“แกแมสแล้วว่ะ…” นี่คือประโยคจำของโฆษณาชุด ‘K PLUS เธอเธอ‘ หนึ่งในโฆษณาของธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ ที่มียอดผู้ชมกว่า 50 ล้านวิว ไม่ใช่แค่เพราะได้ ‘เต๋อ – นวพล‘ มากำกับเท่านั้น แต่เนื้อเรื่องของโฆษณา K PLUS เธอ เธอ ก็ตลกแหวกขนบโฆษณาธนาคารอย่างสิ้นเชิง หลุดกรอบจากภาพลักษณ์ทางการกลายมาเป็นโฆษณาเน้นฮาแต่ขายของได้
ตอนที่ดูจบเราถึงกับร้องในใจว่า “เชร้ดดดด! เอาพี่เต๋อ มากำกับเลยเหรอวะ…” ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ซีรีส์ ‘เธอเธอ‘ ตัวที่สองที่ค่อยๆ ปล่อยของบนเพจ “จ๋า ลายไฟ เพลิงมิตรภาพ” ก็กำกับโดยผู้กำกับรุ่นใหม่ ‘เบนซ์ Salmon House’ (ธนชาติ ศิริภัทราชัย) ด้วย โดยเอา ‘จ๋า เสื้อลายไฟ‘ คาแรคเตอร์จากโฆษาณาตัวแรกมาพัฒนาเพิ่มทำให้เรื่องราวเซอร์เรียล และฮาอย่างน่าจดจำ
ไหนๆ ก็กล้าเล่นเน้นฮาซะขนาดนั้น เราเลยอยากรู้เบื้องหลังว่ากว่าจะมาเป็นโฆษณาในซีรีส์ ‘K PLUSเธอ เธอ‘ นั้นคุยกันยังไงลูกค้า (อันหมายถึงเคแบงก์) ถึงยอมปล่อย ทำยังไงเอเจนซีถึงโน้มน้าวผู้กำกับให้มากำกับได้ และยังต่อยอดไปถึงซีรี่ย์ตัวที่สองอีก มาคุยกันกับ 3 บุคคลที่อยู่เบื้องหลังความ “แมส” ที่ว่านี้
- ปั๋ม–พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้บริหารที่เปิดใจกับไอเดียและกล้าให้ทีมทำ
- เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับ ที่สร้างโฆษณาแนวๆ แมสๆ ให้เคแบงก์
- หนึ่ง–อัศวิน พานิชวัฒนา Executive Creative Director ของ GREYnJ United ผู้ชวนเต๋อมาปลุกปั้นโฆษณาจากไอเดียให้กลายเป็นจริง
จุดเริ่มต้นของโฆษณาซีรีส์ ‘เธอเธอ‘
หากย้อนกลับไปตอนแรกสุดเลย โฆษณานี้เริ่มต้นมาจาก หนึ่ง–อัศวิน ได้โจทย์จากเคแบงก์ว่า จะทำอย่างไรที่จะบอกให้คนรู้ว่าแอป K PLUS เป็นแอปมหาชนที่ใครๆ ก็ใช้ ใช้แล้วคุยกับใครก็รู้เรื่อง เป็นแอปธนาคารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยการสื่อสารออกไปตรงๆ
ทำให้คนทั่วไปรู้ว่า K PLUS ใช้ง่ายจริงๆ เหมือนกับสโลแกนที่ว่า ‘ง่ายใครๆ ก็ใช้‘ เขามีไอเดียเบื้องต้นในการทำโฆษณาไว้หลายเรื่อง นั่นจึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกันทั้งสามฝ่ายเพื่อให้เกิดโฆษณาชิ้นนี้
- แรกสุดเอเจนซีคุยไอเดียกับผู้กำกับก่อน และผู้กำกับที่นึกถึงว่าจะต้องชวนมากำกับคือเต๋อ นวพล โดยให้เหตุผลว่าแนวทางโฆษณาแบบนี้ต้องเต๋อ เท่านั้นที่กำกับได้
- ส่วนเต๋อ ก็ชอบสตอรี่บอร์ดสองเรื่องและหนึ่งในนั้นคือสตอรี่บอร์ด ‘เธอเธอ‘
