เราอาศัยอยู่ในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยเสียง ไม่ว่าเสียงนั้นจะน่ารื่นรมย์หรือไม่น่าอภิรมย์ ทั้งเสียงจากสมาร์ทโฟน โทรทัศน์ วิทยุ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ เครื่องบิน หรือแม้แต่เสียงปาร์ตี้ของเพื่อนบ้าน ไปจนถึงเสียงตัดหญ้าในตอนเช้าตรู่ คนบางกลุ่มจึงโหยหาที่จะได้ใช้เวลากับความคิดของตัวเอง มองหาความเงียบอย่างกระตือรือร้น ราวกับเป็นของขวัญล้ำค่า ในขณะที่คนบางกลุ่มเลือกที่จะปฏิเสธความเงียบ เพียงเพราะคิดว่าไม่ต่างอะไรกับความเหงาหรือความเดียวดาย เมื่อเราถูกอาบชโลมด้วยเสียงตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ทำไมเราจะไม่ลองเปิดใจแบ่งเวลากลับไปหา ‘ความเงียบ’ ดูบ้าง ‘เพื่อนสนิท’ ที่อยู่เคียงข้างเราได้ตลอดทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ เพื่อนสนิทที่ให้พื้นที่เราได้คิด ทำ และตามทันความคิดของตัวเอง และช่วยทำให้เรามีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ “ไปเถอะ ไปเจอความเงียบบ้างก็ดีนะ” เกิดความคิดสร้างสรรค์ ความเงียบช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ เมื่อคุณรู้สึกสบายใจในความเงียบ คุณจะเริ่มมองเห็นศักยภาพภายในของตนเอง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่าง เมื่อปลดปล่อยความคิดออกจากความวุ่นวายไปอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จะช่วยทำให้เกิดแรงบันดาลใจหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ เพราะเมื่อความคิดดำเนินไปในทิศทางที่แตกต่าง จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นอันนำไปสู่เส้นทางใหม่ที่อาจมีศักยภาพมากกว่า และยังสามารถนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่กำลังประสบพบเจอ หรือปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานานได้ เสริมสร้างเซลล์สมอง อ้างอิงจากวารสาร Brain Structure and Function ปี 2013 พบว่าการอยู่ในความเงียบเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สามารถสร้างเซลล์สมองใหม่ในส่วนที่เรียกว่า ‘ฮิปโปแคมปัส’ (Hippocampus) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะยาว ความสามารถในการเรียนรู้ ไปจนถึงเรื่องอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งก่อนหน้าในปี 2011 มีรายงานในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences พบว่าผู้ใหญ่ที่เดินเป็นเวลา 40 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งปี ช่วยพัฒนาสมองในส่วนฮิปโปแคมปัสได้เป็นอย่างดี ลองหาเวลาเดินในสวนตามลำพัง นอกจากจะช่วยให้สมองปลอดโปร่งแล้ว ยังช่วยให้มีความจำที่ดีมากขึ้นอีกด้วย บรรเทาความเครียด เสียงมีผลต่อสมอง ซึ่งนำไปสู่ระดับของฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ที่สูงขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อคลื่นเสียงส่งไปยังสมอง จากนั้นสมองก็จะประมวลผลออกมาว่าเป็นเสียงที่เราพึงพอใจหรือไม่ ยิ่งเสียงนั้นทำให้เรารู้สึกรำคาญ หรือรบกวนจิตใจ ก็จะยิ่งทำให้ระดับความเครียดสูงขึ้นได้ งานวิจัยหนึ่งพบว่าความเงียบสามารถปลดปล่อยความตึงเครียดในสมองและในร่างกายได้ ภายในระยะเวลาเพียง 2 นาทีเท่านั้น และยังพบอีกว่า ความเงียบช่วยผ่อนคลายได้มากกว่าการฟังเพลงผ่อนคลาย (relaxing music) ด้วยซ้ำไป ซึ่งภาวะนี้อยู่บนการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันเลือดและระดับการหมุนเวียนเลือดในสมอง อย่างไรก็ตามเรามีเทคนิคการใช้ความเงียบสยบความเครียดมาแนะนำกัน เริ่มจากใช้เวลาส่วนตัว เช่น หลังตื่นนอน หรือ ก่อนเข้านอน นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย ไม่ไขว่ห้างหรือกอดอก ให้หลับตา และหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ประมาณ 10 – 15 นาที วันละสองครั้ง จะช่วยบรรเทาความเครียดได้เป็นอย่างดี นอนหลับดี โดยเฉพาะคนที่มีปัญหานอนไม่หลับ การได้ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีต่อวันในความเงียบ สามารถนำไปสู่การนอนที่ดีขึ้นได้ มีงานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์ไว้ในวารสาร JAMA Internal Medicine ปี 2015 รายงานว่า คนสูงอายุที่ฝึกนั่งสมาธิเจริญสติ มีปัญหาน้อยลงทั้งในเรื่องของโรคนอนไม่หลับ ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าและอาการเหนื่อยล้าลงได้ การนั่งสมาธิเจริญสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ การดึงความคิดให้อยู่กับปัจจุบัน โดยปราศจากการนึกถึงอดีตหรืออนาคต ช่วยทำให้การตอบสนองต่อกลุ่มก้อนความคิดต่างๆ มีความผ่อนคลายมากขึ้น จิตใจผ่องใส การเข้าถึงความเงียบไม่เพียงแต่อยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการละออกจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือเงียบๆ คนเดียวก็ตามที การเขียนหนังสือ หรือแม้แต่การใช้ประสาทสัมผัสทางตา มีการศึกษาเกี่ยวกับการทดลองทำวิปัสสนา พบว่าช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสัมผัสของร่างกายในด้านอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านความคิด การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส และโดยเฉพาะด้านอารมณ์ ที่ช่วยทำให้จิตใจอ่อนโยน ลดอารมณ์โกรธหรือโมโหร้ายลงได้ รวมถึงทำให้ผิวพรรณอ่อนเยาว์ ผ่องใส สุขภาพแข็งแรง นอกจากความเงียบจะช่วยทำให้หูได้หยุดพักบ้างแล้ว ยังช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบทางด้านสุขภาพอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดระดับความดันเลือด ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ควบคุมการเกิดฮอร์โมนที่ดีต่อสุขภาพ และทำให้ระบบการไหลเวียนหรือการทำงานของฮอร์โมนภายในร่างกายดีขึ้น รวมถึงป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้อีกด้วย ที่มา: (honestdocs.co), (medicaldaily.com), (organicbook.com), (pharmacy.mahidol.ac.th), (psychcentral.com), (psychologytoday.com)