Mango Zero

ส่องผลงาน ‘Audrey Tang’ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ผู้ใช้เทคโนโลยีพาประชาชนฝ่าวิกฤตโควิด-19

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงง่ายเพียงปลายนิ้ว บางประเทศอาจจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลขึ้นมา เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมดูแลกิจกรรมบนโลกออนไลน์ได้ แต่สำหรับไต้หวัน กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป 

ด้วยวิสัยทัศน์ของ ‘ออเดรย์ ถัง’ (Audrey Tang / 唐鳳) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลคนแรกและคนปัจจุบันของไต้หวัน 

จากอดีตโปรแกรมเมอร์ซิลิคอนวัลเลย์มือทอง สู่บทบาทรัฐมนตรีตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาฯ แถมยังเป็นสตรีข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวันอีกด้วย

‘ออเดรย์ ถัง’ วางจุดยืนการทำงานของเธอ ด้วย Mindset ที่คิดว่าตัวเองไม่ได้เข้ามาทำงานให้กับรัฐบาล แต่เป็นการทำงานร่วมกับรัฐบาล ไม่ต้องกราบเรียนใครหลาย ๆ ครั้ง… เพราะเธอมาทำหน้าที่เพื่อเป็นจุดเชื่อมกลางระหว่างภาครัฐกับประชาชน

เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหารัฐด้วยแนวคิดประชาธิปไตยที่ฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก สนับสนุนให้มีเสรีภาพบนโลกออนไลน์ เปิดพื้นที่แชร์ความคิดและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเก็บมาพัฒนาต่อไป 

ผลงานของเธอเป็นที่ประจักษ์ต่อสื่อไต้หวันและสื่อทั่วโลก ต่างยกย่องให้เธอเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยี ด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ มาบริหารจัดการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 จนทำให้ไต้หวันเป็นชาติแรก ๆ ของโลก ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาด

Mango Zero ชวนมาดูผลงานตัวอย่างที่ผ่านมาของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวันคนนี้ มาดูกันว่าเขามีวิธีทำงานอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ ในภาวะที่ประเทศต้องเผชิญกับโรคระบาด ท่ามกลางความสับสนของข้อมูลข่าวสาร

นี่อาจจะเป็นสมาร์ทซิตี้ ที่เรากำลังต้องการในเวลานี้หรือเปล่า ?

 

Mask Maps เช็คยอดหน้ากากแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องกักตุน

‘ออเดรย์ ถัง’ สรุปบทเรียนสำคัญจากการใช้ดิจิทัลจัดการปัญหาในยามที่โควิด-19 กำลังลุกลาม ได้ด้วยแนวคิดสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ Fast – Fair – Fun 

นั่นคือ รัฐบาลต้องมีความรวดเร็วในการตอบสนองต่อปัญหา มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจให้แก่ประชาชน สร้างโอกาสให้ได้เข้าถึงการดูแลได้ดีที่สุด

ถังร่วมมือกับกลุ่มนักพัฒนาซอฟแวร์ และระบบไอทีเพื่อสังคม พัฒนาแอปพลิเคชัน “แผนที่พิกัดหน้ากาก” เพื่อให้ข้อมูลพิกัดร้านค้าที่มีสต็อกหน้ากากอนามัยแบบ Real time อัพเดททุก 3 นาที ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบก่อนออกไปซื้อได้ 

นอกจากจะช่วยให้ชาวไต้หวันไม่แตกตื่น แห่กันแย่งชิงหน้ากากมากักตุนแล้ว ยังโชว์ความโปร่งใสและเป็นธรรมของรัฐในการกระจายอุปกรณ์ป้องกันโรคได้อย่างเป็นธรรม

เนื่องจากทุกคนมีสิทธิได้รับหน้ากากอนามัย ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย NHI Card ของไต้หวัน ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพ รวมไปถึงข้อมูลการซื้อของประชาชน เพื่อวิเคราะห์ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้ทั่วถึงหรือไม่อีกด้วย

 

เฟคนิวส์แล้วไง แก้ไขด้วยอารมณ์ขัน

ในภาวะที่ต้องเผชิญโรคระบาดและความสับสนของข้อมูล จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงข่าวลือหรือข่าวปลอมไปได้

ไต้หวันจัดตั้ง ‘ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงออนไลน์’ เพื่อสื่อสารและชี้แจงข้อมูลโควิด-19 ที่ถูกต้องให้ประชาชน โดยดำเนินงานในฐานะ ‘องค์กรอิสระ’ ที่รัฐไม่อาจแทรกแซง รวมถึงต่อสู้กับข่าวบิดเบือน ด้วยกลยุทธ์ “Humor over rumor” 

เลือกจัดการกับเฟคนิวส์ด้วยความรวดเร็วและมีอารมณ์ขัน ผ่อนคลายความตึงเครียดของประชาชน ด้วยการสื่อสารอย่างเป็นกันเอง มีการหยิบใช้ภาพมีมในโลกออนไลน์มาประกอบ ให้รัฐดูเข้าถึงง่าย คนไถมาเห็นก็พร้อมแชร์ พร้อมเปิดใจรับฟังข้อมูล 

ยกตัวอย่าง ช่วงที่มีเหตุการณ์คนแห่ซื้อกระดาษทิชชู่อย่างบ้าคลั่ง เพราะมี Fake News บอกว่าสามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ 

