หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม มีชาวเน็ตติงว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากทำให้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว และเจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ของผู้ต้องสงสัยได้ทันทีแม้ไม่มีหมายศาล และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แต่ล่าสุด ในที่ประชุมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการผ่านร่างกฎหมาย พรบ.ไซเบอร์แล้ว
โดยในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิก สนช. เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 163 คนจาก 250 คน และมีการลงคะแนนเสียงส่วนใหญว่าเห็นด้วยกับพ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยไม่มีการอภิปรายแก้ไขข้อห่วงกังวลของประชาชนแต่อย่างใด
เนื้อหาสำคัญของพ.ร.บ. ดังกล่าว ก็คือ มีการตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) โดยมีนายกฯ เป็นประธาน และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกซ.) มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และคณะกรรมการส่งเสริมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ(กสส.) มีรมว.ดีอี เป็นประธาน และเปิดช่องให้ กปช. ตั้งคณะกรรมเฉพาะด้านอื่นได้อีก รวมทั้งมี คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แบ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็น 3 ระดับ คือ 1.เฝ้าระวัง 2.ร้ายแรง และ 3.วิกฤต สำหรับการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคาม โดยระดับร้ายแรง เจ้าหน้าที่ Cyber Security สามารถเข้าตรวจค้น ยึด ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ หรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ โดยเหตุเเค่เพียงต้องสงสัย โดยไม่ได้เริ่มคดีเเละไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ขอหมายค้นจากศาล โดยให้ กปช. หรือ กกซ. ยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนฉุกเฉิน และหากเป็นภัยคุกคามระดับวิกฤต ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้
ทั้งนี้การผ่านร่างกฎหมายในครั้งนี้ เป็นการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 คือเมื่อสนช. เห็นชอบในวาระดังกล่าว จะถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพ.ร.บ. ไซเบอร์ : จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? หากสนช. ผ่านร่างพ.ร.บ. ไซเบอร์ 2562