“เล่นใหญ่” เป็นกริยาที่หมายถึงการกระทำหรือการแสดงออกอะไรสักอย่างที่ดูเยอะเกินจริง เช่น เวลารับประทานอาหารอร่อยแล้วเราแสดงท่าทีว่าอร่อยมากกกกกกชนิดที่ว่าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเราจะไม่มีโอกาสหาความอร่อยอย่างนี้ได้อีกแล้ว หรือการแสดงละครที่นักแสดงใช้ความรู้สึกภายในถ่ายทอดออกมาภายนอกอย่างรุนแรงเกินจริง เป็นต้น นี่คือคำนิยามของ “เล่นใหญ่” ตามที่หลายคนเข้าใจครับ เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษา (ชาวบ้านทั่วไปอาจจะเรียกว่า “เที่ยว”) ที่มาเก๊าในช่วงที่มีเทศกาล Macao Art Festival 2017 ครับ เลยได้สัมผัสความ “เล่นใหญ่”แบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ซึ่งก็ไม่เคยคาดคิดเหมือนกันครับว่าจะได้มาเจอเอาที่มาเก๊า เมืองเล็ก ๆ ที่ใครหลายคนจะรู้กันว่าเป็นเมืองหลวงแห่งกาสิโนของเอเชีย แต่ความ “เล่นใหญ่” ของมาเก๊านี่ไมใช่ว่าเล่นใหญ่เกินจริงจนทำให้หงุดหงิดหัวใจ ทว่าเป็นความ “ใหญ่” ที่เกินกว่าที่เราคาดหวัง จนทำให้เราประหลาดใจเหลือเกิน อย่างที่บอกแหละครับว่าครั้งนี้ผมไปช่วงเดียวกับเทศกาลศิลปะ เลยได้มีโอกาสไปชมงานศิลปะมากมายหลากหลายแขนง ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปกรรม นวัตกรรม และอีกหลากหลายจนสาธยายไม่หมด แต่เอาเป็นว่าผมจะขอเลือกบางอย่างมาเล่าสู่กันฟังนะครับ เผื่อว่าใครชอบเสพงานศิลปะจะได้บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปทัศนศึกษาเยี่ยมชมงานศิลปะที่มาเก๊ากันบ้าง ถ้าสนใจเทศกาลก็ต้องไปช่วงเดือนพฤษภาคม แต่ถ้าไปเดือนอื่น ๆ ก็ยังมีนิทรรศการต่าง ๆ ให้ชมอยู่ไม่น้อย การแสดงแรกที่ผมมีโอกาสได้ไปดูจัดขึ้นที่โรงละครศูนย์วัฒนธรรมแห่งมาเก๊าครับ การแสดงนี้ชื่อว่า Double Bill โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นนามว่า Hiroaki Umeda แบ่งเป็น 2 ชุดคือThrough และ Holistic Strata Through คือการแสดงที่ Hiroaki Umeda เป็นผู้ออกแบบท่าเต้น มีนักเต้นจากไต้หวันและมาเก๊าจำนวน 8 คน ออกมาเต้นในแนวร่วมสมัย เล่นกับแสงสีและผืนผ้า ด้วยแนวคิดว่า “ไม่มีความต่างระหว่างมนุษย์กับวัตถุใด ๆ” เขาเชื่อว่าทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้ ย่อมสามารถออกแบบการแสดงให้มันได้ทั้งนั้น เขาจึงพยายามค้นหาความเคลื่อนไหวของทั้งมนุษย์และผืนผ้าอย่างเท่าเทียม หลังพักครึ่ง 15 นาที ก็ถึงคราวของ Hiroaki Umeda ได้ออกมาวาดลวดลายด้วยตนเองในการแสดงชื่อ Holistis เป็นมาเต้นประกอบดนตรีและกราฟิกที่เท่มาก มีนักแสดง 1 คนเต้นตามจังหวะคม ๆ ของดนตรีประกอบ และมีแสงไฟเป็นกราฟิกแปลกตาแนวอวกาศยิงใส่นักแสดงและพื้นหลัง คุณ Hiroaki Umeda บอกว่าการเต้นนี้เป็นการด้นสดตามจินตนาการ ณ ขณะนั้นที่ปล่อยใจไปอย่างเสรี การแสดงชุดนี้เลยดูสด ดูจริง แต่มีบางจังหวะที่คนดู (อย่างน้อยก็คนที่ไปดูกับผมเนี่ย) รู้สึกได้ว่ามีจังหวะบางท่วงท่ายังไม่คมเท่าไร ทว่าภาพรวมช่างมีเสน่ห์เหลือเกิน ดูเพลิน ๆ ได้แบบไม่ง่วง เพราะตื่นเต้นตลอดเวลา