เราอาจจะคุ้นเคยว่ามีมคือรูปตลกๆ ไว้โพสต์ใส่เพื่อนเพื่อแทนความรู้สึกเราในเวลานั้นๆ (ที่ออกจะโอเวอร์ไม่หน่อย) และปัจจุบันในโซเชียลมีเดีย ภาพมีมก็มีให้เห็นว่อนในอินเตอร์เน็ตจนเป็นเรื่องปกติของชาวเนติเซ็นไปแล้ว แต่มีมมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น ภาพตลกๆ ที่เราแปะให้เพื่อนแท้จริงแล้วมีข้อมูลเชิงลึกมากมายที่ซ่อนไว้อยู่!? มีหมวดหมู่ยิบย่อย แถมยังส่งผลต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย จะเป็นยังไง เราไปดูกันนน มีมแปลว่าอะไรกันแน่?? ในปีคศ. 1976 คำว่า “มีม” หรือ “meme” (ไม่ได้อ่านว่าเมเม่หรือมีมี่) ได้ถูกบัญญัติขึ้นโดย Richard Dawkins ในหนังสือ “The Selfish Gene“ ซึ่งตัว Dawkins เองให้ความหมายของมีมว่า การแพร่กระจายของไอเดีย หรือข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ โดยไม่ใช่การส่งผ่านทางพันธุกรรมด้วยการเลียนแบบ (โดยรากศัพท์ของคำว่า meme มาจากศัพท์กรีก mimema ที่แปลว่าการลอกเลียน) ซึ่งมีมก็สามารถถูกนำไปพัฒนา ต่อยอด หรือแม้กระทั่งผ่านการคัดเลือดทางธรรมชาติได้อีกด้วย! อย่างไรก็ตาม คำและความหมายของคำก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ปัจจุบันคำว่ามีมอาจไม่เหมือนกับมีมที่ Richard Dawkins ได้เขียนไว้ตั้งแต่เริ่ม แต่การใช้งานของมีมก็ยังมีความคล้ายคลึงจากความหมายเดิมอยู่ ทำไมถึงมีม? (นั่นสิ สงสัยเหมือนกัน) ส่วนมากแล้วมีมเกิดขึ้นได้เพราะความตลกเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวิดีโอ หรือเสียง และสิ่งที่ทำให้เป็นมีมได้คือการนำไปใช้ซ้ำ (แต่ถ้าใช้ซ้ำมากเกินไปก็จะเกิดภาวะ “มีมตาย” ที่แปลว่าเมื่อมีมถูกใช้เป็นวงกว้างจนเริ่มไม่ตลกแล้ว) ถ้าหากต้นแบบนั้นสามารถนำไปต่อยอดได้ในหลายๆ ทางก็ยิ่งส่งเสริมการใช้ซ้ำและมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ยืดชีวิตมีมไปได้อีกนิด สิ่งหนึ่งที่ไม่พ้นจากความตลกก็คือการเข้าถึงได้ ถ้าข้อมูลในคอนเทนต์นั้นๆ มีความคล้ายคลึงกับชีวิตคนหมู่มาก ก็ส่งผลให้คนเข้าใจมุกได้เยอะ กระจายต่อได้อีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งมีมมันจะเกิดมันก็เกิด บางอย่างที่ไม่นึกว่าจะตลกก็ตลกได้แบบงงๆ ซึ่งนั่นเป็นธรรมชาติของมีมที่มีเสน่ห์เฉพาะของมัน 1337speak และ Dancing Baby จุดเริ่มต้นของมีม ถ้าให้นับไปถึงจุดเริ่มต้นของมีม บ้างก็ว่าการใช้มีมในรูปแบบที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันนั้นเริ่มมาจากยุคบุกเบิกของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่สามารถอัพโหลดภาพลงอินเตอร์เน็ตได้ Leetspeak หรือ 1337speak เป็นภาษาที่เกิดขึ้นจากการแทนตัวอักษรอังกฤษเป็นตัวเลขที่คล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น Mangozero เป็น m4n60z3r0 (โห สุดจัด) จนกระทั่งในปี 1996 ที่กราฟฟิคดีไซเนอร์ Michael Girald