นอกจากโรคซึมเศร้าที่ผู้คนในสังคมปัจจุบันเริ่มตระหนักรู้และเริ่มที่จะทำความเข้าใจแล้ว ก็ยังมีอาการที่เกี่ยวข้องกับ Mental Health อื่น ๆ อีกหลายอาการที่อาจจะถูกมองข้ามไป หรืออาจจะไม่มีคนพูดถึงมากพอจนกลายเป็นที่รู้จักของคนในสังคม วันนี้เราจะมาพูดถึงอาการ Social Anxiety Disorder หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอาการ “กลัวการเข้าสังคม” กัน นอกจากจะทำให้เราสังเกตอาการตัวเองได้แล้ว ยังทำให้เราเข้าใจผู้ที่มีอาการเหล่านี้อีกด้วย หลาย ๆ คนที่เข้ามาอ่านบทความนี้อาจจะเกิดความกังวลว่าตัวเองมีอาการของ Social Anxiety Disorder หรือไเปล่า ต้องบอกว่าถ้ามีอาการตามบทความด้านล่างเกินกว่าครึ่ง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาตัวในขั้นตอนต่อไป อาการ Social Anxiety Disorder ส่วนมากจะรักษาให้หายได้ ดังนั้นไม่ต้องห่วงไป แต่ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักและเช็กกันเลยดีกว่าว่าเรามีอาการเหล่านี้หรือไม่! ลักษณะอาการของ Social Anxiety Disorder เรามาลองเช็กอาการกันก่อนเลยดีกว่าว่าเราพอจะมีอาการแบบไหนที่จะเข่าข่ายบ้างไหม แต่ต้องบอกก่อนเลยนะว่าการที่มีอาการเหล่านี้บางอาการ ไม่ได้หมายความว่าเราป่วยหรือมีความผิดปกติ ทางที่ดีควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเนอะ แต่ถ้ารู้ตัวว่าตัวเองมีอาการแบบนี้บ้าง เป็นบางครั้ง และเกิดความไม่สบายใจ ก็สามารถไปพบแพทย์ได้เช่นกัน กลัวการถูกตัดสินจากคนรอบข้าง เป็นกังวลว่าตัวเองจะทำเรื่องที่น่าอายต่อหน้าคนอื่น รู้สึกเครียดมาก ๆ เมื่อต้องพูดคุยกับคนแปลกหน้า รู้สึกกังวลตลอดเวลาว่าคนอื่นจะรู้ ว่าเรากำลังจิตตก (ตอนที่คุยกับคนอื่นนั่นแหละ) เครียดหรือกังวลเมื่อต้องเป็นจุดสนใจของคนหมู่มาก (เช่นการพรีเซนต์งานต่อหน้าคนเยอะ ๆ) คิดถึงเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้เมื่อทำอะไรสักอย่าง อาการทางร่างกายที่เกิดขึ้น อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นได้ทั้งก่อน หลัง และระหว่างที่เราต้องทำกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เราเกิดความเครียด และทำให้เรามีอาการทางร่างกายดังนี้ตามมา ซึ่งถ้าใครมีอาการเหล่านี้เกินกว่า 6 เดือน ก็บอกเลยว่าต้องรีบไปพบแพทย์แล้วนะ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมากกว่าปกติ รู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มึนหัว และมีอาการปวดหัว มีปัญหาเรื่องท้องไส้ปั่นป่วน อาจจะมีอาการท้องเสีย หายใจเร็ว รู้สึกเหมือนสติหลุดออกจากร่าง สาเหตุที่ทำให้เกิด Social Anxiety Disorder สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ Social Anxiety Disorder ก็มีหลากหลายสาเหตุ และค่อนข้างจะซับซ้อนเหมือนกับอาการของโรคทางด้านจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งก็จะแตกต่างไปตามบุคคลและประสบกาณ์ที่บุคคลนั้น ๆ ได้รับนั่นเอง และจากการศึกษาวิจัย พบว่าอาการ Social Anxiety Disorder นี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับยีนส์ในร่างกายด้วย หากพ่อแม่มีอาการเหล่านี้ ก็เป็นไปได้สูงว่าลูกจะมีโอกาสเป็นเช่นกัน เราลองมาดูกันคร่าว ๆ ดีกว่าว่าอาการนี้เกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง พ่อแม่มีอาการ ลูกจึงมีอาการด้วย การทำงานของสมองที่ผิดปกติ (อย่างเช่นส่วน Amygdala ที่ควบคุมความกลัว) เหตุการณ์ที่ทำให้ฝังใจ เช่น การออกไปพูดหน้าชั้นเรียนแล้วโดนเพื่อน ๆ หัวเราะเยาะ หรือไม่ให้ความสนใจ การดูแลตัวเอง หากพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้เกินกว่า 6 เดือน เราแนะนำว่าอยากให้รีบพาตัวเองไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และเพื่อเริ่มการรักษาอย่างเร็วที่สุด และยังมีทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการช่วยให้ตัวเองมีสติ และมีอาการที่ดีขึ้นได้ด้วยนะ ไปพบแพทย์ยิ่งเร็วยิ่งดี อย่าปล่อยไว้นาน เขียนบันทึกประจำวัน เพื่อติดตามอาการของตัวเอง (เราจะเห็นว่าเมื่อเจอเหตุการณ์แบบใดแล้วทำให้เราเครียด และกังวลมาก ๆ) หลีกเลี่ยงการกินกาแฟ, ชา หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะมันทำให้เรากังวลมากยิ่งขึ้น จัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เรารู้สึกว่าเราใช้เวลาไปกับอะไรที่เรามีความสุข และไม่กังวลจนเกินไป หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเครียดและกังวลจนเกินไป