[NEWS] พร้อมกันหรือยัง เปิดรายชื่อ 31 จังหวัดในพื้นที่โซนสีเขียว–ฟ้า เตรียมนำร่อง “ถอดหน้ากากอนามัย” ในพื้นที่โล่ง จังหวัดไรบ้างเช็กเลย! นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับชาวไทยที่จะได้เริ่มมีโอกาสในการ “ถอดหน้าอากาศอนามัย” ได้บ้างแล้ว เมื่อช่วงเช้ามีรายงานจากสธ. เตรียมประกาศนำร่อง 31 จังหวัด ถอดหน้ากากอนามัยได้ในที่โล่ง ไม่แออัด โดยเริ่มจากโซนสีเขียวและสีฟ้าก่อน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ว่าสถานการณ์ทั่วโลกเริ่มดีขึ้น และมีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว สำหรับประเทศไทยหากการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิตลดลง กระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมลดระดับเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 2 เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตปกติมากขึ้น อีกทั้งการอนุมัติให้มีการผ่อนคลายโดยการถอดหน้ากากอนามัยนั้น ต้องพิจารณาให้ทำได้ในพื้นที่นำร่อง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในโซนสีเขียว (พื้นที่เฝ้าระวัง) และสีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว) แต่ทั้งนี้การพิจารณาต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น มีสถานการณ์ระบาดในระดับต่ำ มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์ หรือมีระบบรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ของสถานพยาบาลในพื้นที่นั้น ๆ มีความพร้อม โดยจังหวัดที่อยู่ในลิสต์พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เฝ้าระวัง) และสีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว) ตามประกาศล่าสุดของ ศบค. ชุดใหญ่ (เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565) จะมีทั้งหมด 31 จังหวัดดังนี้ 💚สีเขียว (พื้นที่เฝ้าระวัง) มี 14 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท, พิจิตร, อ่างทอง, น่าน, มหาสารคาม, ยโสธร, นครพนม, ลำปาง, อำนาจเจริญ, บุรีรัมย์, ตราด, สุราษฎร์ธานี, สุรินทร์ และอุดรธานี 💙สีฟ้า (พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว) มี 17 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, กระบี่, กาญจนบุรี, จันทบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, เชียงราย, นครราชสีมา, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, เพชรบุรี, ภูเก็ต, ระยอง และสงขลา อีกทั้งนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จะปรับคำแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยใน 3 กรณี เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตอยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัยและการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ได้แก่ 😷 กลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มคนที่ต้องได้รับการวัคซีนป้องกันโควิด 19 มากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค) 😷 เมื่ออยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก 😷 เมื่ออยู่ในกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก