อย่างที่เราเห็นกัน การมาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid-19 บังคับให้อะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ วิถีชีวิตของคนที่เคยใช้กันตามปกติในที่สาธารณะ ก็ต้องหยุด (โดยไม่มีอะไรกั้น!) อยู่บ้านตามมาตรการของรัฐ ที่เล็งเห็นว่าคงไม่มีวิธีแก้ปัญหาใดจะดีไปกว่าการล็อคดาวน์ชั่วคราว จนกว่าไวรัสจะค่อยๆ ซาไปจากสังคม
ซึ่งถ้าดูเฉพาะในไทย ผลลัพธ์ของการล็อคดาวน์ก็เป็นไปอย่างที่พี่ๆ เขาหวัง คือตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลงจริงๆ บางวันไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มด้วยซ้ำ (เย่) แต่…เงินในกระเป๋าของคนก็น้อยลงเช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการนี้คือดาบสองคมที่แหลมทั้งสองคม เพราะมันทำให้เศรษฐกิจทรุดหนัก หลายคนตกงาน ห้างร้านหลายแห่งปิดตัว เจ้าของธุรกิจหลายเจ้าเริ่มเบนเข็มไปทำธุรกิจอื่น แบรนด์ดังๆ เริ่มปรับตัว แต่กล่าวโดยภาพรวม นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากสุดๆ ในแทบทุกๆ ธุรกิจ
ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไรที่เศรษฐกิจจะกลับมาปกติเหมือนก่อนเจอไวรัส แต่ที่รู้คือ มันคงจะไม่กลับมาปกติ ‘เหมือนเดิม’ แน่ๆ ตราบเท่าที่เรายังต้องใส่แมสก์ออกไปข้างนอก พร้อมกับเว้นระยะห่างทางสังคม ทุกวันนี้จึงมีหนึ่งคำที่เริ่มได้ยินกันจนชิน นั่นคือ ‘New Normal’ หรือความปกติใหม่
ซึ่ง New Normal หรือความปกติใหม่ในมุมเศรษฐกิจ จะเป็นยังไงนั้น Mango Zero รวบรวมโอกาสที่เป็นไปได้ในความเห็นของพวกเรา ทั้งที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้และไกล จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
มาด้วยกันแต่แยกกันกิน New Normal ร้านอาหารยุคหลังโควิด
ร้านอาหารกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทุกระดับ ถึงแม้ร้านอาหารทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดให้บริการแล้ว แต่พวกเขารวมถึงก็ต้องหามาตรการป้องกันและสร้างความสบายใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงในประเทศไทยเอง เราได้เห็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนการให้บริการลูกค้าหลังยุคโควิด
แน่นอนว่าจากนี้เป็นต้นไป การตั้งตี้ชวนเพื่อนไปจกส้มตำ ไปคาเฟ่เก๋ๆ เพื่อถ่ายรูป ไปจนถึงการตั้งตี้กินชาบูด้วยกันทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ไปด้วยกัน แต่แยกกันกินคือ New Normal
สำหรับที่เมืองไทย ร้านอาหารที่ทำการปรับตัวอย่างไวคือร้านบุฟเฟต์ ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก ลูกค้าต้องใช้เวลาอยู่ในร้านนานจนครบเวลา และที่สำคัญส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาคนเดียวแต่มาเป็นกลุ่ม ก็ได้ใช้อุปกรณ์มาเพื่อกั้นไม่ให้ลูกค้าใกล้กัน รวมถึงกันละอองน้ำลายที่อาจกระจายถึงกันมาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ใหม่ของร้านอาหาร
ร้านแรกที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้คือ Penguin Eat Shabu ซึ่งนี้คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอาหารหลังโควิดได้แก่
- มีการติดตั้งฉากกั้นระหว่างโต๊ะ
- มีการแยกที่นั่งของลูกค้าออกอย่างชัดเจนตามที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด
- โทรจองรอบที่เข้ามากินเพื่อคัดจำนวนคน
- พนักงานใส่อุปกรณ์ป้องกันทุกอย่างที่เพิ่มขึ้นทั้งปลอดภัยต่อลูกค้าและตัวเอง
วันนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นชินทั้งในแง่ของภาพที่เห็นและพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่หลังจากนี้ไป ผู้บริโภค และร้านอาหารทุกประเภทที่ไม่จำเป็นต้องบุฟเฟต์ ต้องยึดหลักปฏิบัติเหล่านี้ในการเดินหน้าต่อไป จนกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ที่คุ้นเคย
