ไม่มีใครคาดคิดว่าเจ้าโควิดตัวร้ายจะกลับมาเล่นงานเราหนักอีกครั้ง แต่ด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องมา Work From Home กันอย่างช่วยไม่ได้ การทำงานจากที่บ้าน ดูเหมือนจะสะดวกสบายมากขึ้นเรื่องการเดินทาง แต่ก็อาจทำให้ใครหลายคนต้องทำงานหนัก และทำให้เครียดมากขึ้นจากช่วงเวลาไม่มั่นคงแบบนี้ หากคุณกำลังรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และ Burnout จากการ Work From Home ทางเรามีวิธีการรับมือดีๆ มาฝาก
อาการ Burnout คือการที่เรารู้สึกเครียด จนเริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิตประจำวัน มองงานที่กำลังอยู่ในเชิงลบและเป็นกิจวัตร ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลงเรื่อยๆ คำถามคือ แล้วการ Work From Home มีส่วนเกี่ยวอย่างไรกับการ Burnout?
นั่นก็เพราะการทำงานที่บ้าน ทำให้จิตใจไม่มีความคงที่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการทำงาน มองทางนู้นก็เตียง ทางนี้ก็เป็นกองงานบ้านที่อยากนึกออกไปซักล้างทำความสะอาดให้จบๆ ไป หรือหากใครอยู่กับครอบครัวก็ต้องไม่วายโดนเรียกกันอย่างน้อยวันละสองถึงสามครั้ง ประกอบกับช่วงสถานการณ์แบบนี้ ยิ่งทำให้หลายคนพยายามคิดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้ ยิ่งทำให้เครียดกันเข้าไปใหญ่โดยไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็ได้นอนน้อยและทำงานหนักกว่าเดิม ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้ดู
ใส่ชุดทำงาน แม้จะอยู่ที่บ้าน
การทำงานที่บ้าน อาจทำให้เจ้าของบริษัทอาจกังวลถึงเรื่องประสิทธิภาพของการทำงานของลูกน้อง เพราะไม่สามารถติดตามความคืบหน้าของการทำงานได้อย่างใกล้ชิด แต่ที่จริงแล้ว มีสิ่งที่น่ากลัวกว่าการไม่ทำงานคือ “การที่ลูกน้องทำงานไม่หยุด” เพราะความรู้สึกว่าต้องทำงานตลอดเวลาในช่วงการทำงาน (หรืออาจจะลุกลามไปถึงหลังเลิกงาน) เพราะไร้ขอบเขตช่วงเวลาในการทำงานนั่นเอง เมื่อเวลาการทำงานไม่ชัดเจน ส่งผลให้ช่วงเวลางานมักจะยืดหยุ่นขึ้นมากกว่าเดิม เกิดการพักเที่ยงที่หน้าจอ และมีอาการติดโทรศัพท์มากกว่าเดิม เพราะกลัวพลาดสายนัดประชุมเร่งด่วน
วิธีแก้ในการทำงานอย่างไร้ขอบเขตก็คือ การทำให้สมองและร่างกายรู้สึกได้อย่างชัดเจน ว่าสิ่งนี้คือการทำงาน ไม่ใช่การพักผ่อน อ้างอิงจากบทความคลาสสิคของ Blake Ashforth จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ที่ได้อธิบายถึงวิธีที่ผู้คนแบ่งเขตแข่งการเปลี่ยนจากงานไปสู่บทบาทที่ไม่ได้ทำงานผ่านชุดทำงาน
การลุกขึ้นมาแต่งตัว และทำกิจวัตรประจำวันเหมือนตอนออกไปทำงานที่บริษัท จะทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และทำให้สมองตีความได้ว่าตอนนี้คือเวลาทำงาน ทำให้คงสภาพอารมณ์เหมือนกับตอนทำงานได้ เมื่อถึงเวลาเลิกงานจึงเปลี่ยนกลับมาเป็นชุดอยู่บ้านตามเดิม เพียงเท่านี้ก็จะทำให้รู้สึกว่างานยังคงอยู่ในเขตแดนของมันอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ทำงานจากหลายกิโล เป็นไม่กี่ก้าว เท่านั้นเอง