การแสดงอีกชุดหนึ่งที่ผมได้ไปชมในเทศกาลศิลปะมาเก๊าครั้งนี้คือละครเวทีที่ดัดแปลงมาจากบทละครชั้นครูอย่างเรื่อง The Seagull ของ Anton Pavlovich Chyekhov นักเขียนชาวรัสเซีย ประเทศไทยเองก็เคยนำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีในบริบทไทย ๆ ใช้ชื่อเรื่องว่า “นกนางนวล” เวอร์ชันล่าสุดกำกับการแสดงโดยคุณบิ๊ก ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ละครเวทีเรื่อง The Seagull ที่ผมได้ไปชมนี้เป็นเวอร์ชันไอซ์แลนด์ โดยคณะนักแสดงและทีมงานจาก Reykjavik city Theatre กำกับการแสดงโดย Yana Ross ผู้กำกับชาวลิทัวเนีย ผู้ได้รับรางวัลผู้กำกับละครเวทียอดเยี่ยมจาก International Festival Kontakt of Torun ณ ประเทศโปแลนด์เมื่อปี 2016 แม้ว่าละครเวทีเรื่องนี้จะเปลี่ยนฉากจากประเทศรัสเซียไปเป็นบ้านพักตากอากาศริมทะเลสาบที่ไอซ์แลนด์ แต่ยังคงแก่นเรื่องอันน่าสนใจไว้ได้อย่างครบถ้วน นั่นก็คือเรื่องความเจ็บปวดของเราทุกคนที่ไม่ต่างอะไรจากนกนางนวลที่ถูกทำร้ายให้บาดเจ็บ มีแผลฝังอยู่ในใจ ปัญหาหลักของการแสดงชุดนี้คือการแสดงเป็นภาษาไอซ์แลนด์ แน่นอนว่าผมฟังไม่ออก จึงต้องคอยอ่านข้อความบรรยายภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลา แล้วประเด็นคือเวทีที่นี่กว้างมาก บทบรรยายอยู่ 2 ข้างซ้าย–ขวาของเวที ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะต้องดูทั้งการแสดงและบทบรรยายพร้อม ๆ กัน ทำให้ดื่มด่ำอรรถรสได้ไม่เต็มที่ เหตุการณ์ทำนองนี้นี่แหละครับที่ทำให้อยากจะเก่งทุกภาษาบนโลกนี้ แต่คงเป็นไปได้ยากเย็นเหลือเกิน ผมชอบนะ เวลาดูละครที่ได้รับการดัดแปลงให้เป็นบริบทของประเทศต่าง ๆ เพราะทำให้เรารู้จักและเข้าใจประเทศนั้น ๆ มากขึ้น ยิ่งถ้าได้ดูหลายเวอร์ชัน แล้วนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์บริบทที่แตกต่างกัน มันสนุกดีนะครับ ครั้งนี้ได้มาดู The Seagull เวอร์ชันไอซ์แลนด์ก็ทำให้นึกถึงตอนไปทัศนศึกษาที่ไอซ์แลนด์อยู่ไม่น้อย (ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่อะไรครับ แค่อยากจะอวดว่าเคยไปล่าแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ แค่นั้นแหละครับ) เทศกาลศิลปะที่มาเก๊านี่เขาจัดเป็นประจำทุกปีครับ มีการแสดงดี ๆ จากทั่วโลกมาแสดงให้ได้ชมกันคับคั่ง ถ้าปีหน้าผมมีโอกาส ก็ว่าจะมาอีก และผมก็หวังว่าคุณผู้อ่านก็จะลองเปิดใจไปเปิดโลกของศิลปะการแสดงที่มาเก๊าด้วยกันครับ เพราะงานศิลปะที่นี่ “เล่นใหญ่” เกินกว่าที่คิดจริง ๆ ครับ เผลอ ๆ จะโดดเด่นยิ่งกว่ากาสิโนอีกครับคุณ อ้อ…เรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลศิลปะมาเก๊าที่ผมจะเล่าสู่กันฟัง ยังไม่หมดแค่นี้นะครับ เพราะนี่ผมเล่าแค่ศิลปะการแสดงเท่านั้น เดี๋ยวครั้งหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่าผมไปดูอะไรในพิพิธภัณฑ์ไหนบ้าง _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ ขอบคุณภาพประกอบจาก http://yanaross.com www.hiroakiumeda.com www.icm.gov.mo