ปาร์ตี้ในร้านอาหารกับเพื่อนที่คุ้นเคย ถ่ายรูปในคาเฟ๋เก๋ๆ ไปเดตกันในร้านหรูวิวดี มันเปลี่ยนไปแล้ว
อสังหาริมทรัพย์ยุคโควิด คิดใหม่ ออกแบบใหม่ หลังโจทย์ลูกค้าเปลี่ยนไป เมื่อคนย้ายออกจากเมือง
โควิดเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไปแล้วเรียบร้อย และทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์ต้องกลับมาคิดหนักว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไร เพราะไม่ใช่ยอดขายเท่านั้นที่ตกลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่…ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่ที่คนทำงานต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อ Work From Home
เหล่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มมองว่าความต้องการของลูกค้าที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยที่สามารถตอบโจทย์ได้หากต้องทำงานที่บ้าน หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องทำงานที่บ้านตลอดไปในราคาที่ไม่แพง (เนื่องจากกำลังซื้อลดลง) แต่ได้พื้นที่เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม
พูดง่ายๆ คือต้องออกแบบสำหรับทั้งอยู่อาศัย และทำงานได้นั่นเอง
‘เศรษฐา ทวีสิน’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Secret Sauce ไว้ว่า การพัฒนาอสังหายุคนี้ต้องคำนึงหลายด้าน
- งบประมาณที่จำกัดของผู้ซื้อ ทำอย่างไรให้เข้าถึงสินค้า
- ความต้องการที่อยู่อาศัยที่พร้อมจะเป็นที่ทำงานได้ แม้พื้นที่จะเพียง 28 ตารางเมตร (สำหรับลูกค้าคอนโด)
- พื้นที่สำหรับผ่อนคลาย พื้นที่ส่วนกลางที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้
- ความเร็วของอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ‘สันต์ คงจันทร์’ กรรมการผู้จัดการ modern property consultants ยังให้ความเห็นในเชิงตรงกันว่าฝั่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องวางแผนปรับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยของบ้านและคอนโดใหม่หมดเลย เช่น บ้านจัดสรร ต้องมีพื้นที่สำหรับทำงานที่บ้าน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้าน
ขณะที่คอนโดเอง ก็ต้องจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมในการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน การดูแลความสะอาดของลิฟต์ ไปจนถึงการปรับปรุงแปลนห้องใหม่ให้สอดรับกับการทำงานที่บ้าน
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือตอนนี้อาคารชุดหรือคอนโด นั้นความนิยมลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานั้นถือว่าโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 โดยโตเพียง 2.7% สวนทางกับบ้านเดี่ยว และทาวโฮมส์ที่โตมากกว่า
‘ภวรัญชน์ อุดมศิริ’ กรรมการผู้จัดการ สายงายพัฒนาโครงการทาวน์โฮมและโครงการบ้านเดี่ยว ของโกลเด้นแลนด์ ก็ยืนยันว่าหลังโควิดโดยคนที่อยู่คอนโด มาซื้อบ้านเดี่ยว 30-40% ขณะที่ทาวโฮมส์ มีสัดส่วน 40 – 50% โดยเขาเปรียบเทียบว่า จากเดิมที่ปี 2554 คนซื้อคอนโดเพราะหนีน้ำท่วม กลายเป็นปี 2563 คนซื้อบ้านเพราะหนีเมือง การอยู่คอนโดจึงไม่ใช่คำตอบอีกแล้ว
จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมองไปที่บ้านชานเมือง ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าคอนโด เพื่อพยายามที่จะออกจากจุดแออัดของเมือง ไปยังชานเมืองมากขึ้น หลังจากนี้ไปเราคงได้เห็นบ้านที่ขยายออกไปยังชานเมืองมากขึ้นเช่นกัน
…แน่นอนว่าความแออัดก็จะตามมาด้วย
ธุรกิจการบินกระทบหนักทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภค
ธุรกิจการบินก็ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่ได้ผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้ธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะสาเหตุของการแพร่กระจายไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องประกาศล็อคดาวน์ประเทศ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจการบินต้องขาดทุน สายการบินบางส่วนต้องลดเงินเดือนหรือไล่พนักงานออก และก็เหมือนว่าทีท่าของภาพรวมของธุรกิจการบินจะยังไม่ฟื้นตัวในเร็ววันนี้ ซึ่งสามารถสรุปทิศทางผลกระทบของสายการบินได้ดังนี้
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
- การทำ Social Distance จะส่งผลให้เติบโตของธุรกิจการบินลดลง : ถึงแม้ว่าสนามบิน หรือสายการบินต่าง ๆ จะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่การทำ Social Distance ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถรับผู้โดยได้เท่าเดิม และธุรกิจการบินต้องหาการดำเนินการธุรกิจแบบใหม่ เพื่อให้ครอบครุมต้นทุนของธุรกิจทั้งหมด
- ท่าอากาศยานจะมีการออกกฏระเบียบใหม่ ๆ : เพื่อป้องการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งการกฏระเบียบใหม่ ๆ นี้จะพูดถึงเรื่อง การบริหารการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวะอนามัยมากขึ้น และกฏข้อระเบียบใหม่ ๆ นี้อาจถูกบังคับใช้แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะหมดไปแล้วก็ตาม
- ต้องสร้างความเชื่อใจต่อการท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ : หลาย ๆ คนมีความคิดว่า ต่อให้สายการบินกลับมาให้บริการตามปกติ แต่ความมั่นใจของผู้โดยสารจะยังไม่กลับมาจนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งนั้นอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี
- อาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินอาจถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน : เพราะการปรับโครงสร้างของสายการบินหลายสายการบิน อาจส่งผลให้เกิดการปรับลดรายได้ของพนังงานลงและบางสายการบินอาจถึงขั้นเลิกจ้างพนังงานหากธุรกิจกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
ผลกระทบต่อผู้บริโภค
- ราคาตั๋วแพงจะแพงขึ้น : เพราะแต่ละสายการบินจะไม่สามารถรับผู้โดยสายจำนวนเท่าเดิมได้ ทำให้สายการบินต้องขึ้นราคาค่าตั๋ว เพื่อให้สายการบินยังมีกำไรต่อไปได้
- มีกฏระเบียบใหม่ ๆ ให้ปฏิบัติตามมากขึ้น : เพื่อป้องการแพร่กระจายของเชื้อโรคทำให้ท่าอากาศยานต้องออกกฏระเบียบใหม่ ๆ ซึ่งอาจมีข้อบังคับใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ในสนานบินหรือบนเครื่อง การตรวจวัดอนุภูมิเกินขึ้นเครื่อง การเว้นระยะห่างระหว่างผู้โดยสารบนเครื่อง หรือแม้กระทั่งกฏในการเข้าไปนั่งทานอาหารในสนามบินก็เปลี่ยนไป
- การนั่งเครื่องบินอาจไม่สนุกอีกต่อไป : สำหรับใครที่รักในการนั่งเครื่องบิน หลังจากนี้ประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางโดยเครื่องบินอาจลดลง เพราะกฏข้อบังคับและสิ่งต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงจะทำให้เราหมดสนุกกับการนั่งเครื่องบิน เช่น การงดขายอาหารหรือรับประทานอาหารบนเครื่อง ทุกคนบนเครื่องต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ระยะทางระหว่างผู้โดยสารก็มากขึ้นทำหให้ไม่สามารถนั่งคุยกับเพื่อนได้แบบปกติ
วิกฤต!! ภาพรวมของธุรกิจอีเวนต์ ขาดทุนมากสุดในรอบ 30 ปี
นาย เสริมคุณ คุณาวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าวงการอีเวนต์ สูญเสียเงินไปมากกว่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นวิกฤตหนักที่สุดในรอบ 30 ปีของธุรกิจอีเวนต์ มีคนได้รับผลกระทบมากถึงหลายหมื่นคน
อีกทั้งนาย เกรียงไกร กาญจนะโภคิน CEO บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ยังออกมาคาดการณ์ ถึงวิกฤตครั้งนี้ไว้ว่า ธุรกิจอีเวนต์จะอยู่ในช่วงขาลงลากยาวถึงจนถึงเดือนตุลาคม ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในปีหน้า
นอกจากนั้นแล้วผลกระทบของธุรกิจอีเวนต์ยังส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องต้องปิดกิจการไปอีกมาก
ณ ปัจจุบันนี้ได้มีการปรับรูปแบบของการจัดอีเวนต์เพื่อรับมือรับสถานการณ์ปัจจุบันได้ ซึ่งมีการใช้เทคโลยีทั้ง VR (Virtual reality) การ Live หรือแม้กระทั้งการรับจัดปาร์ตี้ขนาดเล็กภายในบ้าน
Work from Home และการเติบโตของการประชุมออนไลน์
สถานการณ์ช่วง Quarantine ทำให้ชีวิตประจำวันของใครหลายคนเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการงดการเดินทางท่องเที่ยว ลดการออกนอกบ้าน หรือการพบปะผู้คน ส่งผลให้หลายธุรกิจเกิดการชะงักตามไปด้วย ทั้งการท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า หรือกิจกรรมบันเทิงต่างๆ
เมื่อออกจากบ้านไม่ได้ ก็ต้องย้ายจากการทำงานออฟฟิศ เป็นการทำงานที่บ้าน(Work From Home) ไม่เพียงแต่การคิด วางแผน หรือเขียนงานต่างๆ แม้แต่การประชุมก็ต้องเกิดขึ้นผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ส่งผลให้ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัจจัยที่ห้าในตอนนี้ (ถ้าไม่พูดถึงเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต) จึงกลายเป็นแอปพลิเคชันสำหรับการประชุมออนไลน์ อย่าง Zoom หรือ Google Hangout อย่างช่วยไม่ได้
Zoom แอปพลิเคชันจากซิลิคอนวัลเลย์ โดดเด่นในเรื่องลูกเล่นที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนภาพพื้นหลัง หรือดูหน้าผู้เข้าร่วมวีดิโอคอลพร้อมกัน รวมไปถึงวิธีการล็อคอินที่ค่อนข้างง่ายกว่า Google Hangout ทำให้ได้รับความนิยมกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่หากไม่ได้ซื้อแพ็คเกจ จะสามารถใช้งานได้สูงสุดเพียง 40 นาทีเท่านั้น
ส่วน Google Hangout ก็สามารถเดาที่มาได้ง่ายๆ จากชื่อของแอปพลิเคชันเอง สะดวกกว่า Zoom หากเป็นการประชุมภายในบริษัท เนื่องจากสามารถควบคุมสิทธิ์ในเรื่องของผู้เข้าร่วมการประชุมได้ และสามารถประชุมได้ไม่จำกัดเวลา แต่ในเรื่องลูกเล่นยังเป็นรอง Zoom อยู่บ้าง
แม้ว่า Zoom จะมีข่าวออกมาว่าสามารถแฮคหรือแอบฟังโดยคนนอก ส่งผลให้หุ้นของ Zoom (ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า ZM) ตกลงอย่างรวดเร็วในช่วงนั้น จาก 160 เหลือเพียง 110 แต่ก็สามารถทะยานขึ้นมาโดยใช้เวลาเพียงไม่นาน (ข้อมูลอัพเดต ณ วันที่ 12 พ.ค. 63 คือ 155 ) ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบความปลอดภัย ล่าสุดทาง Zoom ก็ประกาศว่าได้เข้าซื้อ Keybase ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยในการส่งข้อความ และแชร์ไฟล์เป็นที่เรียบร้อย เป็นที่น่าจับตาถึงฟีเจอร์ที่แข็งแรงขึ้นไปอีกในอนาคต
ท่ามกลางความเชื่อมั่นว่า Zoom และ Google Hangout จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ พร้อมเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นอีก หลายคนก็ยังสงสัยว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้จะดึงดูดใจ หรือยังมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน หากทุกคนสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติเหมือนเดิม ไม่แน่ว่า New Normal อาจรวมไปถึงการประชุมที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ห้องเดียวกันเสมอไปในอนาคต
งดฝากร้านนะคะ…งดก็แปลว่าทำได้อยู่! เมื่อกรุ๊ปมาร์เก็ตเพลส กลายเป็นโอเอซิสฟรอมโฮมของพ่อค้าแม่ขาย
ในยุคที่ข้าวก็ยาก mask ก็แพง ผู้คนต้องอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัส ร้านค้าเลยต้องหยุดชะงักไปอย่างช่วยไม่ได้ และไม่ว่าจะเล็กใหญ่ก็ต้องหาทางรอดด้วยวิธีของใครของท่าน แต่ด้วยปัญหาที่สุดแสนจะหนักหนา หลายร้านเลยต้องเลย์ออฟพนักงานเพื่อความอยู่รอด หรือหลายร้านที่ต้องจำใจปิดตัว เพราะคงคิดแล้วว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ เหมือนการเดินหาทางออกอยู่กลางทะเลทรายยังไงยังงั้น
แต่แล้ว…ท่ามกลางวิกฤต ก็มีโอกาสเกิดขึ้นมา ประหนึ่งโอเอซิสก็มิปาน! นั่นคือกรุ๊ปในเฟสบุ๊กที่สร้างมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนมา ‘ฝากร้าน’ โดยเฉพาะ
