กว่า 20 ปีที่โค้ชเช ‘ชเว ย็อง-ซ็อก’ ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย ปัจจุบันเขาอายุ 47 ปี นั่นแปลว่าช่วงชีวิตของโค้ชเช เขาใช้เวลาอยู่ในเมืองไทยมาก่อนนักเทควันโด้ ทีมชาติบางคนเกิดเสียอีก ที่น่าสนใจคือ 3 ปีที่แล้ว เราได้ยินข่าวว่าโค้ชเช จะสละสัญชาติเกาหลี มาเป็นสัญชาติไทย เพียงแต่ว่าอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ และการตัดสินใจ เนื่องจากเกาหลี ไม่อนุญาตให้ถือ 2 สัญชาติ 3 ปีผ่านไป โค้ชเช เตรียมสละสัญชาติเกาหลีที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเปลี่ยนมาเป็นพลเมืองไทยหลังกลับจากโอลิมปิก และตอนนี้เขากลายเป็นโค้ชเทควันโดของไทย คนแรกที่พานักกีฬาไทย ‘เทนนิส – พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ’ คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ของสมาคมเทควันโดในโอลิมปิก ได้สำเร็จ เล่าเบื้องหลังของการเปลี่ยนสัญชาติเป็นอย่างไร และก่อนจะมาถึงความฝันที่คว้าทองในโอลิมปิก ณ วันนั้นเขาคิดอย่างไร มาอ่านเรื่องราวของโค้ชเช กัน อยากไปโอลิมปิคในฐานะโค้ช ‘คนไทย’ โค้ชเช เล่าอย่างเปิดใจว่าเป้าหมายสำคัญในการสละสัญชาติเกาหลีใต้ คือเขาอยากได้เหรียญทองโอลิมปิคในนามโค้ชทีมชาติไทย สัญชาติไทยที่พาทีมไทยลงไปแข่งในระดับโลก นี่คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเขาในฐานะโค้ชที่อยู่เมืองไทยมากว่า 20 ปี “สิ่งที่ทำให้ผมอยากเปลี่ยนสัญชาติไทยคือ ‘เหรียญทองโอลิมปิค’ ครับ ที่ผ่านมาทีมยกน้ำหนัก กับทีมมวยสากล ทำเหรียญทองให้ประเทศได้ ซึ่งตอนนั้นเป็นโค้ชต่างชาติที่ทำได้คือโค้ชฮวน (ฮวน ฟอนตาเนียล โค้ชมวยสากลสมัครเล่นไทย) และโค้ชจาง (จาง เจีย หมิน โค้ชยกน้ำหนักทีมชาติไทย) แต่ยังไม่เคยมีโค้ชสัญชาติไทยที่ทำได้ แล้วถ้าทีมเทคควันโดได้เหรียญทองเป็นประวัติศาสตร์ในโอลิมปิค ผมก็อยากจะทำทีมให้ได้เหรียญทอง โดยคนที่พาไปคือโค้ชสัญชาติไทย ผมก็อยากทำงานนี้ในฐานะคนไทย ที่พานักกีฬาไทยไปได้เหรียญทอง เลยอยากเป็นโค้ช ที่ถือสัญชาติไทย ถ้าทำได้ก่อนไปโอลิมปิค ผมก็จะเป็นคนไทย (ยิ้ม) แล้วก็อยากทำเหรียญทองประเทศไทยให้คนไทยด้วย” และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 โค้ชเช และ เทนนิส พาณิภัค สามารถทำความฝันของสมาคมเทควันโดให้กลายเป็นจริงได้แล้วด้วยการคว้าทองโอลิมปิกแรกจากกีฬาเทควันโด คิดเรื่องสละสัญชาติหลังโอลิมปิค 2016 โค้ชเชเล่าให้เราฟังอีกว่า ก่อนหน้านั้นเขาคิดเรื่องสละสัญชาติมาสักพักนึงแล้วน่าจะเกือบๆ 10 ปี แล้ว แต่ในช่วงหลังจบโอลิมปิคปี 2016 เขาคิดเรื่องนี้แบบจริงจังมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เขาเคยคุยกับทางประเทศไทยเรื่องจะถือสองสัญชาติ เป็นเกาหลีใต้ และเป็นไทย ทางการไทยอนุญาต แต่ทางเกาหลีใต้ ไม่อนุญาตให้ถือ 2 สัญชาติ ต้องเลือกเท่านั้นว่าจะถือสัญชาติอะไร สุดท้ายโค้ชเช เลยตัดสินใจถือสัญชาติไทยแทนประเทศบ้านเกิด “ผมอยู่เมืองไทยมา 19 ปีแล้ว ชีวิตของผมก็คงอยู่ที่เมืองไทย ลูกชาย และครอบครัวผมก็รักเมืองไทย” เขาเล่าถึงชีวิตในเมืองไทยที่อยู่มาเกือบ 2 ทศวรรษ “พอมีโอกาสก็อยากจะอยู่ที่นี่ อยากช่วยพัฒนาเรื่องเทควันโด้ของไทย ให้ไปไกลกว่านี้ ตัวผมเองก็มุ่งมั่นทางนี้มาก ล่าสุดเพิ่งเรียนจบปริญญาเอกเรื่องเทควันโด (สาขาเทควันโด มหาวิทยาลัยดงอา) และปริญญาเอก สาขาการจัดการกีฬา (คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) อนาคตก็อยากช่วยเรื่องวงการกีฬาไทย ผมเห็นระบบไทยกับเกาหลีใต้ และทั่วโลก เรื่องระบบ เราดีมาก และพัฒนาเร็วขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผมเป็นคนไทยแล้ว ก็อยากจะมาช่วยในฐานะคนไทย ผมตั้งใจอยากจะเกษียณอายุในฐานะโค้ชที่เมืองไทย “อันที่จริงผมถือสัญชาติเกาหลี ก็มีตัวเลือกเยอะ จะไปเป็นโค้ชที่ไหนก็ได้ หรืออาจจะกลับบ้านก็ได้ แต่ถ้าได้ถือสัญชาติไทย นั่นหมายถึงผมจะสร้างชีวิตที่นี่ แล้วผมทำอะไรก็ต้องจริงจังยิ่งกว่าเดิม ตั้งใจกว่าเดิมในเป้าหมายที่วางไว้คือพัฒนาวงการเทควันโด้ไทย และได้เหรียญทองโอลิมปิค…” เขานิ่งคิดสักครู่เว้นจังหวะ แล้วเน้นเสียงเข้มแสดงถึงความตั้งใจที่หนักแน่น “ถ้าได้สัญชาติไทยแล้ว ผมคงต้องยิ่งทำอะไรจริงจังมากกว่าเดิม” ผูกพันธ์กับนักกีฬาไทยไม่อยากไปที่ไหน โค้ชเช ถือว่าเป็นโค้ชเทควันโดเนื้อหอมคนหนึ่ง ที่ผ่านมามีชาติอื่นๆ เห็นผลงานเทควันโด ทีมชาติไทย ไต่เต้ามาจากทีมที่ไม่มีหวังในเหรียญใดๆ สู่ทีมที่มีโอกาสคว้าเหรียญทอง อยากจะชวนเขาไปเป็นเฮดโค้ชด้วย แต่โค้ชเชปฏิเสธ…พราะถ้าเลือกได้ เขาไม่อยากสู้กับลูกศิษย์ตัวเอง ที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว “เคยมีชาติอื่นติดต่อมาเสนอให้ไปเป็นเฮดโค้ช ด้วยเงินเดือนและสวัสดิการที่ค่อนข้างสูง แต่ผมทำใจลำบากที่สุดถ้าต้องลงสนามไปแล้วต้องไปสู้กับอดีตนักกีฬาของเรา สมาคมเทควันโดไทยเหมือนบ้าน สตาฟโค้ชก็เหมือนพ่อแม่ ส่วนนักกีฬาก็เหมือนลูกๆ ของผม ผมทำใจลำบาก ถ้าต้องสู้กับครอบครัวของเรา แล้วเป้าหมายผมคืออยากทำให้ไทยได้เหรียญทอง ผมเลยคุยกับนักกีฬาว่า ผมจะเป็นโค้ชให้นักกีฬาไทยที่สุดท้าย เพราะไม่อยากชนะคุณ ไม่อยากสู้กับที่ไทย ผมเลยอยู่มาจนถึงทุกวันนี้” แม้เราจะเคยได้ยินว่า โค้ชเชดุ มากๆ แต่นั่นคือช่วงฝึกซ้อม หลังจากการซ้อมจบลงโค้ชเช ก็คือคุณพ่อที่ใจดีคนหนึ่ง เขาเลยมีความสนิทกับลูกศิษย์มากๆ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะผูกพันธ์กัน “เรากับลูกศิษย์สนิทกันมาก เท่าที่จำได้ ผมดูแลพวกเขามาประมาณ 300 คน เราดูแลทุกชุดทั้ง เยาวชน มหาวิทยาลัย ประชาชน เราดูแลมาตั้งแต่เด็กจนโต บางคนเจอกันตั้งแต่ 10 กว่าขวบ แม้ว่านักกีฬาจะไม่ได้ติดทีมชาติแล้ว เราก็ยังได้เจอกัน อย่าง 30 เมษายน เป็นวันเกิดผม ตอนนั้นผมซึ้งใจมากที่มีลูกศิษย์เก่าๆ มาเจอกัน ทุกคนเก็บเงินรวมกันแล้วมาจัดงานวันเกิดให้ผม วันครอบครัวให้ผม ผมดีใจมาก ยิ่งทำให้เราอยากอยู่กับลูกศิษย์ที่ไทยไปนานๆ” อยากทำมูลนิธิฯ ในไทยหลังจากยุติบทบาทหัวหน้าผู้ฝึกสอน โค้ชเช อยู่เมืองไทยมานาน จนซึมซับความเป็นคนไทย และรับรู้ว่าคนไทยให้ความรักกับเขามากแค่ไหนในวันที่พาทีมเทควันโด ไทยไปคว้าเหรียญทองแดงครั้งแรก ที่โอลิมปิค ตั้งแต่ปี 2004 จาก ‘วิว เยาวภา’ เมื่อได้รักกลับมาเขาก็อยากมอบรักคืนกลับไปบ้าง แม้จะจบบทบาทจากการเป็นโค้ชแล้ว “ผมรู้สึกว่าคนไทยรักผมมาก ทำอะไรก็ให้กำลังใจตลอด ผมก็อยากจะให้รักคืน เลยตั้งใจจะทำมูลนิธิในไทยเพื่อสนับสนุนเด็กๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยโอกาสของการเป็นนักกีฬา ไม่ใช่แค่เทควันโด อย่างเดียว แต่เราอยากให้เด็กๆ ที่ไม่มีโอกาส ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยกีฬา” “ผมเข้าใจดีถึงความลำบากของเด็กๆ ที่ครอบครัวยากจน เพราะในวัยเด็กผมเองก็ค่อนข้างยากจน แม่ผมทำงานเหนื่อยมากๆ วันหนึ่งต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งทำงานโรงงาน เป็นแม่บ้าน เป็นพนักงานส่งอาหาร ความฝันส่วนตัวของผมของผมในตอนนั้นคืออยากจะช่วยที่บ้านหาเงิน แต่ยังไม่คิดถึงขั้นมาเป็นนักกีฬาหรือว่าโค้ชทีมชาติ คิดแต่ว่าอยากไปทำงานที่ต่างประเทศ จนได้มาเล่นเทควันโด้ และกลายมาเป็นโค้ชเทควันโด จนถึงวันนี้ เพราะได้โอกาสที่ดี เมื่อมีโอกาสผมก็อยากคืนกลับไปบ้าง” ผมรู้สึกว่าคนไทยรักผมมากเลยตั้งใจจะทำมูลนิธิในไทยเพื่อสนับสนุนเด็กๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยโอกาสของการเป็นนักกีฬา ยังไม่มีชื่อ – นามสกุลไทยอย่างเป็นทางการ ไชยศักดิ์ คือชื่อไทยที่นักกีฬาตั้งใช้โค้ช ชเว ย็อง-ซ็อก ซึ่งชื่อไทย นักกีฬาก็เอามาจากชื่อเกาหลีของโค้ช มาปรับเป็นชื่อไทย แต่ถ้าชื่ออย่างเป็นทางการในฐานะคนไทย โค้ชเชบอกกับเราว่า “ขอไปดูดวงก่อน” “เรื่องตั้งชื่อไทยผมต้องไปคุยกับคุณพิมล (ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมาคมฯ) ก่อน เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ อีกอย่างเรื่องชื่อก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ของคนไทย ก็เลยต้องดูเรื่องดวงด้วย ผมก็ต้องการชื่อไทยที่ให้ผู้ใหญ่ช่วยดูให้”