ชวนรู้จัก “มะเร็งลำไส้ใหญ่” โรคขี้ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องขี้ๆ ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะมะเร็งที่ส่วนใดของร่างกายก็น่ากลัวทั้งนั้น เพราะถึงเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปไกลสุดๆ แต่มะเร็งก็ยังเป็นโรคที่ไม่ได้ยากเกินจะเป็น และยอดผู้เสียชีวิตต่อปีจากเจ้าโรคร้ายนี้ก็ยังมากกกกอยู่ดี ในบรรดาโรคมะเร็งหลากชนิด มีอยู่หนึ่งชนิดที่เป็น “เรื่องขี้ๆ” ที่ขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องขี้ๆ เลยสักนิด! นั่นคือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer) ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายและท้องไส้ของเราโดยตรง – ที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องขี้ๆ ก็เพราะสถิติทางการแพทย์ฟ้องว่า นี่คือมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด ตัวอย่างของคนที่โชคร้ายโดนมันพรากลมหายใจไปล่าสุด ก็คือ แชดวิก โบสแมน นักแสดงผู้เป็นที่รักของแฟนหนังทั้งโลกจากบท “ฝ่าบาท” ที’ชัลล่า ผู้สง่างามแห่ง Black Panther และ Avengers นี่แหละ ขนาดเสือดำจอมราชันย์ยังพ่ายแพ้แก่มัน แล้วสามัญชนอย่างเราล่ะจะทำยังไง! Mango Zero เลยอยากชวนมารู้จักเจ้าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ให้รู้ถึงอาการ สาเหตุ วิธีรักษา เผื่อปวดท้องขึ้นมาจะได้ลองสังเกตตัวเองว่าเอ๊ะ ใช่หรือเปล่า เพราะยังไง…กันไว้ย่อมดีกว่าแก้อยู่แล้ว เนอะ 🙂 💩 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer) -เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เปลี่ยนแปลงผิดปกติ กลายเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ (Polyp) และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ขเกิดได้ทั้งส่วนลำไส้ใหญ่ช่วงต้น และช่วงปลาย 💩 เป็นสาเหตุเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง -อันดับ 4 ทั่วโลก -อันดับ 3 ในไทย 💩 อายุที่พบมากที่สุด -50 ปีขึ้นไป -แต่ก็เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะถ้าบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ 💩 อาการ -ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด -ท้องผูกเรื้อรัง -อุจจาระลีบเป็นลำเล็ก -ปวดท้องต่อเนื่องหลายวัน -น้ำหนักลงฮวบ แม้กินเท่าเดิม -เหนื่อยหรือเพลียจนผิดปกติ 💩 สาเหตุ ไม่แน่ชัด แต่คาดว่าจะเกิดจากการบริโภคอาหารเหล่านี้เป็นหลัก -อาหารรสจัด หรือหมักดอง -อาหารไขมันสูง -เนื้อแดงปริมาณมาก -อาหารทอด ปิ้งย่าง -อาหารขึ้นรา -อาหารสุกๆ ดิบๆ (ส่วนมากจะพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว) 💩 วิธีป้องกันเบื้องต้น -เลี่ยงอาหารที่เสี่ยงให้เกิดโรค -ทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ -ออกกำลังกายอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง 💩 รักษาให้หายขาดได้ -ผ่าตัด -เคมีบำบัด (Chemotherapy) -ฉายรังสี -ใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือการใช้ยาเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ด้วยวิธีการทำปฏิกิริยากับโมเลกุลเป้าหมายที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ที่มา: https://www.paolohospital.com/th-TH/chokchai4/Article/Details/ทางเดินอาหารและตับ/6-สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้-รู้เร็ว-ป้องกันได้ https://med.mahidol.ac.th/health_service/th/km/09feb2018-1836 https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/932