กลับมาอีกครั้งสำหรับงาน AIS Digital Intelligent Nation 2019 งานประกาศวิสัยทัศน์ประจำปี ที่ปีนี้ประกาศศักยภาพทางเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นจริง ,โชว์หุ่นยนต์ AI ที่เตรียมจะนำมาใช้จริง , การพัฒนา IoT ให้รอบด้านและเสริมทุกแพลตฟอร์มให้แกร่ง ซึ่งไม่ใช่แค่พัฒนาเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนและสังคม จะมีอะไรต่างไปจากเดิมบ้าง ไปดูกันเลย
ผลักดัน 5G อย่างเต็มรูปแบบ
ในเวที AIS Digital Intelligent Nation 2019 สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการที่ผู้บริหารพูดถึงศักยภาพในการผลักดันเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยนายฮุย เวง ชอง กรรมการผู้อำนวยการเอไอเอส เปิดเผยว่า ตอนนี้เอไอเอสยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ยังได้โชว์ไทม์ไลน์การพัฒนาเครือข่ายเน็ตเวิร์คของเอไอเอสที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพฤติกรรมคนไทยมีอัตราการใช้ดาต้าสูงถึง 60% เฉลี่ย 11 GB ต่อเดือนในปีที่ผ่านมา ด้วยความที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปทำให้มีความจำเป็นมากในการพัฒนาไปสู่ 5G
ซึ่งภายในงานได้สาธิตความแรงของเน็ตเวิร์ค 5G ให้ผู้ชมงานได้ร่วมทดสอบศักยภาพไปด้วยกัน และยังเปิดเผยความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการทำห้องทดลอง 5G ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย
เสริมความแกร่งให้ IoT
ในงานนี้เรายังได้เห็นการเสริมความแกร่งให้กับ Internet of Things หรือ IoT อย่างเต็มรูปแบบของเอไอเอส ที่ไม่ใช่แค่พัฒนาเน็ตเวิร์คแต่ยังทำให้เทคโนโลยี IoT เชื่อมต่อได้อย่างครอบคลุม
เราจะเห็นได้จากในงานนี้ที่นำเทคโนโลยี IoT มาสาธิตให้ดูหลากหลาย ทั้งในเรื่องของ Smart Wellness ที่ทำให้ให้การเชื่อมต่อระหว่างคนไข้และคุณหมอสะดวกมากขึ้น , Smart Living ให้ทุกการควบคุมอุปกรณ์ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง ประตู แอร์ ไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม สามารถใช้แพลตฟอร์มเดียวของเอไอเอสได้อย่างสะดวกมาก รวมไปถึง Smart Airport ที่ทำให้ทุกการเดินทางสะดวกง่ายขึ้นผ่านแอป โดยนำร่องที่สนามบินอู่ตะเภาก่อน
รวมไปถึงการร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ยังมีในเรื่องของการพัฒนา Smart City เมืองที่จำลองการใช้ IoT ในชีวิตประจำวัน ที่มีตั้งแต่ ห้องทดลอง คลาวด์โรบอต รถยนต์ไร้คนขับ สนามกีฬา Smart Stadium และเสา Smart Pole ที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ และเริ่มใช้แล้วจริง
โชว์ศักยภาพหุ่นยนต์สุดเจ๋ง
อีกหนึ่งความเจ๋งในงานนี้ก็คือ การนำหุ่นยนต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งในงานได้นำหุ่นยนต์ AI หลายแบบมาโชว์ในงาน อย่างบนเวทีมีหุ่นยนต์ชื่อว่า “ลิซ่า” เป็นหุ่นยนต์ information สำหรับให้ข้อมูลกับลูกค้าและนำทางไปยังจุดต่างๆ เช่นการสาธิตในงาน ได้นำน้องลิซ่ามาช่วยซื้อ sim2fly และนำทางลูกค้าไปยังบูธที่ขายซิมพร้อมชำระเงินได้เลย
และสิ่งนี้นี่แหละที่เราจะได้เห็นกันในเร็วๆ นี้ที่ช็อปเอไอเอสรูปแบบใหม่ จะเป็นช็อปไร้พนักงานที่เป็นมนุษย์ แต่จะนำเจ้าหุ่นยนต์เหล่านี้มาให้บริการแทน โดยมีชื่อว่า “Un-manned Store” ศูนย์บริการลูกค้าจากเอไอเอสแห่งแรกในไทยที่จะใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเราจะต้องการซื้อของ หรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายมือถือ หุ่นยนต์ก็จะแนะนำให้ได้ทั้งหมด เตรียมนำร่องที่ภูเก็ตเร็วๆ นี้
รวมถึงการโชว์หุ่นยนต์ HUCO แขนกลอัจฉริยะที่มาช่วยเสิร์ฟป็อบคอร์นให้กับผู้ที่มาร่วมงาน ทำให้เราเห็นความล้ำว้าวๆ เกิดขึ้น
ยกระดับ Cyber Security