ได้สร้างซอฟต์แวร์ที่สามารถโปรแกรมการเคลื่อนไหวคล้ายกับการ Rigging และแสดงผลลัพธ์ผ่านคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งโมเดลแรกที่เขาสร้างนั้นคือเด็กทารกเต้นจากท่าใน Cha-Cha-Cha เมื่อเขาได้ส่งโมเดลต้นแบบให้กับบริษัท LucasArts ซึ่งภายหลังถูกแปลงไปเป็น GIF ไฟล์ภาพ GIF ของเด็กทารกเต้นตามจังหวะชะชะช่าก็ถูกส่งกระจายไปเป็นวงกว้างตามเว็บไซต์และอีเมลต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่ามีมจนถึงปัจจุบันนี้ Meme Culture ในไทย หากตัดมีมต่างๆ ที่ถูกประยุกต์มาจากมีมต่างประเทศแล้วมาโฟกัสกับในไทย เราอาจจะคุ้นเคยกับชัชชาติ รมต.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี กับมุกประมาณ “ชัชชาติไม่ได้อายุมากขึ้น เขาเลเวลอัพ” กับท่าเดินออกจากวัดสุดแกร่ง (ซึ่งมุกเหล่านี้ถูกปรับใช้มาจาก Chuck Norris Facts หนึ่งในมีมสัญชาติอเมริกันที่โด่งดังมากในช่วงปีคศ. 2003-2006) หรือมีมที่เพิ่งบูมไปอย่างอภินิหารหลวงปู่เค็ม “ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปไฟไหม้สบง” แม้กระทั่ง “ใครอยากเป็นเศรษฐี ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ” ถึงสองอย่างหลังจะเป็นมุกตลกที่ถูกคิดขึ้นไว้มานานแล้ว แต่ก็ยังถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ถือว่าเป็นมีมที่ผ่านการคัดเลือกทางธรรมชาติมาได้อย่างสมบูรณ์ อีกตัวอย่างของมีมคือคลิปวิดีโอหรือภาพจากมังงะโจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ภาพไอดอลเกาหลีที่ถูกแคปมาจากคลิปวิดีโอในเวลาที่เหมาะเหม็งพอดิบพอดี หรือน้อง Gavin Thomas เด็กน้อยยิ้มแห้งขวัญในชาวเนติเซ็น ที่เมื่อใส่ประโยคโดนใจหรือเข้าถึงได้สำหรับคนวงกว้าง หรือแม้กระทั่งคนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นก็นับว่าเป็นมีมได้แล้ว มีมเป็นประโยชน์หรือโทษ? การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทำให้มีมเป็นที่สงสัยและเป็นการตั้งคำถามกันว่ามีมเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีกันแน่ บ้างก็ว่ามีมเป็นเหมือนไวรัสที่กัดกินความคิดของคนหรือการใช้มีมในทางที่ไม่ดีก็ส่งผลให้ผู้เสพมองเรื่องต่างๆในทางแง่ลบหรือส่งผลกระทบต่อผู้เสพที่มีความคิดไม่ตรงกันต่อต้านแนวคิดในมีมเป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่ามีมจะเป็นเรื่องที่แย่ซะทีเดียว ยังมีหมวดหมู่มีมอย่าง Wholesome Memes ที่นับว่าตลกและให้กำลังใจผู้เสพในเวลาเดียวกัน หรือตลกอย่างสร้างสรรค์ก็ว่าได้ Comedy is subjective เราอาจจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง คนเราตลกไม่เหมือนกัน ว่าเรื่องตลกสำหรับเราอาจจะไม่ตลกสำหรับคนอื่น ดีไม่ดีอาจไปทำร้ายคนอื่นก็เป็นได้ เล่นมุกได้ แต่เล่นมุกอะไรก็ใช้วิจารณญาณในการเล่นหน่อยนะ ที่มา: britannica.com / complex.com / wired.com / howtogeek.com