‘วะบิ-ซะบิ’ (Wabi-Sabi) มาจากการรวมระหว่างสองคำ ได้แก่ คำว่า วะบิ (Wabi) ที่แปลว่าความเรียบง่าย ความสงบเงียบ และ ซะบิ (Sabi) ที่หมายถึง ความงามที่ทรงคุณค่าตามกาลเวลา อันนำมาซึ่งความไม่สมบูรณ์ได้ แนวคิดวะบิ-ซะบิ จึงเป็นการทำความเข้าใจและยอมรับในความจริงแท้ ตามวัฏจักรธรรมชาติของการเกิดและดับของสรรพสิ่ง เป็นปรัชญาที่สอนให้เห็นถึงความงดงามในความไม่สมบูรณ์ อันมีรากความเข้าใจในพุทธศาสนาแบบเซน ที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น สวนหินในสไตล์ญี่ปุ่น ความงามในความเรียบง่ายของก้อนหินที่เว้าแหว่ง กับเส้นสายบนผืนทรายที่จางหายไปตามกาลเวลา หรือเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องดินเผาแบบคินสึงิ (Kintsugi) ที่สวยงามแม้จะยังคงรอยตำหนิเอาไว้ เฉกเช่นเดียวกับช่วงชีวิตของเรา แม้จะเกิดความเว้าแหว่งไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็นำมาซึ่งความงดงาม ครั้งนี้จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแนวคิดแบบ วะบิ-ซะบิ กันให้มากขึ้น ผ่านสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นได้ในพิธีชงชาแบบญี่ปุ่น ที่หลายคนอาจไม่เคยฉุกคิด พร้อมข้อคิดแบบวะบิ-ซะบิ ที่น่าสนใจจากหลายบุคคลทั่วโลก ความงามของถ้วยชาที่ไม่สมบูรณ์ ถ้วยชาที่บิดเบี้ยว มีรอยร้าว หรือร่องรอยที่แสดงถึงความไม่สมบูรณ์ ย้ำเตือนเราว่า ไม่มีอะไรในชีวิตที่สมบูรณ์แบบ “ถ้วยชาที่มีค่ามากที่สุดสำหรับพิธีชงชาจะมีรูปทรงที่ไม่เป็นปกตินัก บางถ้วยมีแต้มสีทองตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เน้นให้เห็นถึงร่องรอยความเสียหายที่อาจเกิดจากเจ้าของเก่า มากกว่าที่จะแต้มลงไปเพื่อทำการปกปิด* ความไม่สมมาตรและความไม่ปกติของถ้วยชาแสดงออกถึงความเป็นไปได้ของการเติบโต มากกว่าความสมบูรณ์แบบที่ปิดกั้นจินตนาการ” – โดนัลด์ คีน (Donald Keene) นักประวัติศาสตร์ นักเขียน นักแปลวรรณคดีญี่ปุ่น และศาสตราจารย์ชินโชกิตติคุณวรรณคดีญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย *FYI: เทคนิคการซ่อมแซมเครื่องดินเผาแบบคินสึงิ (kintsugi) เป็นการใช้ยางไม้เชื่อมส่วนที่แตกหักเข้าด้วยกัน ก่อนนำทองมาเขียนตกแต่งลงบนรอยเชื่อม ซึ่งยังคงเผยให้เห็นร่องรอยเดิมอยู่ ความงามของดอกไม้เพียงน้อยนิดในแจกันใบหนึ่ง ดอกไม้เพียงดอกเดียวในแจกัน เชื้อเชิญคุณให้ใช้เวลาพินิจพิเคราะห์ถึงความงามแม้เพียงน้อยนิดของมัน “ทั้งจักรวาลถูกบรรจุอยู่ในดอกไม้เพียงดอกเดียว” – โทชิโร่ คาวาเซะ (Toshiro Kawase) ปรมาจารย์ด้านการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ* “ถ้าชีวิตของคนๆ หนึ่งเรียบง่าย ความพึงพอใจต้องเกิด… ความเรียบง่ายสำคัญอย่างมากต่อความสุข การมีความปรารถนาเพียงน้อยนิด การพึงพอใจกับสิ่งที่มี ถือว่าสำคัญอย่างมาก ความพึงพอใจกับอาหารที่เพียงพอ เสื้อผ้า และที่พักอาศัยซึ่งปกป้องคุณจากอันตราย ท้ายที่สุดก็จะเกิดความสุขอย่างมากจากการละวางสิ่งเหล่านั้น