ไต้หวันเลือกจะออกมาแก้ข่าวนี้ด้วยการ์ตูนล้อเลียนนายกไต้หวันหันก้นใส่ แล้วบอกว่า “คนเรามีก้นอยู่แค่สองข้างนะ จะเอาทิชชู่ไปเยอะแยะทำไม” พร้อมอินโฟกราฟิกเผยข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตทิชชู่และหน้ากากอนามัยนั้น เป็นคนละอย่างกัน

เท่านี้ก็กลายเป็นไวรัล จัดการเฟคนิวส์ได้แล้ว ก่อนต้องไล่จดชื่อใครไปแจ้งความใครซะอีก

 

พัฒนาระบบติดตามผู้ป่วยโควิดใน 3 วัน

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ต้องมี ในการรับมือคือ ระบบติดตามผู้ป่วยโควิด แรกเริ่มไต้หวันใช้ระบบสแกน QR Code ด้วยมือถือ ส่วนอากงอาม่าสูงวัยที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็ให้กรอกข้อมูลด้วยปากกา (คุ้น ๆ นะ ระบบนี้) 

ซึ่งพอเริ่มใช้ไปในช่วงแรก ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์ ถึงความยุ่งยากในการใช้งาน เพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 

จากการรับฟังเสียงประชาชน ไต้หวันแก้ไขระบบใหม่ขึ้นมาภายใน 3 วัน ด้วยการใช้วิธีการส่งรหัสตัวเลขผ่าน SMS 1922 ส่งฟรี และใช้ได้กับโทรศัพท์ทุกรุ่น ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงโทรศัพท์อาม่าก็สามารถลงทะเบียนได้ มีทางเลือกให้ใช้งานตามสะดวกและรวดเร็ว เพราะใช้เวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น 

แถมยังให้ความสำคัญด้านความเป็นส่วนตัว เพราะระบบมีความปลอดภัยสูง ไม่มีโฆษณาแอบแฝง หรือการส่งข้อมูลให้กับกลุ่มธุรกิจ การันตีลบข้อมูลอัตโนมัติใน 28 วัน ทำให้ประชาชนเองก็มั่นใจในการใช้งานมากขึ้น

 

ระบบจองฉีดวัคซีน แบบไม่ต้องลุ้น

วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนอะไรในความคิดของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ?

ไต้หวันสร้างระบบการจองฉีดวัคซีนขึ้นมาในชื่อ ‘1922 Vaccine’ ซึ่งเป็นหมายเลขเดียวกับโปรเจคอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและติดตามได้ง่าย

วิธีการลงทะเบียนจองวัคซีนของที่นี่ สามารถเลือกวัคซีนยี่ห้อที่ต้องการฉีดก่อนได้ มีให้เลือกเป็นวัคซีน AstraZeneca (AZ) และ Moderna สลับกันไปตามล็อตการส่ง (และแน่นอนว่าฉีดฟรี) 

เพียงลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเบอร์โทรศัพท์ พร้อมเลือกวัคซีนชนิดที่ต้องการฉีด จากนั้นระบบจะเก็บข้อมูลทุกคนไว้หลังบ้าน

ทันทีที่วัคซีนมาถึงและตรงตามความต้องการ รวมถึงอยู่ในช่วงอายุทีเหมาะสมกับวัคซีนชนิดนั้น ระบบจะส่ง SMS เตือนให้เข้าไป เลือกวันนัดหมายที่สะดวกไปรับวัคซีน 

โดยไม่ต้องลุ้นว่านัดจะถูกเลื่อนตอนไหน และยังมีโอกาสที่จะรู้ว่าตัวเองจะได้รับวัคซีนอะไร แบบที่ไม่ต้องไปลุ้นกาชาปองหน้างานอีกด้วย 

 

จัด Presidential Hackathon ดึงคนเก่งมาช่วยประเทศ

งานไหนไม่ถนัด ก็ไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด… 

‘ออเดรย์ ถัง’ หยิบวิธีการทำงานแบบสตาร์ทอัพเข้ามาประยุกต์ใช้กับรัฐบาล ด้วยการจัดโครงการ ‘Presidential Hackathon’  เป็นประจำปีทุกปี 

เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนทั้งคนไต้หวันและทั่วโลกที่มีความสามารถ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ จับมือรวมทีมกันเข้ามาแข่งขันระดมไอเดีย สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาในสังคมด้วยเวลาอันรวดเร็ว

โดยทีมที่ชนะจะได้ถ้วยรางวัลจากประธานาธิบดี พร้อมงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อ รวมถึงภาครัฐยังให้คำสัญญา ว่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้โครงการที่ชนะเกิดขึ้นจริงได้ภายใน 12 เดือน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐบาลโดยตรง

นอกจากวิสัยทัศน์ที่เน้นความโปร่งใส เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายแล้ว ไต้หวันไม่ได้เก็บ Know How เหล่านั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ยังเปิดพื้นที่แชร์องค์ความรู้ 

ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่ไต้หวันใช้ในการจัดการโควิด รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญผ่านเว็บไซต์ www.TaiwanCanHelp.us ให้เข้าไปอ่านกันได้ด้วย ใครสนใจอยากอ่านต่อล่ะก็ ไปตามอ่านกันได้เลย

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : twitter: @audreyt , digitalminister.tw, khaosod, english.cw.com