อีกหนึ่งความน่าสนใจของ IoT ที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ เอไอเอสได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำเอา IoT มาช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบ NB-IOT motor tracker ช่วยตรวจจับความเร็วของรถ รวมไปถึงการรับแจ้งเหตุ และแจ้งพิกัดสายงานจราจร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปถึงจุดเกิดเหตุได้เร็วกว่าเดิม
รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีตรวจจำใบหน้ามาใช้ที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ
เป็นตัวกลางธุรกิจด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม
นอกจากนี้เอไอเอสต้องการที่จะเป็นตัวกลางในแง่ของมาร์เก็ตเพลสสำหรับภาคธุรกิจทุกระดับ เพื่อเชื่อมต่อให้เติบโตไปด้วยกัน โดยเอไอเอสย้ำถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มภายใต้แนวคิด “SHARING DIGITAL ECONOMY PLATFORM-เศรษฐกิจ Digital แบบแบ่งปัน” ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์ร่วมกันให้แก่ทุกอุตสาหกรรม ในทุกระดับ ซึ่งแน่นอนว่าท้ายที่สุดจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมแข่งขันในเวทีโลก
พัฒนาคนเพิ่มความรู้ด้านเทคโนโลยี
เราคงเคยได้ยินคำว่า IQ ความอัจฉริยะด้านปัญญา และ EQ ความอัจฉริยะด้านอารมณ์ แต่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน จึงมีคำที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง DQ หรือความอัจฉริยะในทางดิจิทัล ที่เอเอไอสจะเปิดให้ความรู้บุคคลทั่วไปหรือ Digital Citizen เพื่อให้คนทั่วไปอย่างเราใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้ยังเดินหน้าพัฒนาสังคมต่อด้วย กับโครงการ AIS GREEN e-waste ที่เอไอเอสร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ และให้ความรู้เรื่องการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี เพื่อลดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
ปรับตัว รับมือกับ Digital Disruption
ในงานนี้เรายังได้เปิดมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับ Digital Disruption หรือภาวะที่ความเป็นดิจิทัลเข้ามาอยู่ในทุกก้าวของชีวิต โดยได้ ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ IBM และ Mr. Mitch Lowe ผู้ก่อตั้ง NETFLIX มาร่วมแชร์ประสบการณ์
ปฐมา จันทรักษ์ กล่าวว่า ในภาวะ Digital Disruption อย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าแบรนดไหนๆ ก็ต้องรู้เท่าทันและปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในแต่ละแบรนด์ก็มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป เช่น รับฟังผลตอบรับจากลูกค้าและนำมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง การนำโดรนมาใช้ส่งของ การเปิดให้ลูกค้าออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการเปิดแพลตฟอร์มการขายใหม่ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วย
“เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ คิดว่าเราจะใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง และเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมให้กับธุรกิจ” ปฐมากล่าว
ส่วน Mr. Mitch Lowe ผู้ก่อตั้ง NETFLIX บริการออนไลน์สตรีมมิ่งที่เรารู้จักกันดีก็ได้กล่าวว่า “สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจในปัจจุบันคือ เราต้องรู้จักปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังเกตปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละที่จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรม และที่สำคัญคือ นวัตกรรมนั้นเกิดจากการลองผิดลองถูก เพราะฉะนั้นเราต้องกล้าที่จะตัดสินใจและไม่ต้องกลัวว่ามันจะผิด”
และนับเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับเครือข่ายทางเทคโนโลยี ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจและการใช้ชีวิตของคนไทยให้มีความสะดวกและใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครบวงจร