คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ทำการวิจัยปริมาณไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ในตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจ อุจจาระ น้ำเหลือง และปัสสาวะของผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 จำนวน 96 ราย ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. ถึง 20 มี.ค. 2563 โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 22 ราย และผู้ป่วยอาการรุนแรงอีก 74 ราย
วารสาร British Medical เปิดเผยผลการวิจัยว่า ตรวจพบไวรัสโคโรนาฯ ในอุจจาระ 55 ราย ในน้ำเหลือง 39 ราย และในปัสสาวะ 1 ราย
ค่ากลางของระยะเวลาที่ไวรัสฯ อยู่ในอุจจาระคือ 22 วัน ในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจ 18 วัน และในน้ำเหลือง 16 วัน
เนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจมีปริมาณไวรัสฯ สูงสุด รองลงมาคือ ตัวอย่างอุจจาระและตัวอย่างน้ำเหลือง ตามลำดับ
ค่ากลางของระยะเวลาที่ไวรัสโคโรน่าฯ อยู่ในตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยอาการรุนแรง คือ 21 วัน ในขณะที่ค่ากลางของระยะเวลาเดียวกันในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง คือ 14 วัน
ปริมาณไวรัสโคโรนาฯ ในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจ ของผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงจะสูงสุดในสัปดาห์ที่ 2 นับจากเริ่มป่วย ส่วนในผู้ป่วยอาการรุนแรงอยู่ในระดับสูงในสัปดาห์ที่ 3 ของการเจ็บป่วย
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยเพศชาย ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีระยะเวลาที่ไวรัสฯ อยู่ในร่างกายนานกว่ากลุ่มอื่น
อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัด เช่น ผู้ป่วยกลุ่มสำรวจมีขนาดเล็ก และคุณภาพของตัวอย่างที่นำมาวิจัย
ที่มา thestandardth