- ก่อนไปขายงานลูกค้า เต๋อโทรมาย้ำกับหนึ่งว่าเขาชอบ ‘เธอเธอ‘ มากที่สุด เพราะเป็นบอร์ดที่มีแนวทางที่ไปต่อได้
- สุดท้ายแล้วลูกค้าเลือกสตอรี่บอร์ด ‘เธอเธอ‘ ตอนรู้ผลเต๋อ บอกว่า “จริงๆ ผมก็ยังตกใจที่ลูกค้าชอบนะ“
- ตอนอธิบายให้ลูกค้านึกภาพโฆษณานี้ออกว่าหน้าตาเป็นแบบไหน เต๋อบอกว่านี่คือหนังโฆษณาที่เหมือนหนังเรื่อง Speed แต่ตลก แน่นอนลูกค้างงแต่ก็ไว้ใจ
- ปั๋ม พัชร เล่าว่า เคแบงก์ปล่อยให้ทีมเอเจนซี และทีมสื่อสารการตลาดของเคแบงก์ทำงานอย่างอิสระ เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าเรื่องโฆษณาต้องปล่อยให้คิด ให้ทำ แล้วจะได้ไอเดียดีๆ งานดีๆ จากมืออาชีพทุกคน
เบื้องหลังการถ่ายทำ ‘เธอเธอ’
ในส่วนของโปรดักชั่นส์นั้นมีเบื้องหลังการทำงานที่สนุกมากมาย ทว่ากว่าจะมาเป็นโฆษณาความยาว 5 นาที 37 วินาทีนั้นมีความยากและรายละเอียดซ่อนอยู่มากมาย ซึ่งเบื้องหลังก็สนุกไม่แพ้เบื้องหน้าเลย
- ตัวแสดงนำหน้าเดธที่ชื่อ “ฮุ่ย” นั้น ชื่อจริงเธอคือ ‘ผักกาด‘ เต๋อบังเอิญไปเจอมาแล้วรู้สึกได้ว่า “หน้าน้องแม่งแรงมาก” ตอนแรกว่าจะไม่เอาเพราะกลัวแรงไป สุดท้ายเต๋อเลยชวนผักกาดมาแคสติ้ง ซึ่งก็เล่นได้ตามคาแรคเตอร์ที่วางไว้ คือต้องแข็งๆ เหมือนท่องบท เอาจริงๆ ตอนถ่ายเต๋อก็ให้ผักกาดท่องบทแล้วพูดออกมาเลย จะให้เล่นแข็งก็ต้องเอาให้สุดในทางนี้
- ตัวแสดงนำหน้าเดธที่ชื่อ “จ๋า เสื้อลายไฟ” ชื่อจริงก็ชื่อ “จ๋า” เป็นครีเอทีฟในทีมของหนึ่ง เต๋อเจอจ๋าเมื่อสองปีก่อนแล้วคิดว่าคนๆ นี้หน้าตามีคาแรคเตอร์ คิดว่าสักวันจะเอามาเล่นหนังให้ได้ พอเต๋อได้กำกับโฆษณาตัวนี้ คาแรคเตอร์ที่เขาอยากจะให้มีก็คือ คาแรคเตอร์แบบจ๋า และจ๋าก็อยู่ในทีมทำโฆษณาตัวนี้ เต๋อเลยขอให้หนึ่งโน้มน้าวจ๋ามาเล่นให้หน่อย หนึ่งเองก็เห็นด้วยเลยไปบอกจ๋าหลังจากสคริปต์เสร็จแล้ว
- ฉากรถ บขส. เต๋อบอกว่าถือเป็นฉากที่ถ่ายยากมาก ตอนแรกเต๋อคิดว่าถ่ายง่ายๆ แค่เอากล้องติดบนรถทัวร์แล้วถ่ายหนังตลกง่ายๆ เอาเข้าจริงโปรดัคชั่นส์เหมือนถ่ายหนังแอคชั่น เพราะต้องถอดเบาะออกติดอุปกรณ์สำหรับถ่ายเต็มรถไปหมด เสียเวลาไปหนึ่งวันเต็มๆ กับฉากนั้นแต่มันมาก
- ฉากเกาะกระจกรถทัวร์ที่จ๋าตะโกนว่า “แกต้องปล่อยวาง” เป็นบทด้นสดๆ ที่เต๋อนึกขึ้นมาได้เลยตะโกนให้จ๋าพูดคำนี้ออกไป พอตัดต่อแล้วมันทำให้หนังน่าสนใจขึ้น แถมปรากฎว่าพี่หนึ่งเอาคำนี้ไปต่อยอดได้ด้วย
- ฉากล้อเลียน Stranger Things เดิมทีไม่ได้มีฉากนี้ และตอนแรกจะใช้เด็กแค่ 2 คน อยู่ดีๆ ทีมอาร์ตฯ มาบอกว่า เอาจักรยานด้วยไหม จะได้ดูสมจริง พอเริ่มมีจักรยานปุ๊บ เต๋อนึกถึง Stranger Things ทันที เลยงอกออกมาเป็นฉากนี้ด้วยความบังเอิญพร้อมกับงบที่เพิ่มขึ้นด้วยนิดหน่อย
