระดับสีแดง) และประกาศให้ เมืองแทกู เป็นเขตควบคุมโควิด-19 เนื่องจากผู้ติดเชื้อจำนวนมากอยู่ในเมืองแทกู
ญี่ปุ่น
- ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 12 ราย และพบผู้ติดเชื้อจากเรือ Diamond Princess เพิ่มขึ้น 57 ราย รวมผู้ติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่น 147 ราย
- ผู้ติดเชื้อบนเรือสำราญเดิม 691 ราย รวมผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นทั้งหมด 838 ราย
- เสียชีวิต 4 ราย
- รักษาหายแล้ว 40 ราย
เรือสำราญ Diamond Princess จอดเทียบท่าที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้มาตรการกักกันโรค หลังจากพบผู้ติดเชื้อบนเรือดังกล่าว โดยล่าสุด วันที่ 24 ก.พ. พบผู้ติดเชื้อจากเรือ diamondprinces เพิ่มขึ้น 57 ราย
อิตาลี
- ยอดติดเชื้อเพิ่ม 78 ราย รวมเป็น 157 ราย
- เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 3 ราย
- หายแล้ว 2 ราย
หลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทางการอิตาลีได้สั่งปิดเมืองที่มีการติดเชื้อ และระงับการจัดกิจกรรมในหลายเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมิลาน เนื่องจากส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้ออยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ในขณะนี้อิตาลีกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดในยุโรป
Super Spread การแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
เกิดจากผู้ป่วยที่เป็น Super Spreader คือมีเชื้อไวรัสในร่างกายและเดินทางไปสถานที่แออัด เมื่อผู้ติดเชื้อดังกล่าวไอ จาม หรือแพร่เชื้อด้วยวิธีอื่นๆ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ประเทศเสี่ยง เลี่ยงเดินทาง
นอกเหนือจากประเทศจีนที่เป็นต้นกำเนิดไวรัสแล้ว ยังมีประเทศในทวีปเอเชียที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้แก่
- ญี่ปุ่น
- สิงคโปร์
- เกาหลีใต้
- ฮ่องกง
- และไต้หวัน
กรมควบคุมโรคจึงมีประกาศขอความร่วมมือคนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวหากไม่จำเป็น
หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ปฏิบัติตัวดังนี้
- ใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
- หลีกเลี่ยงการไปพื้นที่แออัด
- กินอาหารร้อน ปรุกสุก ใช้ช้อนกลาง
- ล้างมือบ่อยๆ
- หากกลับมาแล้วมีอาการเข้าเกณฑ์เสี่ยง ให้รีบไปพบแพทย์
การแพร่ระบาดของโรค 3 ระยะ
ระยะที่ 1
- ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ
- ผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศเป็นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดนอกประเทศ
- มาตรการป้องกันในระยะที่ 1 คือ คัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้ต้องสงสัยอย่างรวดเร็วและครบถ้วน ด้วยการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายที่สนามบิน และให้โรงพยาบาลทุกแห่งรายงานผู้มีอาการเข้าเกณฑ์ เช่น ไอ เจ็บคอ หายใจติดขัด เพื่อสังเกตอาการและตรวจหาเชื้อ
- สาเหตุที่ไม่สามารถหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีอาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัดทั่วไป ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2563 ทางการท้องถิ่นของจีนเปิดเผยว่า เป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีระยะฟักตัวนานถึง 27 วัน จากเดิมที่คาดไว้ 14 วัน หลังจากทางการมณฑลหูเป่ย์พบชายวัย 70 ปี ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่แสดงอาการนานถึง 27 วัน
อย่างไรก็ตามระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสชนิดนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ไม่ว่าจะมีระยะฟักตัวกี่วัน ก็ควรรักษาสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย และป้องกันตัวเองจากการติดเชื้ออยู่เสมอ
ระยะที่ 2
- มีการติดเชื้อจากคนสู่คนภายในประเทศ
- มาตรการป้องกันในระยะที่ 2 คือ
- ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแยกโรค
- ขยายการเฝ้าระวัง โดยครอบคลุมถึงผู้ทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยวจีนและชาวต่างชาติ เช่น ไกด์นำเที่ยว คนขับรถสาธารณะ พนักงานบริการ
- ไทยมีการแพร่ระบาดของโรคในระยะที่ 2 หลังจากพบผู้ติดเชื้อเป็นคนขับรถแท็กซี่ที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศจีน
ระยะที่ 3
- จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มาตรการป้องกันในระยะที่ 3 คือ
- ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ
- ชะลอการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มขึ้น
มาตราการป้องกันในไทย
- ขยายพื้นที่เฝ้าระวัง
โดยเฝ้าระวังนักเดินทางจากประเทศและเขตปกครองที่มีการระบาดของโรคนี้ นอกเหนือจากประเทศจีน ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง ไชนีสไทเป และเกาหลีใต้
- ขยายการเฝ้าระวัง
จากเดิมที่เฝ้าระวังคนไทยที่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศเสี่ยง ได้ขยายการเฝ้าระวังในกลุ่มคนไทยที่ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แต่มีอาการปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ และภูเก็ต โดยเฉพาะพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางไป
- เฝ้าระวังอย่างละเอียด
กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โรงพยาบาลเอกชนและคลินิก ให้สำรวจผู้ป่วยที่มีอาการเข้าเกณฑ์ติดเชื้อ หากพบให้ส่งวินิจฉัยโดยละเอียด