Mango Zero

“ชัยวุฒิ” รัฐมนตรีดีอีเอส ยอมรับมีการใช้ “สปายแวร์สอดแนมข้อมูลประชาชน” จริง แต่ใช้สำหรับด้านความมั่นคง และยาเสพติด

“ชัยวุฒิ” รัฐมนตรีดีอีเอส ยอมรับมีการใช้ “สปายแวร์สอดแนมข้อมูลประชาชน” จริง แต่ใช้สำหรับด้านความมั่นคง และยาเสพติด

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ชี้แจงต่อสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเรื่องการใช้ “สปายแวร์” ติดตามข้อมูลประชาชน โดยได้ยอมรับว่ามีอยู่จริง แต่มีไว้สำหรับเรื่องความมั่นคง และยาเสพติด

โดย ศรันย์ ทิมสุวรรณ (ส.ส. พรรคเพื่อไทย) ผู้ซักฟอก ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้อภิปรายเรื่อง “Cyber Crime” หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงเรื่อง “สปายแวร์สอดแนมข้อมูลประชาชน” หรือที่เรียกว่า “เพกาซัส” (Pegasus) ที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมากกว่า 1 ล้านบาท

ซึ่งเรื่องสปายแวร์ ก็พึ่งมีประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น เมื่อ “ไอลอว์” ครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้เปิดเผยว่ามีการคุกคามนักวิชาการ นักกิจกรรมการเมือง และเอ็นจีโอไทยอย่างน้อย 30 คน ด้วยการใช้สปายแวร์ “เพกาซัส” (Pegasus) เพื่อสอดแนมข้อมูลส่วนตัวที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ  โดยมีเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้ทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงปี 2563-2564

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ก็ไม่ได้ตอบในเรื่องนี้โดยตรง แต่ได้ชี้แจงต่อสภาว่า 

“เรื่องสปายแวร์ที่เข้าไปดักฟังตัวเครื่องมือถือ แล้วรู้ถึงการพูดคุย การส่งข้อความทั้งหมด ผมรู้ว่ามีจริง ระบบนี้มีจริง แต่ทางกระทรวงดิจิตอลไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ เท่าที่ทราบจะมีไว้ใช้สำหรับด้านความมั่นคง และด้านยาเสพติด ใช้สำหรับคดีพิเศษ คดีสำคัญ ที่ต้องดักฟังพวกค้ายาเสพติด

และได้บอกทิ้งทายอีกว่า “อยากให้ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนแน่นอน” 

จากข้อมูลของไอลอว์ ได้มีการเปิดเผยรายงานเรื่องการใช้สปายแวร์เพกาซัสในไทย จากการสอบสวนของ ฟอร์บิดเดน สตอรีส์ (Forbidden Stories) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เผยแพร่รายงานเมื่อเดือน ก.ค. 2564 ว่า บริษัทเทคโนโลยีเอ็นเอสโอ (NSO Group Technologies) สัญชาติอิสราเอล ได้ขายเพกาซัสให้รัฐบาลหลายประเทศเพื่อใช้สอดส่องและล้วงข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และทนายความที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล 

โดยเพกาซัสจะเจาะเข้าโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) แล้วล้วงข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อความสนทนา รูปภาพ อีเมล บันทึกการโทร และสามารถจับภาพจากกล้อง ดักฟังการสนทนา นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก BBC News ไทย, The MATTER, วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา