ถ้าบ้านต้องมี ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ กลับกันแล้ว เราอาจะไม่ค่อยรู้ว่า ‘อุปกรณ์ช่างสามัญประจำบ้าน’ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นกับบ้านที่เราอยู่ไม่แพ้กันเลย หากเกิดเหตุสุดวิสัยไอ้นั่นนี่เกิดพังแล้วต้องซ่อม หรือว่าเราต้องการเติมกรอบรูปบนผนัง แม้กระทั่งทำงานอดิเรก DIY เล็กๆ น้อยๆ ในวันหยุด อุปกรณ์ช่างสามัญประจำบ้านก็จะเป็นสิ่งที่เราต้องมีพกเอาไว้เพื่อจัดการกิจกรรมเหล่านั้นๆ นั่นเอง แล้วอุปกรณ์ช่างเหล่านั้นควรมีอะไรบ้าง คราวนี้เราได้รวบรวม 10 อุปกรณ์พื้นฐานที่เราควรมีติดบ้านเอาไว้ ที่เชื่อว่าไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่แค่ไหน แค่คว้าอุปกรณ์เหล่านี้ก็เชื่อว่าเอาอยู่แน่นอนครับ ตลับเมตร อุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ต้องมีติดบ้านเอาไว้ชิ้นแรกเลยก็คือ ‘ตลับเมตร’ เอาไว้วัดระยะต่างๆ เพื่อเช็คความเรียบร้อยเวลาเราจะติดตั้งสิ่งต่างๆ หรือแม้กระทั้งวัดเพื่อตัดวัสดุให้พอดีขนาด โดยส่วนมากตลับเมตรในท้องตลาดจะมีระยะตั้งแต่ 1 – 5 เมตร ซึ่งถ้าจะมีติดบ้านเอาไว้ เราแนะนำให้ซื้ออยู่ที่ 3 เมตรนะฮะ ระดับน้ำ อุปกรณ์ช่างอีกชิ้นนี่มักใช้คู่กับตลับเมตรก็คือ ‘ระดับน้ำ’ ซึ่งถ้าตลับเมตรมีไว้วัดระยะ ระดับน้ำมีหน้าที่ในการตรวจความเรียบร้อยการวัดของเราไม่ให้ลาดเอียง โดยระดับน้ำส่วนมากจะมีหน้าตาเหมือนไม้บรรทัดเหล็กที่บรรจุหลอดแก้วน้ำเขียวๆ และมีฟองขนาดเม็ดถั่วข้างในนี้เองคือสิ่งที่เราใช้ตรวจสอบความลาดเอียง โดยการนำไปขนาบกับจุดที่ต้องการวัด หากฟองอากาศไหลมาอยู่ตรงกลางหลอด แสดงว่าระดับดังกล่าวขนานหรือตั้งฉากแล้ว ไขควง อุปกรณ์พื้นฐานมากๆ ที่ต้องมีติดเอาไว้ก็คือ ‘ไขควง’ เอาไว้ขันสกรูหรือหัวน็อตยึด หรือไว้ประกอบของนั่นนี่ ซึ่งปัจจุบันนี้ไขควงนั้นมีหลากหลายวัสดุและขนาดมากๆ แต่นี่เราแนะนำว่าควรต้องมีไว้เลยก็คือ ไขควงหัวสี่แฉก และ ไขควงหัวปากแบน มันจำเป็นมากๆ ซึ่งถ้ามันเป็นไขควงที่วัดไฟได้ด้วยก็ซื้อมาด้วยเลยนะ ค้อนหงอน จริงๆ ประเภทของค้อนในวงการช่างนั้นมันมีหลากหลายประเภทมากๆ แต่ที่แนะนำว่าตัวเดียวจบก็คือ ‘ค้อนหงอน’ ซึ่งเป็นค้อนที่มีหงอนไก่อยู่ด้านหลังของหัวค้อนนี้เอง ที่มีหน้าที่เอาไว้งัดตะปูหรืองีดเสี้ยนต่างๆ ได้ ค้อนหงอนนี้สามารถตอกยึดถอนทำได้หมด ซื้อตัวนี้ตัวเดียวจบครับ สว่านมือไฟฟ้า อีกอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘สว่านมือไฟฟ้า’ เพียงต่อปลั๊กก็สามารถเจาะผนังเบา นำร่องตะปู ขันสกรู ช่วยผ่อนแรงไปได้มาก ซึ่งเดี๋ยวนี้สว่านมือก็มีหลากหลายขนาดมากๆ รวมทั้งมีแบบใส่ถ่านไร้สายอีกด้วย สะดวกมากๆ แต่ถ้าใครอยากลงทุนสว่านตัวเดียวจบ แนะนำให้ซื้อสว่านที่มีโหมดเจาะกระแทกด้วยนะ เอาไว้เจาะพวกผนังคอนกรีตได้ด้วย เลื่อยลันดา เลื่อยมือก็จะเป็นอีกอุปกรณ์ที่มีหลากหลายหน้าตาและประเภท แต่ที่แนะนำแบบเบสิคก็คือ ‘เลื่อยลันดา’ ซึ่งเป็นเลื่อยมือที่หน้าตาเหมือนในพวกหนังการ์ตูน ซึ่งใช้งานได้ง่าย จับง่าย และปลอดภัย โดยสามารถใช้งานตัดได้ทั้งไม้และวัสดุโลหะบางๆ (แต่ออกแรงเยอะหน่อย) โดยเทคนิคการเลื่อยที่ดีก็คือ ใช้แรงดึงเข้าที่ตัวในการเลื่อย คีมล็อค อุปกรณ์อีกชิ้นที่สำคัญมากๆ ก็คือ ‘คีมล็อค’ หน้าตามเป็นเหมือนคีมหัวใหญ่ๆ ที่มีสลักกดเอาไว้ล็อคขนาดหัวได้ ซึ่งหน้าที่ของคีมล็อคนี้ก็คือเอาไว้หนีบยึด บิด เกี่ยว งัด กับวัสดุนั้นๆ ที่เรากำลังทำงานอยู่ ซึ่งด้วยการที่มันล็อคได้นั้น มันก็จะช่วยทำให้เราไม่เลื่อนและออกแรงได้น้อยลงเวลาทำงานนั่นเอง คีมตัด ชุดคีมตัด มักจะมาเป็นชุด 3 ขนาด ซึ่งคีมตัดนั้นมีหน้าที่คล้ายกรรไกรสำหรับงานก่อสร้างนั่นแหละครับ ไว้ตัดแผ่นเหล็ก ตัดลวด ตัดสายไฟ ปลอกสายทองแดง ซึ่งคีมตัดนี้เราก็สามารถประยุกต์มาแทนประแจได้ด้วยนะ ชุดประแจ / ประแจเลื่อน ชุดประแจ ก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้านเอาไว้ ขันหัวน็อตหรือสกรูในงานพวกเหล็กต่างๆ ความพลาดของคนที่ซื้อติดบ้านเอาไว้ก็คือ เราชอบซื้อเป็นประแจชิ้นเดี่ยวๆ มา ทำให้บางทีขนาดหัวประแจนั้นไม่ตรงกับงานที่ทำอยู่ เราแนะนำให้ซื้อเป็นกล่องไว้เวลาหลากหลายขนาด เพื่อที่จะไม่พลาด แต่ถ้ารู้สึกว่าแพงไป เราแนะนำให้ซื้อเป็นแบบประแจเลื่อนได้ ที่สามารถปรับขนาดหัวได้นั่นเอง ซึ่งจุดอ่อนของประแจเลื่อนก็คือมันจะใหญ่เทอะทะไปนิส ตัวยึด ตะปู / สกรู / ฮุกตะขอ สุดท้ายของอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลย หากไม่มีสิ่งนี้อุปกรณ์ก่อนหน้าๆ ก็ดูจะไม่มีความหมายเลยก็คือ ตัวยึดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตะปู ตัวสกรู ตะขอยึดต่างๆ นั่นเอง ซึ่งอุปกรณ์ตัวยึดเหล่านี้ ทางเทคนิคเราจะเรียกว่า fitting หรือตัวยึด โดย fitting นั้นมีขนาดและวัสดุหลากหลายมากๆ ในท้องตลาด เราแนะนำให้เหมาซื้อเป็นกล่องๆ เก็บหลายๆ แบบเอาไว้ เพื่อที่ว่าไม่ว่างานช่างประเภทไหนก็จะมีของสำรองไว้นั่นเองครับ