category รู้หรือไม่! 10 เรื่องน่าสนใจ ของรถไฟฟ้าบีทีเอส

Writer : lucksurely

: 8 กรกฏาคม 2563

ป็นเวลากว่า 21 ปี ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการมา (นับตั้งแต่ 5 ธันวาคม 2542) ทำให้การเดินทางของคนเมืองหลายๆ คน สะดวกสบายมากขึ้น ช่วยลดค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ลดการใช้รถบนท้องถนนอย่างมาก

ถือว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนที่จำเป็น และมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยอยู่คู่คนกรุงมาอย่างยาวนาน

แต่ว่าคุณเคยสังเกตไหมว่า ขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นมีกี่ตู้ ? เก้าอี้มีสีอะไร ? วิ่งด้วยความเร็วเท่าไร ? ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็น่าสนใจไม่เบาเลยนะ  

ซึ่งวันนี้ mango zero ได้รวบรวมเรื่องที่น่าสนใจของรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่แม้แต่คนที่ขึ้นประจำอาจจะยังไม่รู้มาฝาก จะมีเรื่องอะไรบาง ไปดูกันเลยย

1. คนล้นสถานีสยามเกินแสนต่อวัน

เรียกได้ว่าเป็นสถานีที่แทบจะแน่นหนาตลอดเวลา ก็เพราะความที่สยามเป็นสถานีที่มีการเปลี่ยนเส้นทางระหว่าง 2 สาย และยังมีสถานที่แลนด์มาร์คสำคัญต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ วัดวาอาราม สถานศึกษา จึงทำให้สถิติในปี 2562 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยกว่าแสนคน ต่อวันเลยทีเดียว

2. รถไฟฟ้าบีทีเอสมีทั้งหมด 4 รุ่น!!

ไม่รู้ว่าหลายๆคนเคยขึ้นครบกันรึยังนะ ซึ่งรถไฟฟ้าบีทีเอส มีอยู่ทั้งหมด 4 รุ่นด้วยกัน

ได้แก่ 

  • รุ่นที่ 1 รุ่น EMU-A1 จาก SIEMENS (1999) 
  • รุ่นที่ 2 รุ่น EMU-B1 และ EMU-B2 จาก CNR Changchun (2009-2012)
  • รุ่นที่ 3 รุ่น EMU-A2 จาก SIEMENS (2018)
  • รุ่นที่ 4 รุ่น EMU-B3 จาก CRRC Changchun (2019)

โดยรุ่นหลังๆ ก็มีความทันสมัย มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น และสามารถจุผู้โดยสารมากขึ้นด้วย โดยนอกจากดูหน้าตาภายนอกแล้ว เรามีวิธีสังเกตง่ายๆ ด้วยการดูหน้าต่างบริเวณประตู และเสากลางภายในขบวนรถไฟฟ้า ว่ารถไฟขบวนที่เราขึ้นเป็นรุ่นไหน

3. วิ่งเร็วกว่า 80 กม/ชม.ไม่ได้

ไม่ว่าเราจะรีบ หรืออยู่ในช่วงเวลาเร่งด่วนขนาดไหน รถไฟฟ้าก็ไม่สามารถ วิ่งด้วยความเร็วเกินกว่านี้ได้ เนื่องด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสาร จึงมีการล็อคความเร็วไว้ไม่เกิน 80 กม/ชม. ด้วยระบบอาณัติสัญญาณ

4. สะพานตากสินเป็นสถานีเดียวที่ไม่มีลิฟต์ให้บริการ

ฟังแล้วหลายๆ คนอาจจะตั้งคำถาม ทำไมบีทีเอสทำอย่างงี้ ? แต่ที่ยังไม่มีลิฟต์เพราะทางบีทีเอสเองมีแผนที่จะปรับปรุงสถานีจากระบบรางเดี่ยวเป็นระบบรางคู่ เพื่อรองรับประชานชน และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้รวดเร็วขึ้น

5. เข้าแล้วต้องออกภายใน 2 ชม.

