มองย้อนกลับไปก่อนที่โลกจะพัฒนาจนมีอะไรให้เล่นมากมายแบบทุกวันนี้ เราเติบโตมากับการละเล่นด้วยการประดิษฐ์ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งของรอบตัว รวมถึงการใช้อวัยวะในร่างกายเรามาสร้างสรรค์เป็นการละเล่นสนุกๆ ที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำมาแสนนาน ถ้าลองสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าแทบทุกการละเล่นจะมีเพลงประกอบเกือบทั้งหมด และเชื่อว่าจนถึงตอนนี้ถ้ามีใครร้องขึ้นมาซักหนึ่งประโยค คงร้องต่อกันได้แน่นอน วันนี้เราเลยจะมาทดสอบความจำ พานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปดูการละเล่นในวัยเด็ก ที่จะทำให้ทุกคนคิดถึงกัน! ตบแปะ เกมที่ต้องใช้ทักษะการขยับมือและสมาธิขั้นสูง เพราะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ถึงขั้นเอาหลักจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องกันเลยทีเดียว การเล่นตบแปะแต่ละเวอร์ชั่นก็มีความแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมที่ซึมซับมา บางเวอร์ชั่นจบท้ายด้วยการเป่ายิงฉุบให้รู้แพ้ รู้ชนะกันไปข้าง บางเวอร์ชั่นก็เล่นกันจนกว่าจะเมื่อยมือถึงเป็นอันว่าจบเกม ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องจับคู่ 2-3 คนขึ้นไป และเล่นตบแปะกันไปตามจังหวะการร้อง ส่วนเพลงก็จะเเตกต่างกันไปมากมาย ถ้าเอามารวมกันคงออกอัลบัมได้ แถมเพลงนึงยังมีหลายเวอร์ชั่นอีกต่างหาก ลองเช็กลิสต์ในใจเล่นๆ ดูสิ ว่าตัวเองเคยเล่นเวอร์ชั่นไหนมาบ้าง แซะ แซะ แซะ สัปดาห์ เซเซมีมี ปิ่งป่องสารพัดแบบ นางเงือกน้อย และบ้านทรายทอง เพลงโดเรม่อน ม่อน ม่อน โดเรมี่ มี่มี่ โนบิตะ ชิสุกะ ใครชนะได้เป็นไจแอนท์ ยาหย่าย่า ยีหยี่ยี่ คุณแม่ซักผ้า คุณยายสระผม ลูกอมโบตัน ยาสีฟันคอลเกต สบู่วิเศษ วิเศษจริงๆ ยันยิงเยาปักเป่ายิงฉุบ อยากกินไข่พะโล้ โป๊ะ กินกับแกงกะหรี่ โป๊ะ อยากกินกล้วยบวชชี กะหล่ำปลีน่ากินน่ากิน โป๊ะ โป๊ะ โป๊ะ เอบีซี การละเล่นสำหรับคนที่ปากไม่ตรงกับใจ เพราะเกมนี้ผู้เล่นจะต้องตอบสนองในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ได้ยินหรือเห็น แน่นอนว่าก็ต้องมีตัวอักษร เอ บี ซี และ ดี แต่แอบได้ยินว่าบางที่มีถึงเอฟเลยล่ะ เรียกว่ายังไม่ทันได้เล่นก็จำท่าไม่ได้แล้ว เอ บี ซี และ ดี จะมีท่าประจำตัวของตัวเอง ซึ่งกติกาการเล่น คือ ผู้เล่นคนอื่นต้องออกท่าทางให้ตรงข้ามตัวอักษรที่ผู้พูด บอกเลยว่างานนี้ยิ่งคนเล่นเยอะยิ่งสนุก โดยเฉพาะตอนลงโทษ เพราะคนแพ้ต้องน้อมรับพลังตบสลาตันที่ส่งตรงถึงหลังมือ จากทุกคนในวงนั่นเอง จ้ำจี้ หลายคนคงเคยได้ยินทั้งจ้ำจี้ผลไม้ และจ้ำจี้มะเขือเปราะ ถึงแม้ชื่อจะต่างกันแต่ทั้งสองอย่างก็มีวิธีเล่นที่เหมือนกัน คือ ผู้เล่นนั่งล้อมวงกัน คว่ำมือทั้งสองข้างลง แล้วให้คนหนึ่งเป็นคนจิ้มนิ้วของผู้เล่นทีละนิ้วให้ครบรอบวง พร้อมร้องเพลงไปด้วย ถ้าร้องจบแล้วจิ้มอยู่ที่นิ้วไหนคนนั้นต้องพับนิ้วนั้นเข้าไป หากใครต้องพับนิ้วทั้งหมดเป็นคนแรกเท่ากับแพ้นั่นเอง นั่งจ้ำจี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนพับนิ้วหมด นั่นแหละเกมถึงจะจบ ซูโม่นิ้ว เกมสุดแกร่ง ถึงแม้จะใช้แค่นิ้วเดียวแต่ก็แข่งกันเป็นจริงเป็นจังมาก เจอหน้าคนรู้จักเป็นต้องยกมือขึ้นมาดวลกันอยู่เสมอ ไม่รู้ทำไม ซึ่งแต่ละคนก็จะมีทริคประจำตัวที่งัดออกมาเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ กติกาก็ง่ายมาก เพียงให้ผู้เล่นทั้งสองคนจับมือกันในลักษณะงอนิ้ว แล้วชูนิ้วโป้งขึ้น เมื่อเริ่มเกมหากใครกดนิ้วโป้งของฝ่ายตรงข้ามได้ถึง 10 วินาทีก่อนจะเป็นผู้ชนะไป หากใครจะดูถูกว่าเกมนี้มันช่างง่ายแสนง่าย ขอบอกเลยว่าเกมนี้ต้องใช้ประสาทสัมผัสอันเฉียบแหลมเพื่อโจมตีและป้องกันในเวลาเดียวกัน และเมื่อจบเกมอาจทำให้นิ้วอ่อนแรงเล็กน้อยอย่างที่คาดไม่ถึงเชียวล่ะ! กระดาษทายใจ ในวัยที่ไม่สามารถไปดูดวงกับแม่หมอได้ ก็มีกระดาษทายใจนี่แหละที่พอแก้ขัดไปก่อน เพราะมีแค่กระดาษแผ่นเดียว ก็สามารถพับ พร้อมใส่คำทำนายแบบตามใจคนเขียนได้ทั้งใน 4 มุมกระดาษ เพียงเลือกตัวเลขที่อยู่บนมุมกระดาษ และบอกจำนวนครั้งกับแม่หมอผู้ถือกระดาษ แม่หมอก็จะทำการขยับกระดาษจนครบตามจำนวน จากนั้นคำทำนายก็จะถูกเผยออกมาให้เห็น ลายมือเสี่ยงดวง เกมยอดฮิตของเด็กน้อยวัยประถมที่ต้องการสร้างฐานะให้มั่นคงในอนาคตโดยการเสี่ยงดวงขำๆ แต่คิดเป็นจริงเป็นจังมาก ซึ่งวิธีการเสี่ยงก็ง่ายแสนง่าย ก่อนเล่นต้องทำกระดาษเสี่ยงดวงก่อน โดยทาบมือลงบนกระดาษแล้วลากเส้นตามรอยมือ จากนั้นเขียนแบ่งประเภทสิ่งที่ต้องการมีในอนาคตโดยการสุ่ม เมื่อทำเสร็จก็เริ่มเล่นด้วยการขีดเส้นบนกระดาษเปล่าไปเรื่อยๆ แล้วผู้ที่ต้องการเสี่ยงทายจะต้องบอกว่าหยุด คนที่ขีดอยู่ต้องเป็นคนนับว่าได้เท่าไร หลังจากนั้นก็มานับบนนิ้วในกระดาษที่ทำโดยเรียงจากนิ้วโป้งก่อน ทำจนครบ 5 นิ้ว เพื่อให้ได้ดวงออกมาครบ ซึ่งจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน กรรไกร ไข่ ผ้าไหม กรรไกร ไข่ ผ้าไหม ไข่ หนึ่งใบ สองบาท ห้าสิบ ห้าสิบ สองบาท หนึ่งใบ ไข่ ผ้าไหม ไข่ กรรไกร! เกมนี้เป็นการละเล่นที่ต้องใช้สมาธิในการการแยกแยะค่อนข้างสูง ถึงจะดูเป็นการเล่นที่ไม่มีอะไรมาก แต่เพราะว่าต้องทำท่าตามคำในเพลงให้ทัน ใครที่ยิ่งทำได้เร็วก็จะยิ่งเทพสุดในแก๊งเลยล่ะจะบอกให้ ไข่แตก เกมที่ผู้เล่นทุกคนจะสมมติว่ามือตัวเองเป็นไข่ แล้ววางซ้อนกันไป โดยไข่จะเริ่มแตกทีละใบตามเนื้อเพลงที่ร้องว่า ไข่ห้าฟองวางอยู่บนโต๊ะ แตกดังโป๊ะ เหลือไข่สี่ฟอง และร้องไปเรื่อยๆ จนไข่แตกทั้งหมด ทุกคนจะเริ่มตีมือกันลงไปเรื่อยๆ จนถึงมือคนสุดท้ายต้องตีพื้น หมากเก็บ ย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หมากเก็บเป็นเกมอันดับต้นๆ ในวัยเด็กที่มีวิวัฒนาการมาหลายแบบ ตั้งแต่การใช้ก้อนกรวดเล่นจนมาเป็นโซ่หมากเก็บสีสันสวยงามที่เล่นกันในปัจจุบัน วิธีเล่นก็ง่ายๆ แค่ตั้งวงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ใช้ 5 หมากในการเล่นแล้วพิชิตไปทีละด่าน เก็บตั้งแต่ 1 จนถึง 5 ตามแต่ละด่าน เมื่อทำหมากตกหรือโดนหมากตัวอื่นก็ถึงคิวเปลี่ยนให้คนต่อไปเล่น เรียกได้ว่าเป็นเกมที่กระชับความสัมพันธ์ได้ดี เพราะช่วยกันลุ้นตัวโก่งเลยทีเดียว ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการละเล่นส่วนหนึ่งที่เราได้หยิบยกขึ้นมาให้หายคิดถึง แต่ยังคงมีอีกหลายสิบเกมที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความทรงจำดีๆ ไว้เมื่อวัยเด็ก ที่อาจหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ยังไงวันเด็กปีนี้ก็ลองชวนคนรอบข้างนั่งไทม์แมชชีนย้อนวัยไปเล่น คงจะสร้างสีสันในวงสนทนาได้ดีกันเลยทีเดียว