ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงผลกระทบของ “ปลาดุก” ต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ
ใจความว่า การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ปลาหายาก หรือ ปลาท้องถิ่น
เปรียบเหมือนเอาเสือ เอาสิงโต มาปล่อยลงไปในหมู่บ้านคุณเพื่อทำบุญ โดยคุณไม่มีทางที่จะสู้ ซึ่งมีคนแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก
คำนวณผลกระทบของปลาดุกปล่อยต่อระบบนิเวศ
สรุปสำหรับใครที่ขี้เกียจอ่าน ปลาดุก 1 ตันกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000…
Posted by Nonn Panitvong on Saturday, August 8, 2020
ด้านผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลาดุกที่นิยมปล่อยกันส่วนใหญ่เป็น “ปลาดุกบิ๊กอุย” ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมระหว่าง “ปลาดุกอุย” ของไทยกับ “ปลาดุกรัสเซีย” เพื่อให้ได้ปลาดุกที่ตัวใหญ่ มีการเลี้ยงกันมา 20 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันมีปลาดุกอื่นมาผสมอีก จนตอนนี้ปลาดุกพันธุ์ผสมอีกหลากหลาย
ประกอบกับปลาดุก เดิมทีเป็นปลาที่มีลักษณะกินไม่เลือกตั้งแต่เริ่ม เมื่อไปผสมพันธุ์ใหม่ จึงยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น กินจุขึ้น โตไว จึงนิยมเลี้ยงไว้เพื่อขาย และเมื่อมีคนนำปลาดุกเหล่านี้ ไปปล่อยลงในแม่น้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศ
ซึ่งระบบนิเวศตามธรรมชาตินั้น ปลาตัวใหญ่จะกิน ปลาตัวเล็ก เมื่อไม่มีปลาในแม่น้ำที่ตัวเล็กกว่าปลาดุกพันธุ์ผสมนี้ จึงทำให้ปลาดุกเป็นฝ่ายกินปลาท้องถิ่นต่าง ๆ แทนเพื่อความอยู่รอด
ยิ่งเวลาปล่อยปลาทำบุญกันครั้งละหลักพันตัว หมื่นตัว จึงเปรียบเหมือนคนเราอยู่ในหมู่บ้าน อยู่ดีๆ ก็มีตัวประหลาด มีซอมบี้บุกเข้ามาเป็นพันตัว หมื่นตัว ซึ่งเราไม่สามารถสู้ได้
พร้อมแนะนำสำหรับคนที่อยากทำบุญปล่อยสัตว์น้ำนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ ควรลดการทิ้งถุงพลาสติกลงในน้ำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยสัตว์น้ำให้รอดตาย โดยไม่ต้องปล่อยสัตว์น้ำ แต่เลือกที่จะไม่ฆ่าเขาแทน
แต่หากต้องการปล่อยสัตว์น้ำจริงๆ ต้องคำถึง 4 ข้อ ได้แก่ 1.ปลาเล็ก 2.ปลากินพืช 3.ปล่อยครั้งละน้อยๆ และ 4.เลือกปล่อยปลาท้องถิ่น หากทำได้ตามนี้ก็จะไม่มีปัญหาตามมา
ที่มา : Thairath