ทำเช็คลิสต์เพื่อโฟกัสที่งานสำคัญที่สุดในแต่ละวัน
แต่แน่นอนว่าเพียงแค่ชุด ไม่อาจเปลี่ยนอะไรได้ หากคุณยังทำงานเกินเวลาอยู่ หัวใจของการทำงานจากที่บ้าน ไม่ใช่การทำงานที่เร่งรีบหรืองานยุ่ง แต่เป็นการทำงานให้มีประสิทธิภาพเหมือนตอนที่อยู่บริษัท และอาจต้องมากกว่าเดิมในช่วงสถานการณ์แบบนี้ต่างหาก
เรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ จึงการเรียงลำดับความสำคัญของงานนั่นเอง ในหนึ่งวันก่อนจะเริ่มงานใดๆ ก็ตาม ควรลิสต์ว่าต้องทำสิ่งใดบ้าง และเริ่มทำโดยเรียงตามลำดับความสำคัญ โดยเฉลี่ยแล้ว ในหนึ่งวันคนเรามีสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จได้ไม่เกิน 5 อย่าง เรื่องอื่นๆ อาจเป็นเรื่องที่สามารถใช้เวลาทำหลายวันได้ หรือยังไม่มีความจำเป็นต้องทำในตอนนี้
เตรียมการ แต่ไม่ตอบโต้ทันใจ
การอยู่สแตนด์บายตลอดเวลาอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างสมจริงเสมอไปเมื่อต้อง Work from home ต้องมีการเดินแวบไปห้องน้ำ พักเที่ยงที่ไม่ตรงกัน หรือกระทั่งทำเรื่องที่คนในครอบครัวไหว้วานแทรกเข้ามาบ้าง
ระหว่างที่กำลังทำงานอยู่ที่บ้านนั้น จิตใจของใครหลายคนก็มักจะพะวงกับเครื่องมือสื่อสาร หรือเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ เพราะกลัวจะคลาดการประชุมเร่งด่วน หรือการติดต่อจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งการทำแบบนี้ในระยะยาว อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิค หรือโรควิตกกังวลได้
สิ่งที่ควรทำคือการหามาตรการที่ยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น อาจเป็นแจ้งผู้อื่นล่วงหน้าว่า คุณอาจตอบสนองช้ากว่าปกติ โดยกำหนดเป็นระยะเวลาตอบกลับ ตั้งเป็นสถานะที่แพลตฟอร์มสื่อสารการทำงานของคุณ (อาทิ ตอบกลับภายใน 20 นาที กรุณารอ) หรือตั้งเป็นข้อความอัตโนมัติก็ได้ วิธีเหล่านี้จะทำให้ความคาดหวังในการตอบสนองต่อผู้อื่นและตัวคุณเองลดลง
และแน่นอนว่าหากคุณเป็นฝ่ายติดต่อไปหาผู้อื่นเสียเอง ก็ควรติดต่อล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ และให้เวลาในการตอบกลับ เพื่อเป็นการเคารพขอบเขต และไม่เร่งเร้าผู้อื่นเกินความจำเป็นอีกด้วย
เพราะการทำงานที่บ้าน ทำให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป เขตแดนระหว่างความผ่อนคลายสบายใจ และการทำงานหนักเขยิบเข้ามาใกล้มากขึ้นจนแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการทำให้เราสามารถอยู่กับทั้งสองสิ่งอย่างประนีประนอม ไม่รู้สึกว่าสบายเกินไป หรือเหนื่อยเกินไปให้ได้ เราทุกคนต้องหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อพยายามปรับตัว และก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกันให้ได้
ที่มา: Harvard Business Review