Mango Zero

มาทำความรู้จักกับหน้ากากกรองสารพิษกัน!

จากเหตุการณ์อันตรายไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจากระเบิดโรงงานกิ่งแก้วครั้งใหญ่เมื่อวานนี้ ได้ส่งผลกระทบและความเสียหายไปยังย่านต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ทำให้ผู้คนในละแวกนั้นต่างต้องรีบอพยพออกมา เพราะนอกจากจะต้องหนีไฟที่กำลังปะทุลุกลามแล้ว ยังต้องเผชิญกับฝุ่นควันไฟพิษ เพราะมีการปนเปื้อนของสารเคมีจากโรงงานอีกด้วย

เพื่อเป็นการเตรียมตัวระมัดระวังที่ดี เผื่อเหตุการณ์อัคคีภัยที่คล้ายคลึงนี้จะเกิดขึ้นอีก Mango Zero จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ ที่จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยมากขึ้นขณะที่ต้องเผชิญกับอากาศที่ปนเปื้อนรูปแบบต่าง ๆ 

 

ซึ่งอุปกรณ์หรือหน้ากากที่ใช้ป้องกันทางเดินหายใจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ประเภทที่ทำให้อากาศปราศจากมลพิษก่อนที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจ (Air purifying devices)

หน้ากากประเภทนี้ สามารถแบ่งรูปแบบย่อยได้อีกเป็น หน้ากากกรองอนุภาค และหน้ากากกรองแก๊สและไอระเหย ซึ่งแบบที่เหมาะกับสถานการณ์อันตรายเมื่อวาน จะเป็นแบบที่กรองแก๊สและไอระเหยได้ และยังสามารถกรองสิ่งแขวนลอยต่าง ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศได้อีกด้วย

หน้ากากกรองแก๊สและไอระเหย มีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

1. หน้ากากกรองแก๊สและไอระเหย ชนิดตลับกรองสารเคมี (Cartridge Respirator)

สามารถป้องกันแก๊สและไอระเหยที่ปนเปื้อนในอากาศที่ความเข้มข้นประมาณ 10-1,000 ppm. และไม่เหมาะที่จะใช้ในบริเวณที่มีความเข้มข้นสูงในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตทันที (Immediately dangerous to life or health level หรือ IDHL) ยกเว้นจะใช้ในกรณีที่ใช้หนีออกจากบริเวณอันตรายนั้นภายในระยะเวลาอันสั้น

2.หน้ากากกรองแก๊ส (Gas mask) 

จะมีความคล้ายกับหน้ากากกรองแก๊สและไอระเหยชนิดตลับกรองสารเคมีข้างต้น แต่ต่างกันในส่วนที่บรรจุสารเคมี เพื่อทำให้อากาศที่ปนเปื้อนด้วยมลพิษสะอาดก่อนที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

3. หน้ากากที่ทำให้อากาศสะอาดชนิดที่มีพลังงาน ช่วยเป่าอากาศเข้าในหน้ากาก (Powered air-purifying respirator) 

หน้ากากรูปแบบนี้จะมีส่วนประกอบคล้ายกับหน้ากาก 2 แบบข้างต้น แต่มีสิ่งที่เพิ่มมาคือ เครื่องเป่าอากาศผ่านตลับหรือกระป๋องสารเคมี ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านทานในการหายใจเข้าของผู้สวม ทำให้ผู้สวมรู้สึกหายใจสบายขึ้น

 

2. ประเภทที่ส่งอากาศจากภายนอกเข้าไปในหน้ากาก (Atmosphere – supplying respirator) 

เป็นประเภทอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจชนิดที่ต้องมีอุปกรณ์ส่งอากาศหรือออกซิเจนให้กับผู้สวมใส่โดยเฉพาะ ซึ่งอาจหาซื้อยากกว่าข้างต้นระดับนึง แต่ก็จะนำมาให้ทุกคนได้รู้จักกัน ซึ่งประเภทนี้สามารถแบ่งย่อยได้เป็นอีก 2 แบบ คือ

1. ชนิดที่แหล่งส่งอากาศติดที่ตัวผู้สวม (Self contained breathing apparatus หรือ SCBA)

2. ชนิดที่ส่งอากาศไปตามท่อ (Supplied air respirator)

 

หวังว่าข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้จะสามารถช่วยเพื่อน ๆ ทุกคนในยามวิกฤตหรือยามฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และขอให้ทุกคนมีสติให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยนะ

 

ที่มา

ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