เรารู้จัก “คาเฟอีน” ในฐานะสารเคมีชนิดหนึ่งในอาหารที่เมื่อรับเข้าไปแล้วจะช่วยให้ร่างกายตื่นขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม แต่ไม่ใช่แค่นั้น วันนี้ Mango Zero จะพาทุกคนไปรู้จักกับคาเฟอีนให้มากขึ้น ไปดูกันว่าจริงๆ แล้วนอกจากทำให้เหล่ามนุษย์ออฟฟิศตื่นระหว่างวัน ทำให้น้องๆ นักศึกษามีแรงลุกขึ้นมาอ่านหนังสือดึกๆ แล้ว คาเฟอีนยังทำอะไรได้อีกบ้าง ไปดูกันเลยจ้า
ประโยชน์ของคาเฟอีน
- ร่างกายตื่นตัวในช่วงที่ต้องการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ขับรถ อ่านหนังสือ ทำงาน
- ช่วยให้สมองด้านความจำทำงานได้ดีขึ้น
- ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ต้อกระจก นิ่วในถุงน้ำดี และโรคตับ
- เพิ่มความทนทานในการออกกำลังกาย ออกกำลังกายได้ดีขึ้น
- บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายได้มากถึง 48%
- เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เพราะมีส่วนช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้ดีขึ้น
ปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน
ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไปคือไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มมีคาเฟอีนทั่วไปก็คือ
- กาแฟ 4 แก้ว (อาจแตกต่างไปตามความแรงของกาแฟแต่ละแบรนด์)
- น้ำอัดลมโคล่า 10 กระป๋อง
- เครื่องดื่มชูกำลัง 2 ขวด (ตามโฆษณาที่เราเคยได้ยินกันเลยว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด”)
เข้าไปเช็คปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ ได้ที่นี่เลย
ผลข้างเคียงของคาเฟอีน
อย่างที่บอกว่าแม้ว่าจะมีประโยชน์ แต่ถ้าหากได้รับคาเฟอีนเข้าไปในร่างกายมากเกินความจำเป็น ผลข้างเคียงที่อาจตามมาก็คือ
- นอนไม่หลับ ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอและคุณภาพการนอนต่ำลงไปด้วย
- ใจสั่น (เพราะกาแฟหรือแกฟะ?) เพราะกาแฟนี่แหละ คาเฟอีนจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ซึ่งทำให้หัวใจเราเต้นเร็วขึ้นนั่นเอง
- เมื่อยล้า เมื่อร่างกายตื่นตัว ทำกิจกรรมต่างๆ ร่างกายอาจเกิดความเมื่อยล้าในช่วงที่ผ่านไปประมาณ 6 ชั่วโมงหรือในวันต่อมา อันเนื่องมาจากคาเฟอีนหมดฤทธิ์
- สูญเสียแคลเซียม นำไปสู่การสูญเสียมวลกระดูกและกระดูกพรุนในเวลาต่อมา
- ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายมีปัญหา กรดไหลย้อน เนื่องจากคาเฟอีนเข้าไปเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น ดังนั้นควรจิบน้ำตามบ่อยๆ นะ
- ติดคาเฟอีน สำหรับใครที่รับคาเฟอีนเข้าร่างกายจำนวนมาก หรืออาจไม่มากแต่บ่อย ก็อาจเกิดอาการเสพติดจนทำให้เมื่อไม่กินแล้วง่วงและเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
คาเฟอีนในอาหารอื่นๆ
นอกจากชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังและน้ำอัดลมแล้ว คาเฟอีนยังอยู่ในอาหารบางชนิด เช่น เมล็ดทานตะวัน ช็อคโกแลต โกโก้ รวมไปถึงยาบางตัว เช่น พาราเซตามอล และยาที่รักษากลุ่มอาการ PMS
เลิกติดคาเฟอีนยังไงดี?
ถึงตรงนี้เราเชื่อว่า ทั้งที่ทานคาเฟอีนมานาน หรือคนที่เพิ่งเริ่มได้ไม่นานก็อาจจะเริ่มมองหาวิธีการที่จะไม่ได้รับผลเสียจากการทานคาเฟอีน หรือไม่กลายเป็นคนติดคาเฟอีนแบบขาดไม่ได้ เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดคาเฟอีนในชีวิตประจำวันได้ ดังนี้
- ค่อยๆ ลดทีละนิดๆ ตั้งแต่จำนวนแก้ว ไปจนถึงลดขนาดแก้วให้เล็กลงเพื่อให้ดื่มได้น้อยลง
- ทดแทนด้วยกาแฟ Decaf เพราะมีคาเฟอีนน้อยมาากกก แค่แก้วละประมาณ 10 มิลลิกรัมเท่านั้น ใครที่รักรสชาติของกาแฟและยังทำใจไม่ได้กับการต้องหักดิบเลิกไปเลย วิธีนี้เหมาะสุดๆ
- ใช้แอปคำนวณคาเฟอีน เพื่อกำหนดปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมในแต่ละวัน เช่น Caffeine Tracker, Caffeine Per Day, RECaf ไปโหลดติดเครื่องกันเอาไว้เลย
- เปลี่ยนมาดื่มชาสมุนไพร ที่รสชาติคล้ายกับชาที่เราดื่มอยู่ แต่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและไม่มีคาเฟอีน
- ดูแลสุขภาพ ตั้งแต่นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารดีๆ ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายสดชื่นได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ที่มา :
https://www.caffeineinformer.com/top-10-caffeine-health-benefits