แรกเริ่มเดิมที สิ่งนี้เกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่สร้างกรุ๊ปชื่อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน เพื่อให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเข้ามาโพสต์ขายของ จะธุรกิจใหญ่ระดับบริษัท ขนมที่ทำเล่นๆ ระหว่างอยู่บ้าน หรือโพสต์ขายฝีมือขายความสามารถ ก็ว่าไป มาขายมาโปรโมทกันได้ตามสะดวก
ใครจะไปคิดว่ามันจะกลายเป็นคอมมิวนิตี้ใหญ่โต เผลอแป๊บเดียวกรุ๊ปก็มีสมาชิกเหยียบแสน และมีสินค้ามาขายตั้งแต่ขนมยันจระเข้! ไม่เท่านั้น ยังกลายเป็นโมเดลให้นิสิต/นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วแคว้นแดนไทยทำตาม จนมีมาร์เก็ตเพลสเกิดขึ้นแทบทุกมหาลัย ถ้าไม่เชื่อ เดี๋ยวเรายกตัวอย่างให้ดู
- ธรรมศาสตร์: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน
- จุฬาลงกรณ์: จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส
- ศิลปากร: Silpakorn Online Market : ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ
- เกษตรศาสตร์: KU จะฝากร้าน
- ศรีนครินทรวิโรฒ: ตลาดนัด มศว
- พระจอมเกล้าธนบุรี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระจอมเกล้าพระนครเหนือ: 3 พระจอมฯ มาร์เก็ตเพลส
- กรุงเทพ: ม.กรุงเทพ มาร์เก็ตเพลส
- อุบลราชธานี: ตลาดออนไลน์ชาวกันเกรา – UBU Online Mall
- หอการค้า: หอการค้า มาร์เก็ตเพลส
- มหิดล: ชาวมหิดลเปิดแผง
- สงขลานครินทร์: PSU Bazaar
- เชียงใหม่: กาดนัดลูกช้างมอชอ CMU SOCIAL COMMERCE
- สยาม: ตลาดนัด ม.สยาม Marketplace
- อัสสัมชัญ: ABAC Market Official
- รังสิต: มหาวิทยาลัยรังสิต RSU ฝากขาย และฝากร้าน
- รามคำแหง: ตลาด ม.รามคำแหง ใครจักใคร่ฝากร้าน ฝาก
- มหาสารคาม: มมส LIKE SHOP
แม้จะมีดราม่าอยู่บ้างในแต่ละกรุ๊ป (ตามประสาชาวเน็ต) แต่ก็สามารถพูดได้ว่า นี่คือทางออกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คนต้องการอย่างแท้จริง เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนรอดพ้นจากวิกฤตช่วงนี้ได้เพราะกรุ๊ปเหล่านี้ ยังไม่พอ ความน่ารักของสังคมนี้คือ เราจะเห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของศิษย์ร่วมสถาบัน หลายคนถึงไม่ได้เข้ามาซื้อ ก็มาคอมเมนต์ให้กำลังใจกัน หลายคนเห็นเพื่อนมาโพสต์ขาย ก็เข้ามาเป็นหน้าม้าโดยที่เพื่อนไม่ได้ขอ
และไม่เพียงขายของ คนในกรุ๊ปเหล่านี้ยังใช้พื้นที่ในการย้อนรำลึกความทรงจำสมัยเรียน บ้างเอารูปมหาลัยสมัยก่อนมาแปะ แล้วรำเพ้อรำพันว่าแต่ก่อนเคยเรียนตึกนั้นตึกนี้ บ้างเอารูปกลุ่มเพื่อนมาแปะ แล้วประกาศตามหาคนหาย (ฮาา) บ้างสารภาพรักกับรุ่นพี่ที่เคยแอบปลื้มเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็มี
อะ…จะได้แฟนจากกรุ๊ปกันมั้ยไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ คือ สิ่งนี้คงจะกลายเป็น New Normal ของการค้าขายหลังจากนี้ไปอีกสักพักใหญ่ๆ อย่างน้อยๆ ก็จนกว่าผู้คนจะออกมาใช้ชีวิตกันได้โดยไม่ต้องใส่ mask นั่นแหละ ว่าแล้วก็ของดฝากร้านใต้โพสต์นะคะ งดก็แปลว่ายังทำได้อยู่ ขอบคุณค่า
Co-Working Space ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป? หรือธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงานจะไม่เวิร์คแล้ว
หนึ่งในวิธีป้องกันไม่ให้เจ้าไวรัสร้าย Covid-19 แพร่ระบาด คืองดการรวมตัวของคนในสถานที่ต่างๆ หลายๆ บริษัทเลยออกนโยบาย ‘Work from Home’ ให้พนักงานทำงานที่บ้านใครบ้านท่าน ย้ำ! บ้านตัวเอง (หรือพูดรวมๆ ว่าที่อยู่อาศัย) ไม่ใช่บ้านเพื่อนบ้านแฟน คาเฟ่ ร้านกาแฟหรือ Co-Working Space
เพราะไม่งั้นมันก็ยังเป็นการรวมตัวของคนอยู่เนอะ ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ต้องปิดให้บริการสถานที่ที่รวมตัวคนเป็นการชั่วคราว Co-Working Space หรือธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงาน ทั่วแคว้นแดนกรุงในบ้านเราจึงต้องใส่กลอนปิดให้บริการ จนกว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น