ด้วยการหันมาบ่มเพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์จากการทำสมาธิ” – พระธรรมเทศนาจาก องค์ดาไลลามะ (Dalai Lama) *FYI: ‘อิเคบานะ’ (Ikebana) ศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น มาจากสองคำ ได้แก่ ‘อิเค’ ที่แปลว่ามีชีวิต และ ‘บานะ’ ที่แปลว่าดอกไม้ มีต้นกำเนิดจากการจัดดอกไม้ถวายพระ เน้นความเรียบง่าย นิยมใช้ดอกไม้จำนวนน้อย ซึ่งแตกต่างจากการจัดดอกไม้แบบตะวันตก อาจประกอบด้วยดอกไม้ กิ่งไม้ หรือหญ้าธรรมชาติ อย่างละนิดหน่อย โดยทั่วไปมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) อิเคบานะแบบดั้งเดิม คือ การจัดในแนวตั้ง สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ 2) อิเคบานะแบบสมัยใหม่ เรียกว่า ‘โมริบานะ’ เริ่มมีอิสระมากขึ้น เป็นการย่อส่วนของภูมิทัศน์ให้มาอยู่ในแจกัน และ 3) อิเคบานะขนาดเล็ก เน้นความเรียบง่ายมากที่สุด นิยมใช้ในพิธีชงชา ความงามของรอยฝีแปรงที่ว่างเปล่า ภาพโดยศิลปิน Sumi-E รอยฝีแปรงที่จางหายในงานจิตรกรรมม้วน* ความไม่สมบูรณ์ที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับจินตนาการของคนที่ได้เพ่งมอง “พื้นที่สีขาวสามารถสวยงามได้อย่างลึกซึ้ง เต็มไปด้วยปริศนาและความว่างเปล่า ซึ่งย้ำเตือนเราถึงศักยภาพที่ไม่สิ้นสุดที่สถิตอยู่ภายในธรรมชาติ และภายในตัวตนของเรา” – วิคตอเรีย สการ์เลทท์ (Victoria Scarlett) ผู้อำนวยการศูนย์ศาสนศิลป์ (Center for Sacred Art) ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา *FYI: ในเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะจีน เกาหลี และญี่ปุ่น มักนิยมงานจิตรกรรมสีน้ำที่เขียนด้วยหมึกสีเดียวอย่างสีดำหรือสีน้ำตาล มักเรียกกันว่าจิตรกรรมแปรง (Brush Painting) หรือจิตรกรรมม้วน (Scroll Painting) โดยราวศตวรรษที่ 12 พระญี่ปุ่นได้นำเอาเทคนิคการเว้นพื้นที่สีขาวเข้ามาผสมผสาน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนกลับมาด้วย สะท้อนแนวคิดผสมผสานของลัทธิเต๋า โดยเรียกเทคนิคนี้ในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘Yohaku no bi’ และได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวของงานศิลปะญี่ปุ่นในเวลาต่อมา และยังสามารถพบได้ในงานศิลป์ประเภทอื่น เช่น การเขียนอักษรวิจิตร (Calligraphy) การออกแบบสวนญี่ปุ่น ไปจนถึงการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ (Ikebana) ความงามของช้อนไม้ที่แสนจะเรียบง่ายธรรมดา ช้อนตักมัทฉะ* ที่ทำจากวัสดุที่เรียบง่ายอย่างไม้ไผ่ ย้ำเตือนเราว่า จงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าช้อนอื่นจะทำขึ้นจากวัสดุใดที่เลิศหรูกว่า แต่ช้อนตักที่ทำจากไม้ไผ่ชิ้นนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมันได้อย่างสวยงาม “บุตรที่รักของข้า ถ้าเจ้าปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากวัฏจักรแห่งการเกิดและการตาย จงละทิ้งยาพิษแห่งอิฏฐารมณ์ แต่จงดื่มน้ำทิพย์แห่งขันติ การประพฤติตรง ความเมตตา และความจริง” – จาณักยะ (Chanakya) ครู นักปรัชญาของอินเดีย และพระอาจารย์ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของกษัตริย์อินเดีย *FYI: ช้อนตักมัทฉะ มีชื่อเรียกในภาษญี่ปุ่นว่า ‘ฉะชะขุ’ (Chashaku) ในสมัยก่อนคนญี่ปุ่นใช้ช้อนตักชาที่ทำขึ้นจากงาช้าง ต่อมาราวศตวรรษที่ 15 ‘มุราตะ จุโค’ (Murata Juko) ผู้ที่พัฒนาพิธีชงชาแบบเซนขึ้นมาเป็นคนแรก ได้เลือกใช้ช้อนตักมัทฉะที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่แทนงาช้าง เนื่องจากต้องการให้พิธีชงชามีพื้นฐานแนวคิดศาสนาพุทธแบบเซน ซึ่งเน้นความเรียบง่าย มากกว่าการใช้ของหรูหราราคาแพง และพิธีชงชาก็ได้รับการพัฒนาต่อจนมีรูปแบบที่งดงามอย่างในปัจจุบัน โดยพระ ‘เซนโนะ ริคิว’ ซึ่งยังคงยืนหยัดปรัชญาแบบเซน บนพื้นฐานหัวใจสำคัญ 4 ประการ ที่ว่าด้วยเรื่องของความกลมกลืนกับธรรมชาติ ความเคารพกัน ความบริสุทธิ์ และความสงบ ความงามรอยคราบที่ฝังแน่นบนกาต้มน้ำ คราบที่ปรากฏบนกาต้มน้ำแบบผิวสัมฤทธิ์ที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน แสดงถึงนัยว่าตัวเราเองก็เช่นกันที่ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป “เรารักในสิ่งที่แสดงถึงร่องรอยของสิ่งสกปรก เขม่าดำ และความผุกร่อน และเราก็รักในสีสันเหล่านั้นที่หวนให้ระลึกถึงอดีตที่สร้างมันขึ้นมา” – ทานิซากิ จุนอิจิโร (Tanizaki Junichiro) นักเขียนวรรณคดีญี่ปุ่นสมัยใหม่ และนักเขียนนวนิยายญี่ปุ่นยอดนิยม FYI: ต้นกำเนิดของแนวคิด ‘วะบิ-ซะบิ’ ในญี่ปุ่น เริ่มมาจากราวศตวรรษที่ 15 โดยเฉพาะกลุ่มราชวงศ์และผู้มีตำแหน่งสูงในวงราชการได้รับวัฒนธรรมการดื่มชามาจากจีน และมักดื่มชาชมพระจันทร์ด้วยชุดถ้วยชาสุดหรูในห้องที่มีการตกแต่งอย่างฟุ่มเฟือย ทว่าต่อมาท่าน ‘มุราตะ จุโค’ ได้พัฒนาพิธีชงชาขึ้นบนแนวคิดพุทธศาสนาแบบเซน ที่สอนให้คนพิจารณาความเป็นวะบิ-ซะบิผ่านพิธีชงชา จากที่เคยใช้ห้องหรูหราหรือข้าวของฟุ่มเฟือย ท่านกลับนำเสนอความสวยงามของความเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรือนชงชาที่มีขนาดเล็ก สร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่คงทนถาวร และเสื่อมสลายได้ง่าย และขนาดของห้องที่เข้าไปได้ครั้งละไม่เกิน 4 – 5 คน ซึ่งมีขนาดเท่ากับเสื่อทาทามิเพียงแค่ 2 ผืนเท่านั้น รวมถึงประตูทางเข้าห้องที่สูงเพียงแค่ 80 เซนติเมตร จึงทำให้ต้องคลานด้วยมือและเข่าเข้าไปด้วยความสงบ และอุปกรณ์ชงชาที่เน้นความเรียบง่าย อย่างถ้วยชาที่ปั้นจากดิน แทนเครื่องเคลือบหรูหรา ไม้ตักชาที่ทำจากงาช้างก็เปลี่ยนเป็นวัสดุจากไม้ไผ่ รวมถึงการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ ที่เน้นความเรียบง่าย ไม่หวือหวา ทว่าสวยงามตามอย่างธรรมชาติ ที่มา: (arenaflowers.co.in), (facebook.com/kyobashi.tea), (kiji.life), (modchang.namjai.cc), (seattlejapanesegarden.org), นิตยสารดิฉัน คอลัมน์บันทึกผ่านกาลเวลา: รู้แจ้งด้วยชาเขียว/ เขียนโดย อนิจ, หนังสือ Wabisabi: The Art of Everyday Life (2006) by Diane Durston