- บทพูดต่างๆ ของฮุ่ย มาจากตัวของเต๋อที่ชอบพูดในเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เพราะคิดว่าเรื่องนั้นแมส เช่นเรื่อง Space X หรือ อีลอน มัสต์ พอเอามาใส่ในหนังยิ่งเข้ากันกับคาแรคเตอร์ของฮุ่ยที่พยายามจะแมสแต่ไม่แมส
- ตลอดขั้นตอนการทำงาน เต๋อบอกว่า นี่คืองานที่เขาได้ทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายอย่างสนุก ทำให้การทำงานง่ายมากๆ
“แมส”ได้อีกกับสเต็ปต่อไป
หลังจากโฆษณานี้ได้รับความสนใจ และตัวละครในหนังโฆษณาชุดนี้ก็น่าสนใจเกินกว่าจะปล่อยผ่านไป หนึ่งเลยนำไอเดียไปต่อยอดเพิ่มเติมโดยเอาคาแรคเตอร์ ‘จ๋า เสื้อลายไฟ‘ ต่อยอดเป็นไซด์สตอรี่บนเพจที่ชื่อว่า “จ๋า ลายไฟ เพลิงมิตรภาพ” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ K PLUS เพิ่มขึ้น และคนดูยังสนุกไปกับการดูโฆษณาต่อได้ โดยรอบนี้ เต๋อมาเขียนบทให้ และได้เบนซ์ มากำกับ
- ทีมสื่อสารการตลาดของเคแบงก์ บอกว่า ตอนนี้โฆษณาสร้างการรับรู้และพูดถึงได้แล้ว ดังนั้นควรจะเล่าเรื่องต่อเพื่อขยายการรับรู้ขึ้นไปอีก จึงยื่นโจทย์นี้ไปทางเอเจนซี
- ซึ่งทางทีมของหนึ่งเองก็คิดต่อว่า ถ้าคนชอบและแมสแล้ว จะเล่าต่อยังไงให้ไม่ซับซ้อนแล้วไปต่อได้ สุดท้ายได้ไอเดียว่าจะทำเป็นไซด์สตอรี่ โดยจะเล่าเรื่องของจ๋า เสื้อลายไฟ ลูกค้าสนใจ เลยโทรถามเต๋อในฐานะผู้คิดคาแรคเตอร์ว่า เห็นด้วยไหมที่จะนำคาแรคเตอร์ไปเล่าเรื่องต่อจนเกิดเป็นโครงเรื่องโฆษณาไซด์สตอรี่
- โปรเจคต์ไซด์สตอรี่ไม่ใช่แค่หนังโฆษณา แต่มีโฟโต้เซ็ตมาช่วยสร้างสีสันด้วย ซึ่งเรื่องราวในโฟโต้เซ็ตจะเล่าเรื่องเพี้ยนๆ เดธๆ ของจ๋าที่เดินทางจากจังหวัดเลยถึงกรุงเทพฯ
- เหตุผลที่เลือกเบนซ์ เต๋อบอกว่า เพราะเบนซ์สามารถทำโฟโต้เซ็ตออกมาได้ตรงกับภาพที่เขาคิดไว้ ซึ่งเบนซ์มีความสามารถในการสื่อสารได้ดีอย่างที่ต้องการ
- ฝั่งครีเอทีฟก็ต้องพยายามเข้าใจคาแรคเตอร์ของจ๋ามากขึ้น ก่อนจะทำเป็นโครงสร้างบทแล้วนำไปเสนอทางลูกค้าว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร แต่ละจุดมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง แต่ระหว่างนั้นในเฟซบุ๊กก็จะใช้จ๋า ช่วยเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับงานของลูกค้าในเชิง Real Time Content ได้ด้วย เพราะบรรยากาศในโฆษณาถูกสร้างพื้นที่มาให้ขายของก็ยังน่ารัก
ชมเบื้องหลังโฆษณาได้ที่นี่