แต่คำถามคือ คำว่าชั่วคราวในที่นี้ จะยิงยาวแค่ไหน? แล้วในเมื่อหลังจากนี้ การ Social Distancing ก็น่าจะต้องทำไปเรื่อยๆ (ที่เค้าบอกว่า การ์ดอย่าตก) กระทั่งเราพบวัคซีนป้องกันโรคนี้นี่แหละ สรุปว่าธุรกิจ Co-Working Space จะกลับมารันได้เมื่อไร และมันจะบูมในหมู่คนทำงาน สตาร์ทอัพ ฟรีแลนซ์ เหมือนก่อนหน้านี้หรือเปล่า
ประกอบกับการที่คนในบริษัทต่างๆ เริ่มชินกับการใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการทำงานกันแล้วด้วย ทั้งสะดวก ลดการเดินทาง ลดการรวมตัว จะเข้าประชุมกันกี่คนก็ได้ ไม่ต้องพึ่งห้องสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ อีกต่อไป เราก็อาจจะกล่าวโดยสรุปแบบเร็วๆ ได้ว่า ธุรกิจ Co-Working Space เริ่มไม่เวิร์คแล้วกับการจะไปต่อในอนาคต
คำถามคือ (ถามอีกแล้ว!) ถ้ายังอยากจะไปต่อต้องทำยังไง คำตอบ-ก็ต้องปรับตัวยังไงล่ะ อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล นักวิชาการด้านการตลาดที่คลุกคลีอยู่กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มานาน (https://thaipropertymentor.com/archives/8162) ในมุมมองต่อ New Normal ของธุรกิจประเภทนี้
ศาสตราจารย์มองว่ามันคงยังไปได้ แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป เมื่อยังมีคนที่ทำธุรกิจขนาดเล็กของตัวเองที่ยังต้องทำงานแบบเห็นหน้าค่าตา โดยมีลูกน้อง 2-3 คน เลยยังต้องเช่าสถานที่ส่วนกลางเพื่อเวิร์คกัน สถานที่ให้เช่าทำงานจึงต้องจัดสรรพื้นที่ที่เล็กลง อาจจะมีโซนที่มัน Private มากขึ้น
หรือคอนโดที่เคยมีโซนไว้ให้คนมานั่งทำงาน ก็อาจจะต้องปรับพื้นที่บางส่วนให้เป็น Private Space in Public Space หรือคาเฟ่ใหญ่ๆ ที่เคยเปิดให้คนเข้ามาเช่าห้องประชุม ก็จะต้องทำในรูปแบบที่เล็กลง ให้คนนั่งทำงานคนเดียวได้
แต่ถ้าใครคิดจะมาจับธุรกิจนี้หลังจากนี้ ก็บอกตรงๆ ว่าอาจจะต้องคิดหน้าคิดหลังและประเมินความเสี่ยงให้ดีๆ ว่ามันจะเวิร์คสมชื่อหรือเปล่า
เมื่อโควิด-19 ผ่านพ้นไป ธุรกิจโรงแรมและบริการอาจไม่เหมือนเดิม
อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 ก็คือธุรกิจโรงแรม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการงดการเดินทาง ประชาชนส่วนใหญ่จึงอยู่บ้าน และหลีกเลี่ยงการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
เมื่อไม่มีการเดินทาง ประชาชนงดการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมจึงขาดรายได้ แต่ยังคงมีรายจ่ายจากการดูแลโรงแรมและพนักงาน ส่งผลให้โรงแรมหลายแห่งทยอยปิดกิจการลง ทั้งชั่วคราวและถาวร บางแห่งก็มีนโยบายลดรายจ่าย หรือปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดทั้งตัวธุรกิจและพนักงาน เช่น
- โรงแรมในเครือ ดุสิตธานี ที่หยุดให้บริการชั่วคราว 7 แห่ง พร้อมมาตรการลดเงินเดือนพนักงานเพื่อให้ธุรกิจและพนักงานอยู่รอดได้ในระยะยาว
- โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ยกครัวมาขายอาหารเดลิเวอรี่ ข้าวกล่องหลากหลายเมนูจากครัวโรงแรม เพื่อหารายได้ช่วยเหลือพนักงาน
สำหรับธุรกิจบริการอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องงดให้บริการชั่วคราวจากพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เช่น ร้านนวด สปา ฟิตเนส และสถานบันเทิง
แม้ว่าหลังจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น หลายธุรกิจอาจสามารถฟื้นฟูได้ แต่ต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร คาดว่าธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการจะต้องคำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัยมากขึ้น ตั้งแต่การทำความสะอาดสถานที่ ไปจนถึงการคัดกรองผู้ใช้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ
