เมื่อพูดถึงการกินเยอะ กินตลอดเวลา อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวใครหลายคน ถ้ายังพอควบคุมพฤติกรรมการกินได้ ก็ถือว่าไม่อันตราย แต่หากเริ่มมีอาการทางจิตใจ หรือควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเข้าข่าย Binge Eating Disorder จากการกินที่ทำให้มีความสุข อาจกลายเป็นความทุกข์ไปเลยก็ได้ มาสำรวจตัวเองกันว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
Binge Eating Disorder คืออะไร
บางคนอาจสงสัยว่าการกินเยอะ กินตลอดเวลานำไปสู่ความผิดปกติได้เลยหรอ?
ในผู้ที่มีอาการ Binge Eating Disorder จะกินอาหารเยอะกว่าปกติ ไม่ใช่แค่ ‘อยากกินต้องได้กิน’ แต่แม้จะไม่หิวก็ยังกินอาหารปริมาณมากแบบควบคุมไม่ได้ และยังมีอาการทางจิตใจเกี่ยวกับรูปร่างและพฤติกรรมการกิน รวมถึงมักมีภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) และภาวะอ้วน (obesity) ในบางราย
สาเหตุของ Binge Eating Disorder
อาการนี้เป็นอาการทางกายร่วมกับอาการทางจิตใจ จึงมีสาเหตุไม่แน่ชัด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม สภาพแวดล้อม ไปจนถึงอาการป่วยทางจิตใจ และเหตุการณ์ฝังใจในอดีต มักเป็นเหตุการณ์แง่ลบ เช่น โดนบูลลี่เรื่องรูปร่างหรือน้ำหนักตัว
Binge Eating Disorder มีโอกาสเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิง 3.6% เผชิญกับในช่วงหนึ่งของชีวิต ในขณะที่พบในผู้ชาย 2% ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางร่างกาย และชีวเคมี (Biological factors)
เช็คอาการ Binge Eating Disorder
อาการของ Binge Eating Disorder มักจะเกิดขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เป็นต่อเนื่องนานเป็นเดือน
- กินอาหารปริมาณมากแม้ไม่รู้สึกหิว
- บางครั้งอาจไม่รู้ตัวว่าอิ่มหรือหิว
- มักรู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่หลังจากกินอาหารปริมาณมาก
- ไม่สามารถควบคุมการกินได้
- กินอาหารมากเกินไปจนไม่สบายตัว
- เก็บซ่อนอาหารไว้รอบ ๆ บ้าน เพื่อกินตลอดเวลา
- น้ำหนักไม่คงที่
- มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล โดยเฉพาะความเห็นด้านลบจากคนรอบข้างเกี่ยวกับรูปร่าง
วิธีรักษาอาการ Binge Eating Disorder
เนื่องจาก Binge Eating Disorder มีอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงมักใช้ยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดความอยากอาหาร ยาปรับสมดุลสารเคมีในสมอง และรักษาสภาพจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยการให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจสาเหตุ นำไปสู่การปรับพฤติกรรมการกิน ความคิด และอารมณ์
หากสังเกตและพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติทั้งพฤติกรรมการกิน และจิตใจ เข้าข่าย Binge Eating Disorder ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
นอกจากนี้คนรอบข้างเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาได้ โดยการไม่แสดงความคิดเห็นด้านลบที่อาจไปกระตุ้นความกังวลหรือความรู้สึกแย่ของผู้ป่วย รวมถึงให้กำลังใจ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้น
ที่มา