เมื่อเราใช้บัตรโดยสารแตะเข้าระบบมาแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบบีทีเอสได้ไม่เกิน 120 นาที หรือ 2 ชม. หากเราอยู่เกินทางบีทีเอสจะปรับเงินเราตามอัตราค่าโดยสารสูงสุด ซึ่งเรื่องนี้เคยมีคนต้องจ่ายค่าปรับจริงๆ มาแล้ว

เพราะฉะนั้น เราจะมานั่งรถไฟฟ้าเที่ยวเล่นรอบเมืองนานๆ ไม่ได้นะ

6. เดินทางจากต้นสายไปปลายสาย นานที่สุด 74 นาที

ถ้าใครสงสัยเรื่องระยะเวลาในการนั่งจากต้นสายไปสุดสายปลายทางล่ะก็ ไม่ต้องไปลองนั่งจริงๆ หรือคิดคำนวนให้เสียเวลา เพราะว่าทางเว็บไซต์บีทีเอสได้มีข้อมูลแสดงไว้ โดยถ้าเรานั่งจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปเคหะฯ รวมทั้งสิ้น 39 สถานีจะใช้เวลาทั้งหมด 74 นาที!! ซึ่งถ้าใครนั่งไป-กลับในคราวเดียว คงต้องเสียค่าปรับ 120 นาทีซะแล้ว

7. มีบริการจำหน่ายทัวร์ ตั๋ว บัตรชมการแสดง

นอกจากจะบริการในเรื่องของการเดินทางแล้ว บีทีเอสยังมีการจำหน่ายทัวร์ ตั๋วสถานที่ท่องเที่ยว การแสดงต่างๆ ไว้อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวอีกด้วย

โดยสามารถซื้อได้ที่ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว ตรงสถานีพญาไท สยาม และสะพานตากสิน

8. เคยมีรถรับ-ส่ง ผู้โดยสารไปยังสถานีฟรี !!

ในปี 2547 -2549 ทางบีทีเอสได้มีการบริการรถ Shuttle bus รับ-ส่ง ผู้โดยสารฟรี 6 เส้นทาง 6 สถานี ได้แก่ 

  • สถานีหมอชิต – เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์รัชโยธิน – ม.เกษตรศาสตร์ – SCB Park – สถานีหมอชิต
  • สถานีสุรศักดิ์ – คลองสาน – วงเวียนใหญ่ – กรุงธนบุรี – สถานีสุรศักดิ์
  • สถานีพระโขนง  – สุขุมวิท 71 – เพชรบุรีตัดใหม่ – เอกมัย – สถานีพระโขนง
  • สถานีทองหล่อ – ซอยทองหล่อ – เพชรบุรีตัดใหม่ – ซอยพร้อมพงษ์ – สถานีทองหล่อ
  • สถานีอ่อนุช – ซอยอุดมสุข – เซ็นทรัล พลาซ่า บางนา – ซอยอุดมสุข – สถานีอ่อนนุช
  • สถานีเพลินจิต – ถนนวิทยุ – ออลซีซั่นเพลส – ซอยร่วมฤดี – สถานีเพลินจิต

ถึงแม้ว่าปัจจุบันบีทีเอสจะยกเลิกการให้บริการรถรับ-ส่งผู้โดยสารไปแล้ว แต่ก็ยังมีการให้บริการลักษณะนี้ซึ่งจัดโดย กทม. ที่ใช้ชื่อว่า BMA FEEDER BUS

แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีการทดลองให้บริการแค่ 3 เส้นทางเท่านั้น ได้แก่

  • สถานีขนส่งมวลชนสายใต้ใหม่ – สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า
  • ดินแดง – สถานี bts สนามเป้า
  • ชุมชนเคหะร่มเกล้า – สถานี ARL ลาดกระบัง

9. เด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร ขึ้นฟรี !!

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรหลาน ความสูงไม่เกิน 90 ซม ก็อย่าเผลอซื้อตั๋วให้น้องหละ เพราะทางบีทีเอสเขาให้บริการฟรี โดยผู้ปกครองท่านใดที่ไม่รู้ความสูงของน้องละก็ สามารถวัดความสูงได้ที่บริเวณเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารได้เลย

10. มีจุดที่รางรถไฟฟ้า สูงเท่าตึก 9 ชั้น

โดยปกติทั่วไปความสูงของรางรถไฟฟ้าบีทีเอส อยู่ที่ราวๆ 17-18 เมตร แต่ไม่ใช่กับเส้นทางระหว่าง แบริ่ง-สมุทรปราการ เพราะต้องข้ามทางพิเศษวงแหวนรอบนอกใต้ จึงทำให้ต้องยกระดับรางรถไฟฟ้าขึ้นไปจนสูง 28 เมตร ซึ่งทำให้มองเห็นพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณได้อย่างชัดเจน ถือว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยจุดนึงของเส้นการเดินทางเลยก็ว่าได้

ที่มา BTS, BKKTrains, ch3thailand


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save