ในส่วนของราคา จะเห็นได้ว่าธุรกิจโรงแรมและบริการหลายแห่งต่างก็ลดราคา ออกโปรโมชั่น เพื่อดึงลูกค้าให้กลับไปใช้บริการหลังผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ และคงต้องใช้กลยุทธ์เหล่านี้ไปอีกสักพักจนกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะฟื้นฟู หรือมีทางออกที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
เล่นคนเดียวก็ได้ เล่นหลายคนก็สนุก ธุรกิจเกมทำกำไร ยอดขายพุ่ง
การเล่นเกมเป็นกิจกรรมยามว่าง (หรือบางทีไม่ว่างก็เล่น) และกิจกรรมคลายเครียดของใครหลายคน ยิ่งในช่วงที่ต้องอยู่บ้านนานๆ แบบนี้ เกมยิ่งเป็นกิจกรรมขายดีทีเดียว
ข้อมูลสถิติจาก Steam แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ ระบุว่า จำนวนผู้เล่นเกมออนไลน์ที่สามารถเล่นเป็นกลุ่มทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. 2563 มีจำนวนกว่า 23.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 36.9% จากปลายปี 2562 โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ
ส่วนการเล่นเกมออนไลน์ของคนไทยในแพลตฟอร์มดังกล่าว ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. 2563 คิดเป็น 1.4% ของ Traffic บนแพลตฟอร์มทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในเดือน มี.ค. 2563 1.3%
ทางด้าน Nintendo บริษัทวิดีโอเกมสัญชาติญี่ปุ่น เปิดเผยยอดขายและกำไรในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมี.ค. 2563 มียอดขายเพิ่มขึ้น 9.0% จากปี 2562 กำไรเพิ่มขึ้น 41.1%
ส่วนเกมใน Nintendo Switch มียอดขาย 168.72 ล้านชุด เพิ่มขึ้น 42.3% เกมที่จำหน่ายได้มากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่
- Pokémon Sword/ Pokémon Shield 17.37 ล้านชุด
- Animal Crossing: New Horizons 11.77 ล้านชุด
- Mario Kart 8 Deluxe 8.08 ล้านชุด
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ในไทยยังได้รับการตอบรับที่ดี แต่ก็ยังมีประเด็นด้านเศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ต้องดูกันต่อไป
ท่ามกลางวิกฤต…กลับเป็นโอกาสให้ Food Delivery เติบโตสวนกระแสอย่างก้าวกระโดด!
แน่นอนว่าโควิด-19 สร้างผลกระทบครอบคลุมในหลายภาคธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีธุรกิจ Food Delivery นี่แหละที่กลับสวนกระแสเติบโตขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติที่ก็มีการเติบโตขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ทุกปี ด้วยซ้ำ
ตัวอย่างยอดอัตราการเติบโตในช่วงโควิด-19 ที่มาจากทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการเดิมและผู้ใช้บริการรายใหม่ของแอพลิเคชั่น Food Delivery เจ้าดัง ๆ ในไทย อย่างเช่น “LINE MAN” นั้นมีอัตราเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า “GrabFood” เองก็เติบโตขึ้น 30% ในขณะที่ foodpanda ก้าวกระโดดไปถึง 20 เท่า!
นั่นก็เพราะบริการจัดส่งอาหารนี้ สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงกักตัวได้ดี ช่วยลดปัญหาความตื่นตระหนกกักตุนอาหารจนของขาดตลาดลงได้ แถมยังเป็นช่องทางที่ช่วยเหลือร้านอาหารเล็ก ๆ ให้คนในชุมชนได้มากขึ้น
นอกจากจะเป็นช่องทางเพื่อเลือกซื้ออาหารมื้อโปรดแล้ว ยังทำให้เกิดความต้องการกลุ่มแรงงานอาชีพ “พนักงานรับส่งสินค้า” เป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้ผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบได้มีโอกาสสร้างรายได้ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ได้ แม้โควิด-19 จะหมดไปแต่ก็เชื่อว่าธุรกิจ Food Delivery จะยังคงเป็นที่นิยมอยู่สถิติสัดส่วนยอดผู้ใช้จ่ายผ่าน Food Delivery มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกเพศทุกวัย แถมยังเริ่มขยายไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้นอีกด้วย
ที่มา : bangkokbiznew, Ch3, bangkokbanksme
เมื่อต้องจำกัดคนเข้าห้างตามวิถี New Normal อาจทำธุรกิจห้างกำไรลดลง?
หลังจากประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ชุมชน ทำให้ธุรกิจหลายอย่างต้องชะงักลง แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ได้ทำให้วิถ๊ชีวิตผู้คนต้องเปลี่ยนไป แม้จะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งก็คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตามที่แต่ละห้างเริ่มเตรียมแผนตามมาตรการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เช่น นอกจากต้องสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจล แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ การเว้นระยะห่างทางสังคม การวัดอุณหภูมิร่างกายทุกทางเข้า-ออกแล้ว
ยังต้องมีจำกัดจำนวนคนเข้าห้าง บางภาคธุรกิจก็เสนอให้มีแอพพลิเคชั่นติดตามตัวลูกค้าที่เข้ามาในห้าง เพื่อจำกัดเวลาเดินห้าง ลดความแออัด ซึ่งนโยบายนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจห้างจะขายได้ไม่เท่าเดิม
เมื่อคนเริ่มตระหนักถึงสุขอนามัยมากขึ้น กลุ่มร้านเสื้อผ้าและร้านเครื่องสำอางค์ ที่มีจุดขาย Experiential Marketing ที่ต้องทดลองใส่ ทดลองใช้ รูปแบบการขายอาจต้องเปลี่ยนไป ต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านความสะอาดมากขึ้น หรืออาจมีการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยลองเครื่องสำอางแทนการแต่งหน้าจริง ๆ ตามเคาเตอร์ในห้างด้วยเป็นได้ จากกรณีศึกษาของ Megvii Technology
แต่อย่างไรก็ตามในมุมของ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เองก็ได้ให้มุมมองถึงธุรกิจห้างหลังโควิด-19 ว่า “การเปิดห้างฯ ที่เคยเน้นขนาดใหญ่ๆ ให้คนมาใช้ชีวิตร่วมกันจะเปลี่ยนเป็นเปิดห้างเล็กลง ให้คนมาซื้อสินค้าแล้วก็กลับ ไม่มาใช้ชีวิตในห้างแบบเดิม ห้างที่เน้นชุมนุมคนเยอะ ๆ จะขายได้น้อยลง แต่การเปิดห้างสรรพสินค้าในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์ ที่มีพื้นที่โล่งโปร่งกว่าอาจจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง การรวมกลุ่มจะแพ้การแยกกลุ่ม เพราะคนมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปเนื่องมาจากประสบการณ์โควิด-19 นั่นเอง
ที่มา : thumbsup, brandbuffet, bizpromptinfo
ใคร ๆ ก็เรียนออนไลน์ได้ทุกที่ จึงมีคอร์สวิชาใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกเมื่อ
แม้ว่าธุรกิจลักษณะ Self-Learning หรือคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วและเป็นที่นิยมในบางกลุ่ม แต่การมาวิกฤตโควิด-19 ก็มีส่วนหลักดันให้ธุรกิจคอร์สออนไลน์คึกคักขึ้นไปอีก
เนื่องจากสถาบันการศึกษาทุกที่ต้องปิดหมด รวมไปถึงโรงเรียนสอนพิเศษ หรือสถาบันที่เน้นกิจกรรม Workshop และสัมมนาสร้างทักษะต่าง ๆ เองก็ต้องหยุดพัก และปรับตัวไปจัดอีเวนท์ในช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อความอยู่รอด ขณะที่ผู้เรียนเองต่างก็ต้องกักตัวอยู่บ้าน ทำให้มีเวลาในการศึกษาคอร์สออนไลน์มากขึ้น สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ดี ๆ ได้ทั่วโลก วิธีการเรียนแบบออนไลน์ จึงกลายเป็น New Normal ของมนุษย์ยุคโควิดไปแล้ว
จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นคอร์สออนไลน์หลากหลายวิชาจากทั่วโลก ถูกแนะนำให้รู้จักกันทั่วไทม์ไลน์ รวมไปถึงวิชาใหม่ ๆ ที่ปรับตัวเข้าสู่วงการคอร์สออนไลน์เช่นกัน อาที คอร์สสอนเทควันโด, คอร์สสอนเวิร์คช็อปปั้นหม้อดินเผา (ซื้อคอร์สพร้อมอุปกรณ์ครบ)
รวมไปถึงกลุ่มวิชางานช่างจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ก็มีทั้งคอร์สสอนช่างซ่อมรถจักรยานยนต์, ช่างซ่อมรถยนต์, ช่างเชื่อมไฟฟ้า, ช่างซ่อมโทรทัศน์, การซ่อมโน้ตบุ๊คและไมโครคอมพิวเตอร์, การประกอบอาหารไทย, ช่างขับรถยก, ช่างเครื่องปรับอากาศ, ภาษาอังกฤษ, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาเกาหลี, ช่างพ่นสีรถยนต์, ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ, ช่างไฟฟ้าในอาคาร, อาชีพอิสระ (ทำดอกไม้จันทน์, ปั้นโอ่ง, เดคูพาจ) เพื่อให้ความรู้เข้าถึงได้ทุกกลุ่ม
เรียกได้ว่าธุรกิจคอร์สออนไลน์ในอนาคตยังมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และอาจเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นได้อีกมากมาย