ตามที่นิสิตหญิงข้ามเพศ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวมตัวเรียกร้องขอแต่งกายตามเพศสภาพและร้องเรียนให้มีการสอบสวนอาจารย์ผู้สอนท่านหนึ่ง หลังปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนเพราะไม่แต่งกายชุดนิสิตตามเพศกำเนิดและถูกเหยียดเพศตลอดการสอน เป็นข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2561 จนนำมาซึ่งการร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งมีบทบาทและอำนาจเสมือนตุลาการตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558 เบื้องต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองนิสิตหญิงข้ามเพศดังกล่าวก่อนนั้น ล่าสุด 11 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ทางจุฬาฯ ได้มีหนังสือลงประกาศไว้ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ลงนามโดย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เรื่อง การแต่งกายของนิสิตไว้ 7 ข้อ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า “นิสิตอาจแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกก็ได้” และ “นิสิตอาจแต่งชุดสุภาพตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกได้” จากนั้นน้อง “อิ๊นซ์ – จิรภัทร” นิสิตข้ามเพศ จุฬาฯ จึงได้โพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณผู้มีส่วนร่วมผลักดันสิทธิฯ เพื่อความหลากหลายทางเพศทั้งหมด ที่ช่วยนิสิตข้ามเพศทุกคน ได้รับความเท่าเทียม ในการแสดงออกทางเพศสภาพ ที่สอดรับกับ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ทั้งบัณฑิตหญิงข้ามเพศคนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วลพ. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว รวมถึง บุคลากร และฝ่ายบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมผลักดัน ทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย ที่มา : ThaiPBS, มติชนออนไลน์