วันนี้ (20 มกราคม 264) นายอัมพร พินะสา เลขาธิกาคณะกรรมกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดังสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมหารือถึงการบริหารจัดการงบประมาณปี 2564 และงบประมาณปี 2565 ต้องการขับเคลื่อนโรงเรียนโรงเรียนคุณภาพชุมชนระดับประถมศึกษา โรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพ และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง อีกทั้งยังได้จัดทำรูปแบบและปรับปรุงงาน เพื่อจะลดภาระงานของครู โดยมีเป้าหมายให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนโยบายของรัฐบาล นายอัมพร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เตรียมการเปิดเรียนหลังจากที่ กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศให้โรงเรียนใน 28 จังหวัดหยุดเรียนจนถึงวันที่ 31 มกราคมนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระรอกใหม่ หากสถานการณ์การดีขึ้น ก็พร้อมเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ และตอนนี้ได้สื่อสารไปยังโรงเรียนทุกแห่งให้เตรียมทำความสะอาด และวางมาตรการรองรับในการเปิดเรียน โดยให้ทางเลือกกับโรงเรียนหลายทาง อาทิ หากโรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนทุกระดับชั้นเรียนได้ ให้เปิดเรียนในระดับชั้นอนุบาลหรือระดับประถมศึกษาก่อน แต่ถ้าโรงเรียนเห็นว่าสามารถเปิดเรียนครบทุกระดับชั้น ก็สามารถทำได้ โดยต้องคำนึงถึงประกาศของจังหวัดเป็นพื้นฐาน เว้นแต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะยังประกาศห้ามจังหวัดใดปิดโรงเรียนก็ขอให้ปฏิบัติตามประกาศของ ศบค.เป็นหลัก ทั้งนี้ นายอัมพร ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ปกครองกังวลเรื่องการจัดสอบในช่วงที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่ สพฐ.ก็ได้เตรียมการสอบให้กับนักเรียนในระดับสถานศึกษา ทั้งการสอบกลางภาคและสอบปลายภาค โรงเรียนมีอำนาจกำหนดวันสอบได้เอง ส่วนการวัดผลของนักเรียน อาจเป็นไปในลักษณะการมอบหมายใบงาน หรือชิ้นงาน ขึ้นอยู่กับมาตรฐานตัวชี้วัดของแต่ละรายวิชา ส่วนการสอบเลื่อนชั้นนั้น เนื่องจากปีนี้ สพฐ.ได้ออกประกาศไปแล้วไม่เอาคะแนนโอเน็ต (O-net) มาตัดสินผลการเรียน และให้นักเรียนระดับชั้น ป.6 และ ม.3 สอบโอเน็ตตามความสมัครใจ ดังนั้นโรงเรียนสามารถกำหนดการสอบได้เองว่าจะใช้การทดสอบแบบไหน อาจจะใช้แบบทดสอบส่วนกลางของสพฐ. หรือโรงเรียนออกแบบทดสอบเอง หรือจะใช้ประเมินด้วยวิธีอื่นก็ได้ อย่างไรก็ตาม หลายคนให้ความสงสัยว่านักเรียนสามารถเลื่อนชั้นโดยไม่ทำการประเมินได้หรือไม่นั้น เลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ให้นักเรียนเลื่อนชั้นแต่ต้องมีการประเมิน ซึ่งต้องประเมินนักเรียนตามศักยภาพ ไม่ต้องยึดมาตรฐานกลาง เพราะทุกวันนี้ไม่สามารถยึดมาตรฐานกลางได้ เนื่องจากนักเรียนได้เรียนไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงให้โรงเรียนสามารถกำหนดวิธีการและรูปแบบการประเมินได้เอง ในส่วนการสอบโอเน็ต ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กำหนดให้นักเรียนระดับชั้น ม.6 เข้าสอบทุกคน ตามกำหนดจัดสอบเดิมในวันที่ 27 – 28 มีนาคม 2564 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและสามารถจัดสอบได้ เว้นแต่จะมีวิกฤตหรือการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่ทุกหน่วยงานจะมาหารือกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อีกทั้งอาจเกิดปัญหาจากโรงเรียนที่มีแข่งขันสูงออกข้อสอบโดยไม่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบัน โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ. อยากให้โรงเรียนที่มีการทดสอบเพื่อรับนักเรียนเข้าเรียน พยายามหลีกเลี่ยงการออกข้อสอบที่เป็นความรู้ในภาคเรียนที่ 2 ของระดับชั้น ป.6 และ ม.3 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคน ลดความเครียดและความวิตกกังวลต่อตัวนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งตนจะสื่อสารให้โรงเรียนทุกแห่งรับทราบต่อไป นายอัมพร กล่าวทิ้งท้าย ที่มา มติชน