สำหรับคนที่อยากมีบ้านสวยๆ แต่ไม่อยากเครียดออกแบบเอง หนึ่งในวิธีแก้ปัญหานั้นก็คือจ้างสถาปนิกหรือดีไซเนอร์มาออกแบบ แต่มันก็จะมีปัญหาใหญ่นึงที่โผล่ขึ้นมาในหัวเพื่อนๆ แทนว่า สถาปนิกนั้นถ้าจ้างแล้วจะมีค่าบริการอะไรอย่างไร และนั่นทำให้เพื่อนๆ บางคนเกิดความกังวลที่คิดไม่ใช้บริการเลยก็มี (เศร้า)
ต้องบอกไว้ว่าการจ้างสถาปนิกมาช่วยในออกแบบนั้นค่อนข้างคุ้มค่า เพราะเขาจะช่วยเราตั้งแต่คิดคอนเซ็ปต์ดีไซน์ ดูเรื่องสัญญาและกฎหมาย ยันดูแลและตรวจสอบงานก่อสร้าง เพื่อความแจ้งกระจ่างแล้ว เรามาดูขั้นตอนในการบริการและค่าจ้างของสถาปนิกไปด้วยกันเลย
*อ้างอิงตามข้อกำหนดตามคู่มือสถาปนิกของสมาคมสถาปนิกสยามฯ พ.ศ. 2547
ค่าจ้างทั้งหมดจะคิดเริ่มต้นเป็น%จากค่าก่อสร้างทั้งหมดที่ประเมินไว้ขั้นต้น
ขั้นแรกคือคิดค่าบริการรวมทั้งก่อน ซึ่งปกติแล้วการคิดค่างานบริการเราจะคิดค่าจ้างรวมเป็นหลัก %ของงบก่อสร้างที่ประเมินขึ้นมา โดย % นั้นก็จะขึ้นอยู่กับการประเมินของสถาปนิกใน3 ระดับ ได้แก่ ไม่ซับซ้อน ซับซ้อน ซับซ้อนมาก
เช่น ถ้างบก่อสร้างโครงการไม่ถึง 50 ล้านบาท ถ้าโครงการดูไม่ซับซ้อนจากคิดเป็น4.5%ของงบก่อสร้างทั้งหมด หรือถ้าโครงการซับซ้อนมากก็จะแปรเปลี่ยนเป็น8.5%ของงบก่อสร้างทั้งหมด
โดยทั้งหมดทั้งมวลเราสามารถค้นหาอ่านได้ในข้อกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบ พ.ศ. 2562บัญชีที่ 1เพื่อความความละเอียดที่มากขึ้นนะครับ
จ่าย 5%ของค่าจ้างทั้งหมดในตอนทำสัญญาจ้าง และอีก 25%ของค่าจ้างทั้งหมดหลังส่งงานออกแบบร่างขั้นต้น
เมื่อทำสัญญาจ้างแล้วก็จะต้องจ่าย5% ของค่าจ้างทั้งหมดที่ประเมินไว้ก่อนหน้า เพื่อเป็นค่ามัดจำในการทำงาน และแล้วสถาปนิกเขาก็จะไปจัดการวางงานออกแบบในขั้นต้นมาให้เรานั่นเอง
โดยการทำการบ้านเกี่ยวกับความต้องการของเรา ได้แก่ความต้องการ พื้นที่ใช้สอย รวมทั้งข้อกฎหมายและเรื่องที่เกี่ยวข้อง และการประเมินราคาก่อสร้าง เพื่อความถูกต้องมากยิ่งขึ้น
และเมื่อสถาปนิกส่งงานเราได้อย่างครบถ้วนในขั้นนี้แล้ว ก็ต้องจ่ายอีก 25%ของค่าจ้างทั้งหมดหลังส่งงานออกแบบร่างขั้นต้น เพื่อให้เขาข้ามไปทำแบบที่จริงจังยิ่งขึ้นในขั้นตอนต่อไปนั่นเอง
จ่าย 25%ของค่าจ้างทั้งหมด เมื่อส่งงานออกแบบในขั้นสุดท้าย
หลังจากได้รับแบบขั้นต้นแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงที่เจ้าของบ้านหลายๆ คนชื่นชอบ ก็คือขั้นตอนออกแบบก่อนไปงานแบบก่อสร้าง ขั้นนี้จะเป็นเรื่องของการฟีตแบคระหว่างสถาปนิกจนกว่าจะถูกใจกันทั้งสองฝ่าย ค่อยๆ เรียบเรียงฝันให้กลายเป็นจริงๆ โดยมักจะแก้ไปมาอยู่ที่ 1-2 ครั้ง (บ้างไปถึง 3 ครั้ง แล้วแต่การตกลงกัน)
เมื่อพัฒนาแบบไปจนต่างคนต่างมั่นใจว่า แบบนี้แหละคือแบบที่เราจะนำมันไปก่อสร้างให้กลายเป็นของจริงแล้ว เราก็จะต้องจ่ายอีก25% เมื่อส่งงานออกแบบในขั้นสุดท้ายนี้ เพื่อที่สถาปนิกจะเตรียมตัวไปทำงานแบบงานก่อสร้าง
ค่าแบบงานก่อสร้างจะอยู่ที่ 20% ของค่าจ้างทั้งหมด
และแล้วก็มาสู่ขั้นตอนทำแบบก่อสร้าง ที่มีความละเอียดและต้องก่อสร้างได้จริงแล้ว เป็นแบบที่เอาไว้คุยกับผู้รับเหมาในขั้นตอนก่อสร้างนั่นเอง
และขั้นตอนนี้ สถาปนิกยังต้องแบบเพื่อขออนุญาตก่อสร้างกับทางเขตอีกด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการฟ้องร้อง และเมื่อทำแบบก่อสร้างและแบบขออนุญาตเรียบร้อยสมบูรณ์ สถาปนิกจะคิดค่าบริการในขั้นตอนนี้อยู่ที่ 20% ของค่าจ้างทั้งหมด
ช่วยประสานเรื่องผู้รับเหมาและติดตามงานก่อสร้าง
หลังจากที่ทำแบบก่อสร้างเสร็จแล้ว เราก็จะต้องหาผู้รับเหมาทเพื่อเข้ามารับผิดชอบงานก่อสร้างต่อ โดยในงานบริการของสถาปนิกจริงๆ แล้วตอนนี้ จะเป็นเรื่องของการให้คำปรึกษาและเข้าไปติดตามความคืบหน้าของงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ซึ่งงานบริการต่างๆ ที่อาจจะงอกขึ้นมา
เช่น ทำแบบก่อสร้างหน้างานเพิ่มเติม (As Built) หรือเข้าไปติดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะจุดที่คาดเดาไม่ได้ ก็จะเป็นเรื่องของการตกลงกันเพิ่มเติมกับผู้ว่าจ้างนั่นเองครับ
ทั้งหมดทั้งมวลของเนื้อหางานบริการและค่าจ้างของสถาปนิกในบทความนี้ หวังว่าจะช่วยเหลือในการตัดสินใจของคนที่คิดสร้างบ้านด้วยสถาปนิกนะครับ ขอให้ได้บ้านในฝันกันทุกคนเลยครับ